[x] ปิดหน้าต่างนี้
 


 

ตำบลเขาคราม อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่

ประวัติตำบลเขาคราม

        ตำบลเขาครามตั้งขึ้นเนื่องจากกำนันคนแรกเป็นคน บ้านเขาคราม (เขาไม้แก้ว) เลยใช้ชื่อบ้านเขาครามเป็นชื่อตำบลเขาครามถ้านับถึงปัจจุบันตำบลเขาครามมีกำนันมาแล้ว 8 คน เมื่อก่อนตำบลมี 7 หมู่บ้านคือ ม.1 บ้านทุ่ง(หัวหมุน) ม.2 หนองจิก ม.3ไหนหนัง ม.4 เขาคราม ม.5 เขาขาว ม.6 บ้านเหนอ ม.7 ทะคลอง (เขาค้อม) สำหรับ ม.3 ไหนหนังที่มีแนวเขตติดกับทะเลเป็นบ้านที่เก่าแก่ที่สุดประมาณ 500 กว่าปีมาแล้วโดยมีแขกมลายูเป็นผู้ก่อตั้งบ้านชื่อ สุไหกาหนังแปลว่าเจริญรุ่งเรืองมี โต๊ะศรีตุงกา เป็นผู้นำหมู่บ้านคนแรกเมื่อท่านเสียชีวิต โต๊ะหมื่นรายาเป็นผู้ปกครองแทนขึ้นกับ เมืองศรีวิชัย (นครศรีธรรมราช)มีบ้านสุไหกาหนังทำการค้าขายกับชาวจีน โดยชาวจีนจะนำเรือสินค้ามาจอดถึงกลางบ้านตามคลองหลังโรงเรียนบ้านไหนหนังในปัจจุบัน ชาวสูไหกาหนังเรียกว่า ท่าเรือหูหนานหลังจากนั้นชาวจีนเริ่มมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านหนองจิกเป็นที่ทำบุญเรียนหนังสือสำหรับคนอิสลามในตำบลเขาคราม ถ้ามีคนเสียชีวิต จะต้องนำศพไปฝังที่ที่บ้าน สูไหกา หรือเพี้ยนมาถึงปัจจุบัน คือบ้านไหนหนัง

        การตั้งบ้านไหนหนัง (สุไหกาหนัง)ในเขตตำบลเขาคราม ซึ่งเป็นบ้านแรกของตำบล เขาคราม ประมาณ พ.ศ. 2000 ซึ่งตั้งหลักจากเมืองศรีวิชัย นครศรีธรรมราช ประมาณ 500 ปี เพราะเมืองศรีวิชัย (นครศรีธรรมราช) มีเจ้าเมืองปกครองประมาณ 1000 ปี มาแล้ว(สุไหกาหนัง) มีการติดต่อกันได้ 2 ทาง คือทางทะเล และทางบก โดยเดินด้วยทางเท้าและมีรถบ้างในสมัยต่อมา ทางบกก่อนเข้าเขตบ้านไหนหนัง มีศาลเจ้าที่คนเดินทางเข้ามาต้องเซ่นไหว้ทุกครั้งมิฉะนั้นมีอันเป็นไป คือศาลโต๊ะพ่อตา เมื่อก่อนคนในตำบลเขาคราม ถ้าจะเรียนหนังสือต้องไปเรียนที่หนองจิกม.2 เพราะมีโรงธรรมที่วัดหนองจิก ก่อนจะมีโรงเรียนบ้านทุ่ง โรงเรียนบ้านไหนหนัง ทุ่งต้นปีก และโรงเรียนเขาคราม

ประวัติหมู่บ้านแต่ละหมู่บ้านในตำบลเขาคราม

หมู่ที่ 1 บ้านทุ่ง

       เดิมหมู่ที่1เรียกว่าบ้านหัวหนุนหมายความถึงเป็นหมู่บ้านที่มีถนนสายหลักเชื่อมไปยังสถานที่ไกลๆ เช่น ในตัวเมืองกระบี่ หรือไปต่างจังหวัด (นครศรีธรรมราช) ศรีวิชัย เมื่อประชาชนต้องการที่จะเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ จะต้องเดินทางจากหมู่บ้านที่อยู่อาศัยมาที่หมู่ที่ 1 ซึ่งต่อมาเป็นการพัฒนาในหมู่ที่ 1 มีการถางป่าออกเป็นลานกว้างใหญ่ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านเรียกว่า ท่อง หรือทุ่งเมื่อมีการจัดตั้งหมู่บ้านก็ให้ชื่อว่า บ้านทุ่ง

