เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้สร้างความโกลาหลวุ่นวายให้กับโลกอย่างหนักหน่วงทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม การเมือง รวมไปถึงวิถีชีวิตของผู้คน ผู้เขียนได้เคยอธิบายผลกระทบด้านเศรษฐกิจโดยตรงไปแล้วในบทความ “ไวรัสโคโรนา: ฝันร้ายของเศรษฐกิจโลก?” ตั้งแต่เมื่อครั้งสถานการณ์ภายนอกประเทศจีนยังไม่รุนแรงนักและอัตราการติดเชื้อชะลอลงแล้ว อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนยอมรับโดยดุษณีว่าการแพร่ระบาดของไวรัสตัวนี้รุนแรง รวดเร็ว และขยายวงกว้างกว่าที่เคยประเมินไว้จริง ๆ จึงต้องขอให้กำลังใจอีกครั้งกับบุคลากรทางสาธารณสุขแนวหน้าทุกท่าน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ภาครัฐและภาคเอกชนทั่วโลกที่พยายามเยียวยาผลกระทบอันใหญ่หลวงนี้ ผู้เขียนได้แต่หวังว่าฝันร้ายครั้งนี้จะจบลงด้วยความร่วมแรงร่วมใจของทุกท่านในการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) โดยเฉพาะการอยู่บ้านเพื่อหยุดการแพร่และรับเชื้อ และการได้รับประโยชน์จากมาตรการเยียวยาของภาครัฐอย่างตรงจุดในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ตลอดจนความสำเร็จจากการคิดค้นวิธีการรักษาและวัคซีนป้องกันไวรัสโดยเร็วที่สุด
แต่ท่านผู้อ่านอย่าเพิ่งได้สิ้นหวังไปครับ เพราะทุกวิกฤตมีเกิดแล้วย่อมมีดับเป็นธรรมดา การแพร่ระบาดครั้งนี้ก็เช่นกัน คำถามสำคัญที่ตามมาคือ เมื่อวิกฤตครั้งนี้สิ้นสุดลงแล้ว โลกใบนี้จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร บางขุนพรหมชวนคิดจึงขอชวนท่านผู้อ่านมองไปข้างหน้าและคิดตามกันในแง่มุมต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ครับ
"การทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (deglobalization) จะมีความเข้มข้นมากขึ้น
และทำให้ห่วงโซ่อุปทานโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว"
1. การทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (deglobalization) จะมีความเข้มข้นมากขึ้น และทำให้ห่วงโซ่อุปทานโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว: ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาก่อนเกิดวิกฤตครั้งนี้ เราได้เห็นหลายประเทศใช้นโยบายแบบเน้นตนเอง (inward-looking policy) หรือปกป้องทางการค้า (protectionism) อย่างชัดเจนกันอยู่แล้ว โดยเฉพาะจากสงครามการค้าที่ปะทุขึ้นโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ที่ส่งเสริมให้บริษัทสัญชาติอเมริกันกลับมาผลิตในประเทศมากขึ้นและกีดกันการค้าจากต่างประเทศ ประเด็นนี้กลับมาชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีกด้วยวิกฤตโควิด-19 ที่กำลังตอกย้ำความเชื่อของฝ่ายขวาจัดและผู้ไม่สนับสนุนโลกาภิวัตน์ว่า การพึ่งพิงระบบการผลิตระหว่างประเทศมากเกินไปเป็นเรื่องอันตราย ซึ่งจะเร่งกระบวนการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานโลกที่มีอยู่แล้วให้ยิ่งรวดเร็วมากขึ้น กล่าวคือ ประเทศต่าง ๆ จะหันมาพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานในประเทศตนเองเพิ่มขึ้นอีก และกระจายความเสี่ยงด้านการผลิตและขายสินค้าโดยไม่พึ่งพาแต่ประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น เพราะเห็นผลกระทบชัดเจนจากขั้นตอนการผลิตหรือตลาดขายสินค้าเมื่อยามที่ต้องปิดตัวลง ซึ่งเป็นผลจากมาตรการต่าง ๆ อาทิ การปิดเมืองหรือประเทศเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด นอกจากนี้ รัฐบาลประเทศต่าง ๆ อาจเปลี่ยนวิกฤตครั้งนี้ให้เป็น “โอกาส” ในการคิดทบทวนอย่างรอบคอบว่านโยบายเศรษฐกิจของประเทศจะเดินไปในทิศทางใด โดยจะพยายามกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจโดยไม่พึ่งพารายได้ทางใดทางหนึ่งจนเกินไป อาทิ ไม่พึ่งพาแต่การส่งออกหรือการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่อาศัยการบริโภคและการลงทุนในประเทศเป็นเครื่องจักรสำคัญด้วย
