การศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพ
พระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. ๒๕๔๑ กำหนดเป้าหมายการส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษานอกระบบ ประการหนึ่งเพื่อให้ประชาชนได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนากำลังคนและสังคมที่ใช้ความรู้ และภูมิปัญญาเป็นฐานในการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความมั่นคงและคุณภาพชีวิต ทั้งนี้ ตามแนวทางการพัฒนาประเทศ ประกอบกับยุทธศาสตร์การพัฒนาอาชีพของสำนักงาน กศน. ได้มุ่งเน้นให้ประชาชนพัฒนาต่อยอดความรู้ความสามารถในการพัฒนาอาชีพ โดยมีการจัดการความรู้และการพัฒนาอาชีพตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้ความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมายดังกล่าว กศน.ตำบลทับปริก จึงได้จัดทำโครงการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพขึ้น
กระทรวงศึกษาธิการโดยสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งมีภารกิจที่สำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในด้านการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างชัดเจนอีกหน่วยงานหนึ่ง โดยมุ่งเน้นการศึกษาให้กับประชาชนผู้ด้อยโอกาสที่อยู่นอกระบบโรงเรียน และจัดการศึกษาด้านอาชีพ เพื่อเป้าหมายในการยกระดับการศึกษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับกลุ่มเป้าหมาย สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้ชุมชนพึ่งตนเองเอาชนะปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน รวมทั้งบูรณาการแผนชุมชนเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน
ภายใต้ พันธกิจแก้ไขปัญหาดังกล่าว ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเมืองกระบี่ โดย กศน.ตำบลทับปริก จึงได้ดำเนินการจัดกิจกรรมการศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพ เป็นการศึกษาเพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถและทักษะในการ ประกอบอาชีพของบุคคลและกลุ่มบุคคล ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในชีวิตที่แตกต่างกันโดยมุ่งเน้นการปฏิบัติจริงที่บูรณาการกับวิถีชีวิตให้กับบุคคลและชุมชนเพื่อแก้ปัญหาการว่างงาน และส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจชุมชนขึ้น
วัตถุประสงค์
เพื่อการจัดการศึกษา พัฒนาความรู้ ความสามารถ และทักษะในการประกอบอาชีพ ของกลุ่มเป้าหมาย ให้สามารถประกอบอาชีพ หรือพัฒนาอาชีพของตนเองได้
เป้าหมายการดำเนินงาน
เชิงปริมาณ จำนวนผู้รับบริการ ๓๒ คน
เชิงคุณภาพ กลุ่มเป้าหมายสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประกอบอาชีพ และส่งเสริมอาชีพเพื่อก่อให้เกิดเป็นอาชีพใหม่ที่เป็นอาชีพเสริมส่งเสริมรายได้ให้กับครอบครัว
ผลการดำเนินงาน
การใช้จ่ายงบประมาณ ใช้เงินงบประมาณในการจัดกิจกรรมการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ เป็นเงิน ๑๓,๗๒๕ บาท
ผลผลิตของการทำงาน
๑. กลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้รับบริการ จำนวน ๓๒ คน
๒. กลุ่มเป้าหมายสามารถประกอบอาชีพ และเกิดอาชีพใหม่ที่เป็นอาชีพเสริม
๓. กลุ่มเป้าหมายสามารถเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวได้ในอีกทางหนึ่ง
ปัญหาและอุปสรรค
ค่าวัสดุฝึกในการบริหารจัดการน้อยเกินไป ทำให้ผู้ฝึกไม่สามารถที่จะใช้ได้อย่างทั่วถึง
แนวทางการดำเนินงานต่อไป
มีการสำรวจความต้องการของชุมชน เพื่อให้ได้กลุ่มเป้าหมายที่มีความประสงค์พัฒนาอาชีพอย่างแท้จริง

เข้าชม : 809 |