[x] ปิดหน้าต่างนี้
 

                                      
- เอกลักษณ์ : กิจกรรม นำความรู้ ............. อัตลักษณ์ : คิดเป็น ใฝ่รู้ คู่คุณธรรม -

 




การลงทะเบียนเรียนรายวิชา
       การลงทะเบียนเรียนตามโครงสร้างหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 ให้ลงทะเบียนเรียนเป็นรายวิชาและตามจำนวนหน่วยกิต ในแต่ละภาคเรียนดังนี้
       1. ระดับประถมศึกษา ลงทะเบียนเรียนทั้งหมด ไม่น้อยกว่า 48 หน่วยกิต ให้ลงทะเบียนเรียนได้ภาคเรียนละไม่เกิน 14 หน่วยกิต
       2. ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ลงทะเบียนเรียนทั้งหมด ไม่น้อยกว่า 56 หน่วยกิต ให้ลงทะเบียนเรียนได้ภาคเรียนละไม่เกิน 16 หน่วยกิต
       3. ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ลงทะเบียนเรียนทั้งหมด ไม่น้อยกว่า 76 หน่วยกิต ให้ลงทะเบียนเรียนได้ภาคเรียนละไม่เกิน 20 หน่วยกิต

วิธีการจัดการเรียนรู้
         วิธีการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 จะมีวิธีเดียว คือ “วิธีเรียน กศน.” ที่สามารถจัดการเรียนรู้ได้หลายรูปแบบ เช่น 
         -   การเรียนรู้แบบพบกลุ่ม
         -   การเรียนรู้ด้วยตนเอง
         -   การเรียนรู้แบบทางไกล
         -   การเรียนรู้แบบชั้นเรียน
         -   การเรียนรู้แบบอื่นๆ
         ซึ่งในแต่ละรายวิชา ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง หรือหลายรูปแบบก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของสถานศึกษาด้วย

    1. การเรียนรู้แบบพบกลุ่ม
         เป็นการจัดการเรียนรู้ที่กำหนดให้ผู้เรียนมาพบกันโดยมีครูเป็นผู้ดำเนินการให้เกิดกระบวนการกลุ่ม เพื่อให้มีการอภิปราย แลกเปลี่ยนเรียนรู้และหาข้อสรุปร่วมกันทุกสัปดาห์ ครูจะต้องจัดให้มีการพบกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้เรียนด้วยกัน ครูมีบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวก ใช้เวลาในการพบกลุ่มอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง
ข้อควรคำนึงในการเรียนรู้แบบพบกลุ่ม
            จัดพบกลุ่มในรายวิชาที่ยากปานกลาง
            น้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียนและผู้เรียนกับครู
            ผู้เรียนมีการศึกษาค้นคว้างานเดี่ยว งานกลุ่ม ทำโครงงาน
            ครูจัดกระบวนการกลุ่มที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และสอดแทรกกระบวนการคิดเป็นให้ผู้เรียนได้ฝึกคิดวิเคราะห์ ในแต่ละรายวิชาที่เชื่อมโยงสู่การประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงและอาจสอนเพิ่มเติมในบางเนื้อหาที่ผู้เรียนต้องการ
            มีการสอบย่อย (QUIZ)
            พบกลุ่มสัปดาห์ละ 3 ชม. เป็นอย่างน้อย แต่ถ้าสามารถจัดเวลาพบกลุ่มได้มากขึ้นจะมีประโยชน์ต่อผู้เรียนเป็นอย่างยิ่ง