"ปัญหาเชิงโครงสร้างโดยเฉพาะด้านสาธารณสุข
จะได้รับการแก้ไขให้ทั่วถึงและเสมอภาคมากขึ้น"
2. ปัญหาเชิงโครงสร้างโดยเฉพาะด้านสาธารณสุข จะได้รับการแก้ไขให้ทั่วถึงและเสมอภาคมากขึ้น: วิกฤตโควิด-19 สร้างแรงกดดันให้รัฐบาลหลายประเทศหันมาใส่ใจพื้นฐานด้านสาธารณสุขของประชาชนและไม่ปล่อยให้กลไกตลาดเป็นตัวจัดการอย่างที่เคยเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐฯ ที่ระบบสาธารณสุขไม่มีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า วิกฤตครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าการที่บุคคลจะเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้หรือไม่นั้นไม่ควรเป็นเรื่องของปัจเจกชนอีกต่อไป เพราะคนคนหนึ่งที่จริง ๆ แล้วเป็นพาหะของโรคอยู่ แต่ไม่สามารถไปใช้บริการตรวจไวรัสได้เพราะจ่ายเงินค่าตรวจไม่ไหวทั้ง ๆ ที่อยากไป และคงใช้ชีวิตแบบเดิมตามปกติ ทำให้แพร่โรคระบาดต่อไปให้ผู้อื่นโดยไม่รู้ตัวได้ จนในที่สุดการควบคุมโรคในภาพรวมจะทำได้ยากลำบาก และเป็นเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้สหรัฐฯ ต้องเผชิญกับวิกฤตการแพร่ระบาดหนักหนากว่าประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ ดังที่ปรากฏในปัจจุบันตามยอดผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแซงหน้าอิตาลีไปแล้ว ดังนั้น หลังผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ เราอาจได้เห็นบทบาทที่เพิ่มขึ้นของระบบรัฐสวัสดิการในแต่ละประเทศก็เป็นได้
"สังคมจะก้าวเข้าสู่ระบบดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ
เพื่อให้ทันพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป"
3. สังคมจะก้าวเข้าสู่ระบบดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อให้ทันพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป: ทุกวิกฤตย่อมทิ้งร่องรอย (legacy) ไว้เสมอ ย้อนกลับไปในสมัยการระบาดของโรคซาร์สในปี 2545 ก็สร้างจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับการใช้เทคโนโลยีออนไลน์อย่างอีคอมเมิร์ซในจีนให้มาเป็นที่นิยมในหมู่ประชาชนอย่างสูง โดยเฉพาะอาลีบาบาและเจดีดอทคอม เพราะผู้คนหลีกเลี่ยงการติดเชื้อจากพื้นที่สาธารณะและหันมาสั่งซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น มาถึงวิกฤตครั้งนี้ก็จะทิ้งร่องรอยไว้เช่นกัน โดยเป็นการตอกย้ำให้ร้านค้าและห้างสรรพสินค้าแบบดั้งเดิมต้องเร่งพัฒนาอย่างก้าวกระโดดเพื่อช่วงชิงตลาดจากการค้าขายแบบออนไลน์มากขึ้นอีก รวมทั้งเทคโนโลยีดิจิทัลหลายประเภทที่มีมานานแล้วแต่ยังไม่มีคนใช้กันมากนัก วิกฤตครั้งนี้กลับบังคับให้คนต้องหันมาใช้เทคโนโลยีเหล่านี้อย่างจริงจัง และสร้างโอกาสต่อยอดให้มีผู้เล่นในตลาดมากยิ่งขึ้น อาทิ แพลตฟอร์มที่ช่วยสื่อสารทางไกล จัดประชุม หรืออีเวนท์ ซึ่งผู้บริโภคจะเกิดความคุ้นเคยและเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาใช้เทคโนโลยีอย่างถาวร นอกจากนี้ แม้กระทั่งสถาบันการศึกษาก็ต้องพัฒนาไปใช้วิธีการสอนแบบออนไลน์ทดแทนทั้งหมดในช่วงวิกฤต ซึ่งอาจพลิกโฉมระบบการศึกษาโลกไปโดยสิ้นเชิงหลังผ่านพ้นวิกฤตแล้ว และสุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด ผู้คนอาจจะกลัวการใช้เงินสดหรือธนบัตร เพราะกระดาษอาจเป็นพาหะของเชื้อโรคได้แม้ผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปแล้ว และจะเริ่มคุ้นชินกับการรักษาสุขอนามัยอย่างเข้มงวดไปจนถึงการใช้ชีวิตประจำวันที่คำนึงถึงความปลอดภัยต่อสุขภาพ ด้วยปัจจัยเหล่านี้จะทำให้ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นได้ครับ
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
เข้าชม : 156
|