หมู่ที่ 2 บ้านหนองจิก

        ในสมัยก่อนในพื้นที่ของหมู่บ้านมีหนองน้ำ และป่าพรุมากมาย และมีพืชน้ำรวมทั้งต้นจิก ประชาชนเดินทางสัญจรผ่านหมู่บ้านก็พูดกันว่าหนองจิกเมื่อมีประชาชนเข้ามาไปอาศัยทำมาหากินในพื้นที่มากขึ้น และมีการจัดตั้งหมู่บ้านก็เลยเรียก หมู่บ้านหนองจิก

หมู่ที่ 3 บ้านไหนหนัง

        หมู่บ้านสูไหกาหนัง หมู่ที่ 3 เป็นหมู่บ้านที่เก่าแก่ที่สุดประมาณ 500 กว่าปีมาแล้ว โดยมีแขกมาลายูเป็นผู้ตั้งหมู่บ้านชื่อหมู่บ้านว่า สูไหกาหนังซึ่งแปลว่า เจริญรุ่งเรือง มีโต๊ะศรีตุงกาเป็นผู้นำหมู่บ้าน เมื่อโต๊ะตุงกาเสียชีวิต โต๊ะหมื่นรายา เป็นผู้ปกครองแทนโดยขึ้นกับเมืองศรีวิชัย (นครศรีธรรมราช) ซึ่งเป็นเมืองเก่าแก่ที่มีผู้ปกครองมากกว่า 1,000 ปี

        การติดต่อกันค้าขายกับภายนอกของประชาชนบ้าสูไหกาหนังทำได้ 2 ทาง คือ ทางทะเล และทางบก ทางบกทำได้โดยการเดินเท้า ผู้บอกเล่าว่า ทางบกก่อนเข้าเขตบ้านไหนหนัง มีศาลเจ้าที่คนเดินทางเข้ามาต้องเซ่นไหว้ทุกครั้ง มิฉะนั้นจะมีอันเป็นไป คือ โต๊ะพ่อตา ส่วนที่เขาค้อม ม.6ในปัจจุบัน มีโต๊ะเขาค้อม มีชาวบ้านตั้งหลัก(ตั้งศาล)ไว้สำหรับเซ่นไหว้ ในส่วนที่มีแนวการติดกับทะเลประชาชนบ้านสูไหกาหนังทำการค้าขายกับชาวจีน โดยชาวจีนจะนำเรือสินค้ามาจอดถึงกลางหมู่บ้านตามคลองหลังโรงเรียนบ้านไหนหนังในปัจจุบัน ซึ่งชาวสูไหกาหนัง เรียกว่า ท่าเรือหูหนาน

        ในหมู่บ้านสุไหกาหนังหมู่ที่ 3 มีสุสานกว้างใหญ่มาก และมีถึง 3 แห่ง โดยผู้ปกครองบ้านคนแรกคือ โต๊ะศรีตุงกา เมื่อสิ้นชีวิตได้ทำพิธีทางศาสนาอิสลามและฝังไว้ที่สุสานใหญ่ (แห่งแรก) ยังมีหลุมจนถึงทุกวันนี้และคนที่นับถือศาสนาอิสลามในตำบลเขาครามถ้าเสียชีวิต จะต้องนำศพไปฝังที่ ที่บ้าน สูไหกาหนัง ส่วนโต๊ะศรีรายา ฝังไว้ที่สุสานนาตก (แห่งที่ 2 )คือ สุสานเล็ก คนเรียกขานว่า เปรวนุ้ย ซึ่งแปลว่าเล็ก และหมู่ที่ 3 ไหนหนังยัง มีสุสานคนจีนมากมาย (แห่งที่ 3) และมีญาติชาวจีนมาสักการะทุกปี หลังจากนั้นชาวจีนก็เริ่มมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านหนองจิก หมูที่ 2 และขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นจนถึงปัจจุบัน

