[x] ปิดหน้าต่างนี้
 

                                      
- เอกลักษณ์ : กิจกรรม นำความรู้ ............. อัตลักษณ์ : คิดเป็น ใฝ่รู้ คู่คุณธรรม -

 

เนื้อหา : ศรช. เครือข่าย
หมวดหมู่ : เครือข่ายจัดการศึกษานอกโรงเรียน
หัวข้อเรื่อง : ปรัชญาคิดเป็น

ศุกร์ ที่ 7 เดือน สิงหาคม พ.ศ.2558




ปรัชญาคิดเป็น
 เรื่องที่  1.1  ความเป็นมาของปรัชญาคิดเป็น

 

                คิดเป็น (khit  pen)   เป็นปรัชญาพื้นฐานของการศึกษานอกโรงเรียน  เป็นกระบวนการคิดที่เกิดขึ้นจากหลักการและแนวคิดของนักการศึกษาไทย  ผู้ก่อตั้งทฤษฎีการคิดเป็นคือ  ดร.โกวิท  วรพิพัฒน์ ท่านผู้นี้เป็นผู้นำแนวคิดเรื่องการคิดเป็น   และนำมาเผยแพร่จนได้รับการยอมรับ   ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งครั้งแรกได้นำมาใช้ในวงการศึกษานอกโรงเรียนเมื่อราว    พ.ศ. 2513    ดร.โกวิท  วรพิพัฒน์และคณะ  ได้ประยุกต์แนวความคิด  คิดเป็น มาใช้ในการจัดการศึกษาผู้ใหญ่แบบเบ็ดเสร็จขั้นพื้นฐานระหว่างปี  พ.ศ.  2518 – 2524   โครงการรณรงค์เพื่อการรู้หนังสือ   เป็นต้น   ซึ่งถือว่าแนวคิด   คิดเป็น  เป็นปรัชญาที่นำมาใช้กับการพัฒนางานการศึกษาผู้ใหญ่  และต่อมาได้นำมากำหนดเป็นจุดมุ่งหมายที่สำคัญของการศึกษาไทยทุกระดับ และใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ที่ว่า  การจัดการศึกษาต้องการสอนคนให้ คิดเป็น  ทำเป็น  แก้ปัญหาเป็น   (อุ่นตา  นพคุณ  :  19)

 

                ปรัชญาคิดเป็น   อยู่บนพื้นฐานความคิดที่ว่า ความต้องการของแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน แต่ทุกคนมีจุดรวมของความต้องการที่เหมือนกัน คือ ทุกคนต้องการความสุข คนเราจะมีความสุขเมื่อเราและสังคมสิ่งแวดล้อมประสมกลมกลืนกันได้ โดยการปรับปรุงตัวเราให้เข้ากับสังคมหรือสิ่งแวดล้อม หรือโดยการปรับปรุงสังคมและสิ่งแวดล้อมให้เข้ากับตัวเรา หรือปรับปรุงทั้งตัวเราและสังคมสิ่งแวดล้อมให้ประสมกลมกลืนกัน หรือเข้าไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับตน คนที่สามารถทำได้เช่นนี้ เพื่อให้ตนเองมีความสุขนั้น จำเป็นต้องเป็นผู้มีความคิดสามารถคิดแก้ปัญหา รู้จักตนเองและธรรมชาติสิ่งแวดล้อม จึงจะเรียกได้ว่า  ผู้นั้นเป็นคนคิดเป็น หรืออีกนัยหนึ่งปรัชญาคิดเป็น มาจากความเชื่อพื้นฐานตามแนวพุทธศาสนา ที่สอนให้บุคคลสามารถพ้นทุกข์   และพบความสุขได้ด้วยการค้นหาสาเหตุของปัญหา    สาเหตุของทุกข์  ซึ่งส่งผลให้บุคคลผู้นั้นสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

                คิดเป็น  เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีพื้นฐานชีวิตแตกต่างกัน    มีวิถีการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกัน    มีความ

ต้องการที่แตกต่างกัน  แต่ทุกคนล้วนมีความต้องการที่จะมีความสุขอย่างอัตภาพเหมือนกัน

