[x] ปิดหน้าต่างนี้
 
 
 

ปัจจุบันการศึกษาไทยค่อนข้างมีความหลากหลาย

ทั้งในระบบ นอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย การศึกษาสายอาชีพ หรือแม้แต่การศึกษาทางเลือกที่ครอบครัวและผู้เรียนสามารถเลือกเรียนได้ด้วย ตัวเอง เป็นต้น

ขณะที่ภาครัฐเองก็ทุ่มเม็ดเงินในแต่ละปีจำนวนมหาศาลเพื่อสนับสนุนการ ศึกษามากกว่าประเทศมหาอำนาจยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง ออสเตรเลีย หรือแม้แต่ประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกันอย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

แต่น่าแปลกที่คุณภาพการศึกษาไทยกลับย่ำแย่ไม่คุ้มกับงบประมาณที่ลงทุนไปแม้แต่น้อย

เพราะสารพัดปัญหาที่เกิดขึ้น ยิ่งนับวันยิ่งเหมือนจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ทั้งปัญหาเด็กอ่านหนังสือไม่ออก เด็กไทยขาดวุฒิภาวะในการตัดสินใจ ส่งผลให้เกิดปัญหาสังคมเรื่อยไปจนถึงเด็กจบระดับอุดมศึกษาทำงานไม่เป็น ซ้ำร้ายไปกว่านั้นยังพบ ปัญหาเด็กออกกลางคัน และผู้ขาดโอกาสเรียนในระบบอีกเป็นจำนวนมาก

“แม้ปัจจุบันประเทศไทยจะมีการจัดการศึกษาในรูปแบบที่หลากหลาย แต่ในความเป็นจริงแล้วประชากรไทยอายุระหว่าง 13–80 ปี ยังขาดโอกาสทางการเรียนรู้มากถึงร้อยละ 35 ของประชากรประเทศ ในขณะที่ประชากรวัยแรงงาน อายุ 15–59 ปี ส่วนใหญ่ยังมีการศึกษาอยู่ในระดับประถมศึกษา หรือต่ำกว่า คุณภาพคนโดยรวมยังไม่สอดคล้องกับทิศทางและความต้องการของประเทศ การนำองค์ความรู้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์และผลิตภาพของแรงงานจึงอยู่ในระดับต่ำ ที่สำคัญระบบการศึกษาขาดการเชื่อมโยงกับชีวิตจริงยิ่งทำให้ประชากรในกลุ่ม นี้ขาดโอกาสที่จะเข้าถึงการเรียน” นายประเสริฐ บุญเรือง เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย หรือ กศน. สะท้อนภาพความเป็นจริงของผลผลิตจากการจัดการศึกษาไทยในปัจจุบัน

จากเหตุผลดังกล่าวจึงเป็นที่มาของ โครงการเทียบระดับการศึกษาในระดับสูงสุดการศึกษาขั้นพื้นฐาน เนื่องจากสำนักงาน กศน.ต้องเร่งยกระดับการศึกษาประชาชนให้จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่พลาดโอกาสทางการศึกษาได้มีโอกาสเรียนอีกครั้งอย่าง เสมอภาคและเท่าเทียมกันผ่านระบบการศึกษารูปแบบใหม่ โดยการสร้างกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่บูรณาการระหว่างสมรรถนะด้านอาชีพ ที่ผู้เรียนสร้างสมประสบการณ์ในการประกอบอาชีพที่ทำอยู่ในชีวิตประจำวันกับ สาระการเรียนรู้และองค์ความรู้ใหม่ตามแนวคิดของเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ตาม ที่กำหนดไว้ในหลักสูตร

ทั้งจะมีการเทียบโอนความรู้ และกระบวนการเรียนรู้ซึ่งผ่านการประเมินที่มีมาตรฐานทางวิชาการจาก สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ซึ่งผู้เรียนและสังคมมั่นใจได้ว่าเมื่อเรียนครบตามหลักสูตรแล้ว ผู้เรียนจะได้รับวุฒิ ม.ปลายที่มีศักดิ์และสิทธิ์เท่าเทียมกับผู้ที่สำเร็จการศึกษา ม.ปลายทั้งในและนอกระบบโรงเรียน

ซึ่งสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพมาตรฐานของผู้ที่เข้ามาเรียนในโครงการ เทียบระดับการศึกษาฯ ได้อย่างชัดเจนก็คือ จากข้อมูลมีผู้สมัครเข้าเรียนในปีงบประมาณ 2556 เฉียดแสนคน แต่มีผู้ที่สำเร็จการศึกษาออกไปเพียง 7,301 คน หรือคิดเป็นตัวเลขไม่ถึงร้อยละ 10
จากการที่ ทีมข่าวการศึกษา ได้มีโอกาสลงพื้นที่ไปยังจังหวัดต่างๆ ร่วมกับคณะเพื่อติดตามการดำเนินโครงการนี้ รวมถึงการได้พูดคุยกับนักศึกษา กศน.ทำให้พบว่าผู้ที่ขาดโอกาสทางการศึกษาในบ้านเรายังมีอีกมาก และโครงการเทียบระดับการศึกษาฯก็สามารถสนองตอบต่อความต้องการของผู้ที่พลาด โอกาสในการเรียนในระบบได้เป็นอย่างดี