หมู่ที่ 4 บ้านเขาไม้แก้ว

        ตามประวัติความเป็นมาแต่เดิมนั้นในหมู่ที่ 4 เป็นพื้นที่ป่าเขา ได้มีประชาชน คนต่างถิ่นซึ่งมีอาชีพในด้านการหาของป่า ได้เดินทางเข้ามาเพื่อหาของป่าขาย เช่น พืชสมุนไพรต่างๆ ได้เข้าป่าไปพบกับต้นคราม (เป็นต้นไม้ชนิดหนึ่ง เปลือกใช้ในการย้อมผ้า) ขึ้นอยู่มากมายบนภูเขา จึงได้อพยพครอบครัวเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ขยายตัวเป็นชุมชนเรียกว่า บ้านเขาครามเนื่องจากในพื้นที่ของหมู่บ้านนั้น มีต้นครามซึ่งถือว่าเปรียบเสมือนกับแก้ว แหวน เงินทอง เมื่อมีการจัดตั้งหมู่บ้านก็ให้ ชื่อว่า บ้านเขาไม้แก้ว

หมู่ที่ 5 บ้านเขาขาว

        เนื่องจากพื้นที่ของหมู่บ้านมีภูเขาสูง ในภูเขามี พญางูขาวอาศัยอยู่ และเนินเขาสูง (ควน) เมื่อมองออกไปจะเห็นเป็นสีขาว ยิ่งในฤดูหนาวจะเห็นขาวโพลน เมื่อมีการจัดตั้งหมู่บ้านก็ให้ชื่อว่า บ้านเขาขาว ปัจจุบันก็มีให้เห็นเป็นประจำ

หมู่ที่ 6 บ้านเขาค้อม

        ในสมัยก่อนมี โต๊ะเขาค้อม มีชาวบ้านตั้งหลัก (ตั้งศาล) ไว้สำหรับเซ่นไหว้ ซึ่งชาวบ้านให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมากเพราะเชื่อว่ามีอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหารย์มากมาย เมื่อมีการจัดตั้งหมู่บ้าน เรียกว่า บ้านเขาค้อม

ผู้บอกเล่า

นายหมาด มุคุระ เกิด พ.ศ.2470 อายุ 74 ปี

ประวัติความเป็นมาของตำบลเขาครามและสภาพทั่วไปขององค์การบริหารส่วนตำบลเขาครามทางเศรษฐกิจ

ประวัติความเป็นมา

    ในปี พ.ศ. 2415 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าประกาศยกแขวงปกาไสขึ้นเป็นเมืองเรียกว่า เมืองกระบี่ โดยมีหลวงเทพเสนา เป็นเจ้าเมืองคนแรก และได้ยกฐานะเป็นอำเภอเมือง พ.ศ. 2456 เรียกว่าอำเภอปากน้ำ ต่อมาในปี พ.ศ. 2481 เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอเมืองกระบี่ มีขุนนุกนิกร เป็นนายอำเภอคนแรก

        ตำบลเขาครามไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าได้ก่อตั้งเมื่อไหร่ แต่ตามคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ที่ ยังมีชีวิตอยู่ว่า ตำบลเขาครามตั้งขึ้นมาจากกำนันคนแรกของตำบล เป็นคนบ้านเขาคราม

        ตำบลบ้านเขาครามแบ่งออกเป็นหมู่บ้านจำนวน 7 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 1 บ้านทุ่ง (หัวหนุน) หมู่ที่ 2 บ้านหนองจิก หมู่ที่ 3 บ้านไหนหนัง หมู่ที่ 4 บ้านเขาคราม หมู่ที่ 5 บ้านเขาขาว หมู่ที่ 6 บ้านเหนือ หมู่ที่ 7 บ้านทะคลอง ต่อมาได้มีการยุบรวมหมู่บ้านทั้ง 7 หมู่บ้าน เป็น 6 หมู่บ้านแล้วตั้งชื่อใหม่ ดังนี้