                เมื่อทุกคนต้องการมีความสุขเหมือนกัน จึงต้องมีกระบวนการเพื่อให้เกิดความสุขคือกระบวนการคิดเป็น โดยมีฐานข้อมูลทางวิชาการ  ทางสังคมสิ่งแวดล้อม และข้อมูลของตนเองมาเป็นตัวการในการช่วยตัดสินใจ เมื่อตัดสินใจได้แล้วจึงเลือกหนทางในการดำเนินชีวิต ก็จะเกิดความสุขจากการตัดสินใจถูกต้อง เมื่อดำเนินการแล้ว และยังเกิดปัญหา หรือยังไม่เกิดความสุขจึงกลับมาย้อนดูความผิดพลาดจากข้อมูลว่าวิเคราะห์ข้อมูลครบหรือยัง   แล้วจึงตัดสินใจใหม่วนเป็นวัฎจักร  "คิดเป็น"     เพื่อการแก้ปัญหาที่ยังยืน  แล้วเกิดสุขอย่างอัตภาพ      เป้าหมายสุดท้ายของการเป็นคน คิดเป็น  คือความสุข  คนเราจะมีความสุขเมื่อตัวเราและสังคมสิ่งแวดล้อมประสมกลมกลืนกันอย่างราบรื่นทั้งทางด้านวัตถุ กายและใจ

 

 

เรื่องที่  1.2  ความหมายของปรัชญาคิดเป็น

ความหมายของ คิดเป็น

             ดร. โกวิท วรพิพัฒน์ ได้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับ คิดเป็น ว่า  บุคคลที่คิดเป็นจะสามารถเผชิญปัญหาในชีวิตประจำวันได้อย่างมีระบบ บุคคลผู้นี้จะสามารถพินิจพิจารณาสาเหตุของปัญหาที่เขากำลังเผชิญอยู่ และสามารถรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างกว้างขวางเกี่ยวกับทางเลือก เขาจะพิจารณาข้อดีข้อเสียของแต่ละเรื่อง โดยใช้ความสามารถเฉพาะตัวค่านิยมของตนเอง  และสถานการณ์ที่ตนเองกำลังเผชิญอยู่   ประกอบการพิจารณา

             การ คิดเป็น เป็นการคิดเพื่อแก้ปัญหา คือ มีจุดเริ่มต้นที่ปัญหาแล้วพิจารณาย้อน ไตร่ตรองถึงข้อมูล 3 ประเภท คือ ข้อมูลด้านตนเอง  ชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม และข้อมูลวิชาการ ต่อจากนั้นก็ลงมือกระทำ  ถ้าหากสามารถทำให้ปัญหาหายไป กระบวนการก็ยุติลง แต่หากบุคคลยังไม่พอใจแสดงว่ายังมีปัญหาอยู่ บุคคลก็จะเริ่มกระบวนการพิจารณาทางเลือกใหม่อีกครั้ง และกระบวนการนี้ยุติลงเมื่อบุคคลพอใจและมีความสุข

                สรุปความหมายของ  คิดเป็น

                                F การวิเคราะห์ปัญหาและแสวงหาคำตอบหรือทางเลือกเพื่อแก้ปัญหาและดับทุกข์

                                F การคิดอย่างรอบคอบเพื่อการแก้ปัญหา โดยอาศัยข้อมูลตนเอง ข้อมูลสังคมสิ่งแวดล้อม

                                  และข้อมูลวิชาการ

 

 

สาระสำคัญ

                คิดเป็น (khit  pen)   เป็นปรัชญาพื้นฐานของการศึกษานอกโรงเรียน  ซึ่งมีความเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนต้องการความสุข แต่ความสุขของแต่ละคนแตกต่างกัน      เนื่องจากมนุษย์มีความแตกต่างกันในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านเพศ  วัย  สภาพสังคมสิ่งแวดล้อม  วิถีชีวิต  ซึ่งทำให้ความต้องการและความสุขของแต่ละคนไม่เหมือนกัน  คนจะอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขต้องรู้จักการปรับตัว  และใช้กระบวนการคิดเป็นในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น  ด้วยการใช้ข้อมูล  ด้าน  คือ  ข้อมูลตนเอง  ข้อมูลสังคมและสิ่งแวดล้อม  และข้อมูลวิชาการมาประกอบการคิดและตัดสินใจ

 

 

 

 

เรื่องที่   1.3   หลักการและแนวคิดของคนคิดเป็น

               

