[x] ปิดหน้าต่างนี้
 
 

 

                                                                                         การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต

                ปัจจุบันประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในทุกด้านไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง  การปกครอง  เศรษฐกิจ  สังคม  วัฒนธรรม  ประเพณี  การศึกษา  วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว  จะเห็นได้ว่าเน้นไปทาวัตถุมากกว่าทางจิตใจ  จึงทำให้เกิดปัญหาขึ้นในสังคมไทย  เช่น  ปัญหาอาชญากรรม  ปัญหายาเสพติด  ปัญหาครอบครัว  ปัญหาเศรษฐกิจ  ปัญหาวัยรุ่น  ปัญหาโสเภณี  ปัญหาโรคเอดส์  และปัญหาอื่น ๆ  ซึ่งปัญหาดังกล่าวสามารถแก้ไขและป้องกันได้  หากประชาชน  และเยาวชนมีความรู้และเข้าใจ  รู้เท่าทันเหตุการณ์  และมีความพร้อมในการปรับตัวที่จะกำหนดวิธีการดำเนินชีวิตได้อย่างเหมาะสม  การส่งเสริมและพัฒนาทักษะชีวิต  จึงเป็นหนทางหนึ่งที่มีความสำคัญยิ่งที่จะลดสภาพปัญหาและความรุนแรงต่าง ๆ  ให้ลดน้อยลงและหมดไปได้ การศึกษาที่ให้ได้ผลสู่การปฏิบัติและผลสัมฤทธิ์ประชาชนจะต้องมีการศึกษาและเข้าใจความหมายของการศึกษา  พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพุทธศักราช  ๒๕๔๒  กล่าวว่า  การศึกษาหมายถึงกระบวนการเรียนรู้เพื่อเจริญงอกงามของบุคคลและสังคม  โดยการถ่ายทอดความรู้  การฝึก  การอบรม  การสืบสานวัฒนธรรม  การสร้างสรรค์  จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ  การสร้างองค์ความรู้  อันเกิดจากสภาพแวดล้อม  สังคมการเรียนรู้  และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต  ประเทศไทยในยุคปฏิรูปการศึกษามุ่งเน้นให้บุคคลเรียนรู้คู่คุณธรรม   และเป็นบุคคลดี  มีความสามารถมีความสุข  ซึ่งต้องพัฒนาให้ผู้เรียนมีความฉลาดทั้งด้านสติปัญญา  และความฉลาดทางด้านอารมณ์  ที่เรียกว่าทักษะชีวิต  (สำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน, ๒๕๔๖ : ๑)  จึงมีความจำเป็นยิ่งที่จะต้องดำเนินการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต

  วัตถุประสงค์

                ๑.  เพื่อให้ประชาชนและนักศึกษา  มีทักษะที่จำเป็นในการดำเนินชีวิตในสังคมปัจจุบัน

                ๒.  เพื่อให้ประชาชนและนักศึกษา  มีความรู้  ความเข้าใจ  มีเจตคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับหลักประชาธิปไตย  การมีส่วนร่วมทางการเมือง  การป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด  การดูแลสุขภาพ  สิ่งแวดล้อม  คุณธรรม  จริยธรรม  การป้องกันภัยอันตรายในชีวิตและทรัพย์สิน

                ๓. เพื่อให้ประชาชนและนักศึกษา  สามารถนำความรู้จากการเข้าร่วมกิจกรรมไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม

  เป้าหมายดำเนินงาน

เชิงปริมาณ            นักศึกษาและประชาชนทั่วไป          จำนวน  ๕๐   คน

เชิงคุณภาพ           กลุ่มเป้าหมายมีทักษะในการดำเนินชีวิต ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีคุณธรรม จริยธรรม

ผลการดำเนินงาน

การใช้จ่ายงบประมาณ ใช้เงินงบประมาณในการจัดกิจกรรมการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต เป็นเงิน ๒,๐๐๐บาท

ผลผลิตของการทำงาน

                ๑. กลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้รับบริการ จำนวน ๕๐ คน

                ๒. กลุ่มเป้าหมายสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันอย่างมีคุณธรรม จริยธรรม

 ปัญหาและอุปสรรค

                เงินงบประมาณและวัสดุอุปกรณ์ในการบริหารมีไม่เพียงพอ

แนวทางการดำเนินงานต่อไป

                มีการสำรวจความต้องการของชุมชน และบูรณาการจัดการเรียนรู้ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย



เข้าชม : 378