หมู่ที่1 บ้านทุ่ง

หมู่ที่2 บ้านหนองจิก

หมู่ที่3 บ้านไหนหนัง

หมู่ที่4 บ้านเขาคราม

หมู่ที่5 บ้านเขาขาว

หมู่ที่6 บ้านเขาค้อม

        ในระยะแรกตำบลเขาครามได้จัดตั้งเป็นสภาตำบล ตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 222/2499 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2499 และได้ยกฐานะเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล มีฐานะเป็นนิติบุคคล ตาพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล โดยอาศัยมาตรา 40 และมาตรา 95แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ลำดับที่ 2 ของอำเภอเมืองกระบี่ ประกาศ ณ วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2538 โดยกำหนดให้กำนันเป็นประธานกรรมการบริหารด้วยตำแหน่ง ผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้าน แพทย์ประจำตำบลเป็นสมาสิกโดยตำแหน่งและสมาชิกสภาฯเลือกตั้งมาจากประชาชนในหมู่บ้าน ๆ ละ 2 คน

        ต่อมาองค์การบริหารส่วนตำบลได้รับการเลือกตั้งสมาชิกสภาฯโดยตรงจากประชาชนในหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 2 คน ตาม พ.ร.บ. สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2542

สภาพทั่วไป

        อาณาเขต

                ทิศเหนือ จรดเขตองค์การบริหารส่วนตำบลคลองหิน

                ทิศใต้ จรดเขตองค์การบริหารส่วนตำบลทับปริก

                ทิศตะวันออก จรดเขตอบต. คลองหิน และอบต. ทับปริก

                ทิศตะวันตก จรดทะเลอันดามันจังหวัดพังงา

1. มีเนื้อที่ 31,255 ไร่ (50,008 ตารางกิโลเมตร)

2. ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มและเนินเขา

3. มีหมู่บ้านจำนวน 6 หมู่บ้าน อยู่ในเขตอบต. ทั้งหมด

4. มีประชากรทั้งสิ้น 8,757 คน แยกเป็นชาย 4,352 คน หญิง 4,375 คน มีความหนาแน่นเฉลี่ย 170 คน/ตารางกิโลเมตร

สภาพทางเศรษฐกิจ

อาชีพของประชากร

- ทำสวนยางพารา

- สวนปาล์มน้ำมัน

- สวนผลไม้

- การประมง

- รับจ้างทั่วไป

หน่วยธุรกิจในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล

- ธนาคาร - แห่ง

- โรงแรม - แห่ง

- ปั๊มน้ำมันและปั๊มแก๊ส 2 แห่ง

- โรงงานอุตสาหกรรม 2 แห่ง

สภาพทางสังคม

การศึกษา

            - โรงเรียนประถมศึกษา 5 แห่ง

            - โรงเรียนมัธยมศึกษา 1 แห่ง

            - โรงเรียนอาชีวศึกษา - แห่ง

            - วิทยาลัย/สถาบันชั้นสูง - แห่ง

สถาบันและองค์การทางศาสนา

            - วัด 5 แห่ง

            - สำนักสงฆ์ 1 แห่ง

            - มัสยิด 6 แห่ง

            - ศาลเจ้า 1 แห่ง

            - โบสถ์ - แห่ง

การสาธารณสุข

            - โรงพยาบาลของรัฐขนาด - เตียง - แห่ง

            - สถานีอนามัย/ตำบล 1 แห่ง

            - สถานพยาบาลเอกชน - แห่ง

            - ร้านขายยาแผนปัจจุบัน - แห่ง

            - อัตราการมีและใช้ส้วมราดน้ำ ร้อยละ 99 %

ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

            - สถานีตำรวจชุมชน 1 แห่ง

            - ป้อมยามตำรวจ 1 แห่ง

            - สถานีดับเพลิง - แห่ง

การบริการพื้นฐาน

การคมนาคม

            - มีถนนราดยาง 8 สาย

            - มีถนนคอนกรีต 3 สาย

            - มีถนนลูกรัง 27 สาย

            - มีถนนดิน 10 สาย

การสื่อสาร

            - ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข (เอกชน) 1 แห่ง

            - โทรศัพท์สาธารณะ ไม่ครบทุกบ้าน

               - สถานีโทรคมนาคมอื่นๆ - แห่ง

การไฟฟ้า

            - มีไฟฟ้าเข้าถึงทุกหมู่บ้านแต่มีไฟฟ้าไม่ครบทุกครัวเรือน

           