1)  หลักการของการคิดเป็น


               1.  คิดเป็น เชื่อว่า สังคมเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ก่อให้เกิดปัญหา ซึ่งปัญหานั้นสามารถแก้ไขได้
                2.  คนเราจะแก้ไขปัญหาต่างๆได้อย่างเหมาะสมที่สุด     โดยใช้ข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจ อย่างน้อย 3 ประการ  คือ  ข้อมูลเกี่ยวกับตนเอง สังคม และวิชาการ

               3. เมื่อได้ตัดสินใจแก้ไขปัญหาด้วยการไตร่ตรองรอบคอบ   โดยใช้ข้อมูลเกี่ยวกับตนเอง สังคม และวิชาการทั้ง 3  ด้านนี้แล้ว ย่อมก่อให้เกิดความพอใจในการตัดสินใจนั้นและควรรับผิดชอบต่อการตัดสินใจนั้น
               4. แต่สังคมเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การคิดตัดสินใจอาจจะต้องเปลี่ยนแปลงปรับปรุงใหม่ให้เหมาะสมกับสภาพและสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

 

 2)  แนวคิดเรื่อง  คิดเป็น  (Khit Pen)

               

                 ดังได้กล่าวมาแล้วว่า คิดเป็น เป็นกระบวนการคิดที่เกิดขึ้นจากหลักการและแนวคิดของ   ดร.โกวิท  วรพิพัฒน์  ซึ่งเป็นนักการศึกษาไทย และอดีตอธิบดีกรมการศึกษานอกโรงเรียน และอดีดปลัดกระทรวงศึกษาธิการ  อุ่นตา  นพคุณ    (อ้างอิงจากชีวิตพ่อเล่า  :  ดร.โกวิท  วรพิพัฒน์. 2544 : 651 652)     กล่าวถึงแนวคิดเรื่องคิดเป็นว่าได้นำมาใช้ในวงการศึกษานอกโรงเรียน   แล้วนำมากำหนดเป็นจุดมุ่งหมายที่สำคัญของการศึกษาไทยทุกระดับและใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน    โดยนักการศึกษาไทยหลายท่านพยายามนำเรื่อง การคิดเป็นมาพัฒนาการจัดการศึกษาไทย  และสร้างเอกลักษณ์ความเป็นไทยจนเป็นที่ยอมรับ  และเกิดเป็นเป้าหมายของการจัดการศึกษาไทยที่ว่า การจัดการศึกษาต้องการสอนคนให้ คิดเป็น  ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น  การคิดเป็นของ ดร.โกวิท วรพิพัฒน์  เป็นกระบวนการคิดและตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยการใช้ข้อมูล  3  ด้าน  ได้แก่  ข้อมูลตนเอง  ข้อมูลสังคมและสิ่งแวดล้อม  และข้อมูลวิชาการมาประกอบการคิดและตัดสินใจ

                นอกจากนี้ ทองอยู่  แก้วไทรฮะ และจันทร์ ชุ่มเมืองปัก (อ้างอิงจากชีวิตพ่อเล่า: ดร.โกวิท  วรพิพัฒน์. 2544 : 654 – 655)  อธิบายเพิ่มเติมว่า  คน  คิดเป็น  คือ คนที่มีความสุขเมื่อได้ปรับปรุงตนเองและสังคมสิ่งแวดล้อมให้ผสมกลมกลืนกันด้วยกระบวนการแก้ปัญหาหรือการตัดสินใจแก้ปัญหาโดยพิจารณาข้อมูลอย่างน้อย  3  ประการคือ

                1)  การรู้จักตนเองอย่างถ่องแท้เที่ยงธรรม หรือ  ตน (Self) โดยพิจารณาความพร้อมในด้านการเงิน  สุขภาพอนามัย  ความรู้  อายุ  และวัย  รวมทั้งความมีเพื่อนฝูง  และอื่น ๆ  

                2)  สังคมและสิ่งแวดล้อม (Society and Environment) หมายถึง คนอื่นนอกเหนือ จากเราและครอบครัว  จะเรียกว่าบุคคลที่ 3 ก็ได้ คือดูว่าสังคมเขาคิดอย่างไรกับการตัดสินใจของเรา  เขาเดือดร้อนไหม  เขารังเกียจไหม  เขาชื่นชมด้วยไหม  เขามีใจปันให้เราไหม  รวมตลอดถึงเศรษฐกิจและสังคมนั้น ๆ เหมาะกับเรื่องที่เราตัดสินใจหรือไม่  รวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณี  คุณธรรมและค่านิยมของสังคม