สักการะ บุญเกิด

นายสักการะ บุญเกิด อายุ 42 ปี นักศึกษา กศน.อำเภอตะกั่วป่า จ.พังงา ซึ่งสำเร็จการศึกษาชั้น ม.ปลาย โครงการเทียบระดับการศึกษาฯ บอกว่า “เคยเรียนชั้น ม.3 ในระบบแต่เรียนไม่จบ เพราะฐานะทางบ้านค่อนข้างขัดสน จึงไปเรียนหลักสูตรระยะสั้นวิชาช่างอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อเรียนจบจึงมาเปิดร้านซ่อมคอมพิวเตอร์ แต่ก็รู้สึกคาใจว่าทำไมตัวเองเรียนไม่จบ ม.3 เมื่อเห็น กศน.ตะกั่วป่าเปิดสอนโครงการดังกล่าว ผมจึงไม่รอช้าที่จะไปสมัครเรียนในรุ่นแรกทันที ดีใจมากที่เรียนจบทั้ง ม.3 และ ม.6 วิชาที่เรียนก็หลากหลายเป็นประโยชน์นำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ ถ้าถามว่าเรียนยากหรือไม่ผมก็ต้องบอกว่ายาก เพื่อนๆหลายคนคิดว่าเข้ามาเรียนกับ กศน.แล้วคงจบง่ายๆ แต่พอเอาเข้าจริงๆเรียนเข้มและยาก ทำให้รุ่นผมที่สมัครเรียนหลายร้อยคนจบไม่ถึง 10 คน แต่ก็ถือว่าเป็นจุดแข็งของโครงการฯ เพราะหากให้จบกันง่ายๆ เหมือนการเอามาแจก ไม่มีคุณภาพก็ไม่รู้จะมาเรียนไปทำไม”

จิรพันธ์ แข็งแรง

ขณะที่นักศึกษาขาพิการแต่หัวใจไม่พิการที่จะใฝ่เรียนรู้ นางจิรพันธ์ แข็งแรง อายุ 43 ปี นักศึกษา กศน. อำเภอเมืองมุกดาหาร จ.มุกดาหาร เล่าว่า “ถึงขาจะพิการแต่ก็ทำงานหาเลี้ยงครอบครัว แม้จะมีภาระหน้าที่ค่อนข้างหนัก อีกทั้ง ดิฉันได้รับการคัดเลือกจากสมาชิกชมรมคนห่วงใยคนพิการจังหวัดมุกดาหาร ให้เป็นประธานชมรมฯ จึงคิดว่าการจบแค่ชั้น ม.3 จะไปดูแลสมาชิกได้อย่างไร จึงคิดไปเรียนหาความรู้เพิ่มเติม หลังจากที่ทราบว่า กศน.เมืองมุกดาหารเปิดโครงการเทียบระดับการศึกษาฯ จึงตัดสินใจไปสมัครเรียน ปัจจุบันดิฉันมีความรู้จนสามารถเขียนโครงการเพื่อขอทุน ของบประมาณมาสนับสนุนชมรมฯได้แล้ว แม้จะพิการแต่ก็ไม่เคยท้อถอยและไม่คิดว่าความพิการจะเป็นอุปสรรคต่อการเรียน หลังจากนี้ตั้งใจจะไปเรียนต่อที่วิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร ขอขอบคุณ กศน.ที่จัดให้มีโครงการนี้ ไม่เช่นนั้นคนที่ขาดโอกาสทางการศึกษาอย่างดิฉันก็คงไม่มีโอกาสที่จะได้เรียน ต่อจนจบชั้น ม.ปลาย”

แต่แน่นอนในโลกแห่งความเป็นจริงของการทำงานย่อมไม่มีโครงการใดสมบูรณ์แบบ เต็มร้อย โดยเฉพาะช่วงระยะการเริ่มต้น เช่นเดียวกับโครงการเทียบระดับการศึกษาฯ ที่เพิ่งเริ่มขึ้นในปีงบประมาณ 2556 หากเทียบเป็นอายุคนก็เพิ่งแค่ 1 ขวบ ยังอยู่ในช่วงตั้งไข่ย่อมมีหกล้มบ้างเพื่อเรียนรู้ถึงการทรงตัว และพร้อมที่จะก้าวเดิน

ซึ่งเปรียบได้กับจุดบกพร่องของโครงการเทียบระดับการศึกษาฯ ที่ยังคงมีอยู่บ้างทั้งเรื่องอาจารย์ที่ปรึกษา สื่อการเรียนการสอน ข้อสอบที่ใช้ในการประเมินซึ่งถูกมองว่าออกเกินเนื้อหาที่เรียน ซึ่งทาง กศน.เตรียมปรับแก้ในรุ่นต่อไปแล้ว

ทีมการศึกษา มองว่า ในภาพรวมแล้วโครงการนี้ คือการให้โอกาสในการเรียนรู้กับผู้ที่เคยพลาดโอกาส เพื่อให้เขาเหล่านี้สามารถต่อยอดคุณวุฒิการศึกษา และสำเร็จการศึกษาอย่างเต็มภาคภูมิทั้งศักดิ์และสิทธิ์ที่เท่าเทียมกัน

เป็นการติดอาวุธทางปัญญา เพื่อเติมเต็มคุณภาพคนในสังคมอย่างแท้จริง.

ทีมการศึกษา




เข้าชม : 233
 
 
ติดต่อเรา

นางสาวสายทิพย์    อุดี  ครู กศน.ตำบลห้วยน้ำขาว โทร ๐๘๐-๗๓๑๑๘๒๕

ศกร.ระดับตำบลห้วยน้ำขาว ม.๕ ตำบลห้วยน้ำขาว อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่
Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05HD  Update by   นายบุญมา มาดี