         การเรียนรู้แบบพบกลุ่ม ควรดำเนินการ ดังนี้
         1). การนำเสนอผลจากการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองหรืองานกลุ่มโดยผู้เรียน ซึ่งเป็นการทำกิจกรรมตามที่ได้รับมอบหมายจากการพบกลุ่มสัปดาห์ที่แล้ว ครูทำหน้าที่กระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน และสรุปองค์ความรู้ร่วมกันระหว่างผู้เรียนและครู
         2). การจัดการเรียนการสอนตามสาระการเรียนรู้ที่ได้วางแผนร่วมกันไว้แล้วระหว่างครูและผู้เรียน โดยครูเป็นผู้จัดกระบวนเรียนรู้ เพิ่มเติมความรู้หรือเนื้อหาสาระที่จำเป็น ที่ผู้เรียนยังไม่เข้าใจและต้องการจะเรียนรู้ โดยอาจสอนเพิ่มเติมในบางเนื้อหาที่ผู้เรียนต้องการ หรือจัดสอนเสริมนอกเหนือจากเวลาพบกลุ่ม (โดยเฉพาะในเนื้อหายากที่ผู้เรียนไม่สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้ เช่น คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์)
         3). การนำเสนอโครงงาน โดยผู้เรียนนำเสนอความคิด และความก้าวหน้าในการทำโครงงานต่อกลุ่มใหญ่ เพื่อให้ผู้เรียนคนอื่นและครูช่วยกันวิเคราะห์ ซักถามให้ข้อเสนอแนะ คำแนะนำทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นการต่อยอดทางความคิดและนำไปสู่การพัฒนาโครงงานในสัปดาห์ต่อไป การนำเสนอโครงงานเช่นนี้จะเป็นไปอย่างต่อเนื่องทุกครั้งที่พบกลุ่มจนสิ้นสุดภาคเรียน
         4). การสอบย่อย (QUIZ) เป็นการทดสอบความรู้ความเข้าใจสาระเนื้อหา โดยครูและสถานศึกษาเป็นผู้จัดทำข้อทดสอบย่อย ในลักษณะ ถาม-ตอบ (QUIZ) ให้ผู้เรียนตอบคำถามแบบเขียนสั้น ๆ ในลักษณะการสรุปความคิดรวบยอด ที่เป็นความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหาในรายวิชานั้น ของตัวผู้เรียนเอง
         5). การฝึกกระบวนการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการ “คิดเป็น” ให้ผู้เรียนฝึกคิดวิเคราะห์สังเคราะห์ และแสวงหาความรู้ด้วยตนเองจากสื่อ เช่น สถานการณ์จริง ข่าว นสพ.บทความ ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหารายวิชาที่กำลังเรียนรู้ ครูทำหน้าที่เป็นผู้กระตุ้น เสริมแรง ใช้กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมให้ผู้เรียนทุกคนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันตลอดช่วงเวลาการพบกลุ่ม โดยครูควรตั้งคำถามปลายเปิดให้ผู้เรียนได้คิด ร่วมอภิปรายเพื่อหาคำตอบจากประเด็นปัญหา และพยายามเชื่อมโยงเรื่องที่เรียนรู้จากรายวิชานั้นเข้าสู่วิถีชีวิตของผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนได้มองเห็นประโยชน์จากการมาพบกลุ่ม 
         6). การฝึกให้ผู้เรียนได้แสดงออกเพื่อให้สามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้ เช่น การนำเสนองานประกอบการใช้สื่อ การฝึกพูดในโอกาสต่าง ๆ การใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง การฟังและการจับประเด็นสำคัญ การพูด/การเขียนเพื่อสรุปใจความสำคัญ ฯลฯ
         7). การวางแผนจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่อเนื่อง เป็นการกำหนดข้อตกลงร่วมกันในกลุ่มการนัดหมายกิจกรรมต่างๆ ที่ผู้เรียนต้องทำระหว่างสัปดาห์ รวมทั้งการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง ครูจะต้องเน้นย้ำให้ผู้เรียนไปศึกษาค้นคว้าตามแผนการเรียนรู้ที่ได้ร่วมกันกำหนดไว้ โดยเน้นเป็นพิเศษสำหรับผู้ที่จะมานำเสนอสัปดาห์ต่อไป และกำหนดภารกิจสำหรับผู้เรียนคนอื่น ๆ ด้วย
         8). การติดตามและช่วยเหลือ อาจใช้กระบวนการติดตามช่วยเหลือโดยเพื่อน กลุ่มเพื่อนจัดให้มีการปรึกษาหารือกันระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน หรือใช้ระบบหัวหน้ากลุ่มผู้เรียน

     2. การเรียนรู้ด้วยตนเอง
         ป็นการเรียนรู้ที่ผู้เรียนแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง ผู้เรียนกำหนดแผนการเรียนรู้ของตนเองให้สอดคล้องกับรายวิชาที่ลงทะเบียนเรียน โดยระบุว่ากระบวนการเรียนรู้แต่ละครั้งเกิดขึ้นได้อย่างไร เรียนรู้ด้วยวิธีการใด มีขั้นตอนตั้งแต่เริ่มต้นจนจบอย่างไร และมีครูเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำในการศึกษาหาความรู้จากสื่อต่าง ๆ