                        3) ความรู้ทางวิชาการ  เป็นความรู้ทางวิทยาศาสตร์หรือความรู้วิชาการในเรื่องที่ตรงกับการที่เราจะต้องตัดสินใจ  ซึ่งถือเป็นหนังสือหลัก 

 

                แนวความคิดเรื่องคิดเป็นมีองค์ประกอบที่สำคัญในเชิงปรัชญา 3 ส่วน กล่าวคือ เป้าหมายสูงสุดของชีวิตมนุษย์ คือ ความสุข มนุษย์จึงแสวงหาวิธีการต่าง ๆ เพื่อที่จะมุ่งไปสู่ความสุขนั้น แต่เนื่องจากมนุษย์มีความแตกต่างกันโดยพื้นฐานทั้งทางกายภาพ อารมณ์ สังคม จิตใจและสภาวะแวดล้อม ทำให้ความต้องการของคนแต่ละคนมีความแต่ต่างกัน   การให้คุณค่า  และความหมายของความสุขของมนุษย์จึงแตกต่างกัน การแสวงหาความสุขที่แตกต่างกันนั้น มนุษย์ต้องปรับตัวให้สอดคล้องกันสภาพแวดล้อมของตนเองซึ่งโดยหลักใหญ่ๆแล้ว  วิธีการปรับตัวของมนุษย์ ได้แก่ การปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม หรือไม่ก็ปรับสภาพแวดล้อมให้เข้ากับตนอง หรืออาจปรับทั้งตนเองและสภาพแวดล้อมเข้าหากัน จนที่สุดแล้ว

ไม่สามารถปรับตัวได้มนุษย์ก็จำเป็นจะต้องหลีกออกจากสภาพแวดล้อมนั้น เพื่อไปหาสภาพแวดล้อมใหม่ เพื่อที่จะปรับตัวให้มีความสุขได้ใหม่ แต่แท้จริงแล้ว การที่มนุษย์จะเลือกปรับตัวอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคนแต่ละคน การตัดสินใจนั้น จำเป็นจะต้องใช้ข้อมูลอย่างรอบด้าน ซึ่งโดยหลักการของการคิดเป็นมนุษย์ควรจะใช้ข้อมูลอย่างน้อย 3 ด้านคือ ข้อมูลตนเอง ซึ่งเป็นข้อมูลเกี่ยวกับตนเอง ทั้งทางด้านกายภาพ สุขภาพอนามัย ด้านจิตใจและความพร้อมต่าง ๆ ข้อมูลสังคม ซึ่งเป็นข้อมูลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมครอบครัว สังคม วัฒนธรรม ความเชื่อ ประเพณี ค่านิยมตลอดจนกรอบคุณธรรม จริยธรรม และข้อมูลวิชาการ  คือ ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ต้องคิด ตัดสินใจนั้น ๆ ว่ามีหรือไม่  เพียงพอ ที่จะนำไปใช้หรือไม่ การใช้ข้อมูลอย่างรอบด้านนี้จะช่วยให้การคิดตัดสินใจเพื่อแสวงหาความสุขของมนุษย์เป็นไปอย่างรอบคอบ เรียกวิธีการคิดตัดสินใจนี้ว่า คิดเป็น และเป็นความคิดที่มีพลวัตคือ ปรับเปลี่ยนได้เสมอ เมื่อข้อมูลเปลี่ยนแปลงไป เป้าหมายชีวิตเปลี่ยนไป

 

 

 

 

 

 

 

เรื่องที่  1.4   ลักษณะของคนคิดเป็น

 

                ลักษณะของคนคิดเป็น มี 8 ประการ
                               1.  มีความเชื่อว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งธรรมดา สามารถแก้ไขได้
                               2.  การคิดที่ดีต้องให้ข้อมูลหลายๆด้าน (ตนเอง สังคม วิชาการ)
                               3.  รู้ว่าข้อมูลเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
                               4.  สนใจที่จะวิเคราะห์ข้อมูลอยู่เสมอ
                               5.  รู้ว่าการกระทำของตนมีผลต่อสังคม
                                6.  ทำแล้ว ตัดสินใจแล้ว สบายใจ และเต็มใจรับผิดชอบ
                                7.  แก้ปัญหาชีวิตประจำวันอย่างมีระบบ
                               8.  รู้จักชั่งน้ำหนักคุณค่ากับสิ่งรอบ ๆ ด้าน