 แหล่งน้ำธรรมชาติ

            - ลำน้ำ/ห้วย 8 สาย

            - บึง หนองและอื่นๆ 12 แห่ง

แหล่งน้ำที่สร้างขึ้น

            - ฝาย 8 แห่ง

            - บ่อน้ำตื้น 271 แห่ง

            - บ่อโยก 8 แห่ง

            - อื่นๆ (ระบุ) - แห่ง

ข้อมูลอื่นๆ

ทรัพย์ยากรธรรมชาติในพื้นที่

            - เกาะรังนกนางแอ่น

            - ป่าชายเลน

            - ป่าไม้

            - ภูเขา

            - ทะเล

            - แร่ธาตุต่างๆ

มวลชนจัดตั้ง

            - กลุ่มเกษตรกรทำสวนเขาคราม

            - อาสาสมัครพิทักษ์สิ่งแวดล้อม

            - กลุ่มผู้สูงอายุ

            - กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรจำนวน 8 กลุ่ม

            - กลุ่มสหกรณ์

            - ไทยอาสาป้องกันชาติ

            - ลูกเสือชาวบ้าน

            - กองทุนเพื่อความมั่นคง

            - กลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ป่าชายเลนและประมงชายฝั่ง

            - กองทุนฟื้นฟู จำนวน 10 กลุ่ม

ศักยภาพในตำบล

ศักยภาพขององค์การบริหารส่วนตำบล

1.บุคลากร

            จำนวน 10 คน

            ตำแหน่งในสำนักงานปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล 2 คน

            ตำแหน่งในส่วนโยธา 5 คน

2.ระดับการศึกษา

            ประถมศึกษา 2 คน

            มัธยมศึกษา/อาชีวศึกษา 6 คน

            ปริญญาตรี 2 คน

            สูงกว่าปริญญาตรี - คน

3.รายได้ขององค์การบริหารส่วนตำบล

            ประจำปีงบประมาณ 2543 จำนวน 5,177,093.71 บาท แยกเป็น

            เงินที่องค์การบริหารส่วนตำบลจักเก็บเอง 385,190.08 บาท

            เงินที่ส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้ 3,578,127.00 บาท

            เงินอุดหนุนรัฐบาล 1,128,900.00 บาท

            เงินที่จ่ายขาดจางเงินสะสม 531,054.07 บาท

            ดอกเบี้ยเงินฝาก 90,876.63 บาท

ศักยภาพของชุมชนและพื้นที่

1. แหล่งท่องเที่ยว

        - ป่าพรุปอมคลองสองน้ำ

        - หนองยาว

        - เขาทะลุ

        - หาดอ่าวมะขาม

        - ถ้ำลอด

        - วังน้ำเขียว

        - ถ้ำสูง

        - คลองกาโรส

2. ทรัพยากรธรรมชาติ

        - ป่าชายเลน

        - ปะการัง

        - ถ้ำมูลค้างคาว

        - รังนกนางแอ่น

3. พื้นที่ราบมีเนินเขาเตี้ยๆเหมาะแก่การทำการเกษตรและเหมืองหิน

4. มีพื้นที่ติดต่อชายทะเลเหมาะแก่การขนส่งสินค้าทางทะเลและจัดทำแหล่งท่องเที่ยว

5. มีถนนสายหลักตัดผ่านกลางตำบลเหมาะสำหรับการจัดตั้งศูนย์เศรษฐกิจ

 



เข้าชม : 2852
 
 
สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย  จังหวัดนครราชสีมา
ถนนสืบศิริ ตำบลในเมือง  อำเภอเมือง  จังหวัดนครราชสีมาโทรศัพท์ 0-4424-3350  0-4425-1039  0-4425-5895
โทรสาร  0-4425-8428 
ni_g@hotmail.com  nikorn@korat.nfe.go.th
Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05HD  Update by   นายบุญมา มาดี