 

                สมรรถภาพของคนคิดเป็น
                               1. เผชิญปัญหาในชีวิตประจำวันอย่างมีระบบ
                               2. สามารถที่จะแสวงหาและใช้ข้อมูลหลายๆด้าน ในการคิดแก้ไขปัญหา
                               3. รู้จักชั่งน้ำหนัก คุณค่า และตัดสินใจหาทางเลือกให้สอดคล้องกับค่านิยม ความสามารถและสถานการณ์หรือเงื่อนไขส่วนตัวและระดับความเป็นไปได้ของทางเลือกต่างๆ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เรื่องที่  1.5   กระบวนการคิดเป็น

 

                กระบวนการคิดเป็น

                        กระบวนการคิดเป็นอาจจำแนกให้เห็นขั้นตอนต่าง ๆ  ที่ประกอบกันเข้าเป็นกระบวนการคิดได้ดังนี้

                        ขั้นที่ 1           ขั้นสำรวจปัญหา เมื่อเกิดปัญหา ย่อมต้องเกิดกระบวนการคิดแก้ปัญหา  นั่นคือการรับรู้ปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่และคิดแสวงหาทางแก้ปัญหานั้น ๆ

                        ขั้นที่ 2           ขั้นหาสาเหตุของปัญหา   เป็นการศึกษารวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาเพื่อทำความเข้าใจปัญหา และสถานการณ์นั้นๆ  โดยจำแนกข้อมูลออกเป็น 3 ประเภทคือ

                ข้อมูลสังคม :  ได้แก่ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบๆ ตัว ปัญหาสภาพสังคมของแต่ละบุคคล ตั้งแต่ครอบครัว ชุมชนและสังคมทั้งในแง่เศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ค่านิยม เป็นต้น

                ข้อมูลตนเอง : ได้แก่ข้อมูลเกี่ยวกับตัวบุคคล     ซึ่งจะเป็นผู้ตัดสินใจ    เป็นข้อมูลทั้งทางด้านกายภาพ    พื้นฐานของชีวิต ครอบครัว   อาชีพ   ความพร้อมทั้งทางอารมณ์ จิตใจ เป็นต้น

                ข้อมูลวิชาการ : ได้แก่ข้อมูลด้านความรู้ในเชิงวิชาการที่จะช่วยสนับสนุนในการคิดการดำเนินงาน   ยั งขาดวิชาการความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาในเรื่องใดบ้าง

                        ขั้นที่ 3          ขั้นวิเคราะห์ หาทางแก้ปัญหา  เป็นการวิเคราะห์ทางเลือกในการแก้ปัญหา  หรือการประเมินค่าข้อมูลทั้ง 3 ด้าน  คือ  ข้อมูลด้านตนเอง  สังคม  วิชาการ มาประกอบในการวิเคราะห์  ช่วยในการคิดหาทางแก้ปัญหาภายในกรอบแห่งคุณธรรม ประเด็นเด่นของขั้นตอนนี้คือ  ระดับของการตัดสินใจที่จะแตกต่างกันไปแต่ละคนอันเป็นผลเนื่องมาจากข้อมูลในขั้นที่ 2  ความแตกต่างของตัดสินใจดังกล่าวมุ่งไปเพื่อความสุขของแต่ละคน

ขั้นที่ 4           ขั้นตัดสินใจ เมื่อได้ทางเลือกแล้วจึงตัดสินใจเลือกแก้ปัญหาในทางที่มีข้อมูลต่างๆ พร้อมสมบูรณ์ที่สุด  การตัดสินใจถือเป็นขั้นตอนสำคัญของแต่ละคนในการเลือกวิธีการหรือทางเลือกในการแก้ปัญหา ขึ้นอยู่กับว่าผลของการตัดสินใจนั้นพอใจหรือไม่ หากไม่พอใจก็ต้องทบทวนใหม่

ขั้นที่ 5           ขั้นตัดสินใจไปสู่การปฏิบัติ เมื่อตัดสินใจเลือกทางใดแล้ว ต้องยอมรับว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในข้อมูลเท่าที่มีขณะนั้น ในกาละนั้นและในเทศะนั้น เป็นการปฏิบัติตามสิ่งที่ได้คิดและตัดสินใจแล้ว หากพอใจยอมรับผลของการตัดสินใจ มีความสุขก็เรียกได้ว่า คิดเป็น แต่หากตัดสินใจแล้วได้ผลออกมายังไม่พอใจ ไม่มีความสุข อาจเป็นเพราะข้อมูลที่มี ไม่รอบด้าน ไม่มากพอ ต้องหาข้อมูลใหม่คิดใหม่ตัดสินใจใหม่ แต่ไม่ถือว่าคิดไม่เป็น

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


                       

 

                       

 

 

 

 

 

                จากแผนภูมิแสดงกระบวนการคิดเป็น สรุปได้ว่า ความเชื่อพื้นฐานของการ  คิดเป็น มาจากธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องการความสุข มนุษย์จะมีความสุขเมื่อตัวเองและสังคมสิ่งแวดล้อมประสมกลมกลืนกันอย่างราบรื่น  ซึ่งแต่ละคนแต่ละกลุ่มสามารถทำได้ ดังนี้

                                1)  ปรับปรุงตนเองให้เข้ากับสังคมและสิ่งแวดล้อม

                                2)  ปรับปรุงสังคมและสิ่งแวดล้อมให้เข้ากับตัวเอง

                                3)   ปรับปรุงทั้งตัวเราและสังคมสิ่งแวดล้อมทั้งสองด้านให้ประสมกลมกลืนซึ่งกันและกัน

                                4)   หลีกสังคมและสิ่งแวดล้อมหนึ่งไปสู่สังคมและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับตน

                                เมื่อเกิดปัญหาขึ้น  คนที่คิดเป็น  จะใช้กระบวนการแก้ปัญหาด้วยการปรับตัวเอง สังคมและสิ่งแวดล้อมให้ประสมกลมกลืนกัน  โดยอาศัยข้อมูลประกอบการคิด  3  ด้าน  คือ  ข้อมูลตนเอง  ข้อมูลสังคมและสิ่งแวดล้อม  และข้อมูลวิชาการ แล้วจึงตัดสินใจ  เมื่อตัดสินใจแล้วลงมือปฏิบัติ  ดูว่าผลออกมาเป็นอย่างไร ถ้าพอใจก็จะมีความสุข  แต่ถ้าไม่พอใจก็หาวิธีใหม่ในการแก้ปัญหาจนกว่าจะพอใจ

 

เรื่องที่  2.1    ความสำคัญของการคิดเป็นกับการดำรงชีวิต

 

                คิดเป็น  เป็นกระบวนการคิดที่ทำให้บุคคลเข้าใจตนเองอย่างถ่องแท้ว่าตนเองเป็นใคร  อะไรคือสิ่งที่ตนเองต้องการ  รวมทั้งเข้าใจสภาพสังคมสิ่งแวดล้อมที่ตนเองดำรงอยู่และสามารถนำข้อมูลวิชาการที่มีอยู่มาประกอบการคิดและตัดสินใจ โดยวิเคราะห์ วิจารณ์อย่างมีระบบภายใต้หลักการ  เหตุผล  หลักคุณธรรม จริยธรรม ซึ่งนำไปสู่การปฏิบัติจนเกิดความพอใจ เป็นบุคคลที่มีพฤติกรรมคิดเป็น  เป็นคนดี  คนเก่ง  และพบกับความสุขได้ในที่สุด

                 คิดเป็น   ช่วยผู้เรียนให้รู้จักพัฒนาตนเองให้มีทักษะในการแก้ปัญหาหรือใช้ข่าวสาร ข้อมูลให้เป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน    คิดเป็น   จึงเป็นแนวทางที่จะนำไปสู่การเรียนรู้  ในงานวิจัยของ อัจฉรา พรมตาใกล้ เกี่ยวกับแนวโน้มการจัดการศึกษานอกโรงเรียน ในปี พ.ศ.2545  ได้ชี้ให้เห็นว่าการจัดกิจกรรมการศึกษานอกโรงเรียนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะเน้นการนำปรัชญา "คิดเป็น" การพึ่งพาตนเองและแนวคิดการศึกษาตลอดชีวิตมาใช้เป็นหลักการในการจัดการศึกษานอกโรงเรียน เพื่อนำไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ แสดงให้เห็นว่าปรัชญา "คิดเป็น" จะยังคงบูรณาการเข้าไปในโปรแกรมการจัดการศึกษานอกโรงเรียน โดยเน้นให้ผู้เรียนรู้จักการแก้ปัญหา การพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ และการรักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้เรียน กระบวนการเรียน การสอนจะยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง  หลักสูตรจะมีความยืดหยุ่น การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนจะมุ่งเน้นการสร้างงานและวิธีการเรียนของนักศึกษาจะเน้นการเรียนรู้ด้วยตนเองมากขึ้น

คิดอย่างไรเรียกว่า คิดเป็น

             คิดเป็น เป็นการคิดแบบพอเพียง พอประมาณ ไม่มาก ไม่น้อยเป็นทางสายกลาง สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผล พร้อมที่จะรับผลกระทบที่เกิดโดยมีความรอบรู้ในวิชาการที่เกี่ยวข้องอย่างรู้จริง สามารถนำความรู้มาใช้ประโยชน์ได้ มีคุณภาพใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต ซึ่งแนวคิดนี้สอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั่นเอง  เป็นการบูรณาการเอาการคิด  การกระทำ การแก้ปัญหา ความเหมาะสมและความพอดี    มารวมไว้ในคำว่า    คิดเป็น   คือ การคิดเป็น   ทำเป็นอย่างเหมาะสมกับตน   เกิดความพอดี   และแก้ปัญหาได้ด้วย

 

 

 

 

 

เรื่องที่  2.2    การวิเคราะห์และตัดสินใจแก้ปัญหาโดยใช้กระบวนการคิดเป็น

 

               ไม่ว่าจะเป็นสังคมใด ยุคใด คนเราต้องเผชิญหน้ากับปัญหาอุปสรรคต่างๆ อยู่ตลอดเวลา ถ้าต้องการให้ชีวิตมีความสุขจำเป็นต้องหาแนวทางแก้ไขปัญหาหรือขจัดปัญหาให้หมดไป
             การจะแก้ปัญหาได้ จำเป็นต้องมีการวิเคราะห์ใคร่ครวญในการตัดสินใจเลือกแนวทางที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหา การตัดสินใจแก้ไขปัญหาหรือในเรื่องต่าง ๆ นั้นอาจผิด หรือถูกก็ได้ ถ้าเรื่องหรือสิ่งต่าง ๆ ที่จะต้องตัดสินใจเป็นสิ่งที่ดี  ที่ถูกต้องและนำข้อมูลที่ได้รับมา ประกอบการพิจารณาทำให้มีการตัดสินใจ ว่าสิ่งนั้นเรื่องนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องนับว่าการตัดสินใจถูกต้อง แต่ถ้าตัดสินใจว่า ไม่ดีไม่ถูกต้องนับว่าเป็นการตัดสินที่ผิด ในทางตรงกันข้าม  ถ้าเรื่องหรือสิ่งที่ต้องตัดสินใจเป็นสิ่งที่ไม่ดีไม่ถูกต้อง  มีข้อมูลประกอบ การตัดสินใจ แล้วตัดสินใจว่าสิ่งนั้นไม่ดี ไม่ถูกต้อง  นับว่าการตัดสินใจถูก  แต่ถ้ามีการตัดสินใจว่าสิ่งนั้น เรื่องนั้นดี ถูกต้อง นับว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิด การตัดสินใจจึงมีผิดมีถูกได้ แต่ส่วนใหญ่ก็ต้องการเห็นการตัดสินใจที่ถูกมากกว่าการตัดสินใจที่ผิด   

               การตัดสินใจด้วยกระบวนการคิดเป็น  จัดเป็นกระบวนการที่สำคัญที่จะช่วยให้การตัดสินใจ มีความถูกต้องมากที่สุด เพราะกระบวนการคิดเป็นนั้นเสนอแนะให้ใช้ข้อมูลหลายหลายด้านมาประกอบ การพิจารณาตัดสินใจอย่างน้อยควรมีข้อมูล 3 ด้านด้วยกัน

                                            1. ข้อมูลเกี่ยวกับตนเอง

                                2. ข้อมูลเกี่ยวกับสังคมหรือสิ่งแวดล้อม

                               3. ข้อมูลเกี่ยวกับความรู้หรือวิชาการ

               ข้อมูลทั้ง 3 ด้านนี้  จะช่วยให้เกิดการวิเคราะห์พิจารณาที่ดีที่ถูกต้องมากกว่าการใช้แต่เพียงข้อมูลแต่เพียงด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น ซึ่งปรกติมักจะตัดสินใจกันด้วยข้อมูลด้านเดียว ซึ่งอาจมีการพิจารณาว่าเหมาะสมกับตนเองแล้ว เหมาะสมกับคนส่วนใหญ่แล้ว หรือเหมาะสมตามตำราหรือจากคำแนะนำทางวิชาการแล้ว  ซึ่งอาจก่อให้เกิดการตัดสินใจที่ผิดพลาดขึ้นได้   ไม่ว่าจะเป็นตัดสินใจในการดำรงชีวิตหรือการตัดสินใจในการบริหารงานก็ตาม กระบวนการคิดเป็นจึงมีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจในแทบทุกวงการ โดยเฉพาะในวงการการศึกษานอกโรงเรียน ซึ่งมีแผนงานโครงการ และกิจกรรม การศึกษาสอดคล้องตามหลักการตอบสนองความต้องการของผู้เรียน  และหลักการนำสิ่งที่เรียนไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ทันที กระบวนการคิดเป็นมิใช่แต่จะเกี่ยวข้องกับผู้ให้บริการการศึกษานอกโรงเรียนเท่านั้น แต่จะเกี่ยวข้องอย่างสำคัญกับผู้เรียนหรือผู้รับบริการการศึกษานอกโรงเรียนด้วย เนื่องจากหลักการสำคัญข้อหนึ่งของการศึกษานอกโรงเรียนคือ จัดการศึกษาเพื่อการแก้ไขปัญหาได้ ( Problem-oriented) การจัดกิจกรรมการศึกษานอกโรงเรียนให้แก่ผู้เรียนหรือผู้รับบริการการศึกษา จึงมุ่งให้ผู้เรียนสามารถพิจารณาตัดสินใจในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เขาต้องเผชิญให้ลุล่วง ไปได้ สามารถขจัดปัญหาได้ ผู้เรียนหรือผู้รับบริการการศึกษาจะต้องได้รับการฝึกฝนการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ด้วยการนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตนเอง เกี่ยวข้องกับเพื่อน ๆ หรือสังคมรอบตัวเรา  และหลักการ ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหานั้น แล้วตัดสินใจเลือกแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด เมื่อตัดสินใจแล้ว เกิดความพึงพอใจ ว่าได้ตัดสินใจดีแล้ว รอบคอบแล้ว เมื่อได้ฝึกฝนเช่นนี้อย่างสม่ำเสมอ ขณะที่กำลังศึกษาหรือเรียนอยู่ก็จะเกิดประสบการณ์ที่ชำนาญที่ชอบ สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวันต่อไปได้

 

ตัวอย่าง

        ปราชญ์ชาวบ้าน คุณลุงประยงค์ รณรงค์ แห่งชุมชนบ้านไม่เรียงจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นตัวอย่างของบุคคลที่เป็นรูปแบบของความหมาย คิดเป็น ได้อย่างดี ลุงประยงค์ จะมีความคิดที่เชื่อมโยง คิดแยกแยะ ชัดเจน เพื่อหาทางเลือกที่ดีที่สุดในการนำไปปฏิบัติ และต้องทดลองความรู้ที่หามาได้ก่อนการยืนยันเสมอ แนวคิดเช่นนี้ทำให้ลุงประยงค์เป็นแกนนำสำคัญที่ทำให้ชุมชนไม่เรียง เป็นชุมชนตัวอย่างหนึ่งที่เข้มแข็งมานาน พึ่งพาตนเองได้อย่างเหมาะสมพอดีกับบริบทของตนเอง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 



เข้าชม : 11792


เครือข่ายจัดการศึกษานอกโรงเรียน 5 อันดับล่าสุด

      ปรัชญาคิดเป็น 7 / ส.ค. / 2558


 
กศน.ตำบลปากน้ำ
ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเมืองกระบี่

ที่ทำการชุมชนปานุราช (วัดปานุราช) ถนนชัยกูล  ตำบลปากน้ำ  อำเภอเมือง  จังหวัดกระบี่  โทรศัพท์ 085-9270990
 
Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05HD  Update by   นายบุญมา มาดี