        ลักษณะของผู้ที่สามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง
         1. มีความสมัครใจที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง ไม่ได้เกิดจากการบังคับ
         2. ใช้ตนเองเป็นแหล่งข้อมูล นั่นคือผู้เรียนสามารถบอกได้ว่าสิ่งที่ตนจะเรียนคืออะไร รู้ว่าทักษะและข้อมูลที่ต้องการหรือจำเป็นต้องใช้มีอะไรบ้าง สามารถกำหนดเป้าหมาย วิธีการรวบรวมข้อมูลที่ต้องการ และวิธีการประเมินผลการเรียนรู้ ผู้เรียนรู้ถึงความสามารถของตนเอง ตัดสินใจได้ มีการรับผิดชอบต่อหน้าที่และบทบาทในการเป็นผู้เรียนที่ดี
         3. รู้ “วิธีการที่จะเรียน” นั่นคือ ผู้เรียนควรทราบขั้นตอนในการเรียนรู้ด้วยตนเอง ว่าจะไปสู่จุดที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างไร
         4. มีบุคลิกภาพเชิงบวก มีแรงจูงใจ และการเรียนแบบร่วมมือกับเพื่อนหรือบุคคลอื่น
         5. มีระบบการเรียน รู้จักประยุกต์การเรียนและสนุกสนานกับกระบวนการเรียน
         6. มีการเรียนจากข้อผิดพลาดและความสำเร็จ มีการประเมินตนเองและเข้าใจถึงศักยภาพของตนเอง
         7. มีความพยายามในการหาวิธีการใหม่ ๆ เพื่อหาคำตอบ รู้จักประยุกต์ความรู้ที่ได้จากการเรียนไปใช้กับสถานการณ์ของแต่ละบุคคล และหาโอกาสในการพัฒนา ค้นหาข้อมูลเพื่อแก้ปัญหา
         8. มีการชี้แนะ การอภิปรายในห้องเรียน การแสดงความคิดเห็นส่วนตัวและการแสดงความเห็นที่แตกต่างไปจากผู้สอน
         9. มีการรวบรวมข้อมูลจากการได้ปฏิสัมพันธ์กับบุคลและมีวิธีการนำข้อมูลที่ได้
ไปใช้

         ข้อควรคำนึงในการเรียนรู้ด้วยตนเอง
            ผู้เรียนมีความสมัครใจ มีความพร้อม ศึกษาวิธีการเรียนให้เข้าใจขั้นตอนการเรียนรู้ด้วยตนเอง มีทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเองและมีความรับผิดชอบ
            ผู้เรียนกำหนดแผนการเรียนรู้รายบุคคลให้สอดคล้องกับรายวิชาที่ลงทะเบียนเรียน
            ผู้เรียนกำหนดสื่อที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง เช่น เอกสารแบบเรียน ชุดการสอน ผู้รู้ โทรทัศน์ วิทยุ อินเทอร์เน็ต ซีดี แหล่งเรียนรู้ เพื่อนเรียนรู้ ฯลฯ
            จัดทำสัญญาการเรียนรู้ ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างครูกับผู้เรียน
            พบครู ให้คำปรึกษา แนะนำในการเรียน ประมาณ 2-4 ครั้ง/ภาคเรียน
            สถานศึกษาและครูมีบทบาทในการจัดเตรียม อำนวยความสะดวก ให้ความช่วยเหลือแนะนำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้สำเร็จตามจุดมุ่งหมาย

         การเรียนรู้ด้วยตนเอง ควรดำเนินการ ดังนี้
         1). การวิเคราะห์และการกำหนดความต้องการในการเรียนรู้ โดยผู้เรียนควรคำนึงถึงความต้องการและความสนใจของตนเองเกี่ยวกับเนื้อหาที่จะเรียน
         2). การกำหนดจุดมุ่งหมายในการเรียนรู้ที่สามารถปฏิบัติได้จริง โดยผู้เรียนศึกษาจุดมุ่งหมายของรายวิชาแล้วเขียนจุดมุ่งหมายในการเรียน จุดมุ่งหมายควรเน้นถึงพฤติกรรมที่ผู้เรียนคาดหวังว่าจะเกิดขึ้น เป็นจุดมุ่งหมายที่สามารถวัดได้ และจุดมุ่งหมายของผู้เรียนในแต่ละระดับควรมีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด
         3). การวางแผนการเรียน โดยให้ผู้เรียนกำหนดแนวทางการเรียนของตนเองขึ้นมาเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของรายวิชา กำหนดเวลาการเรียน โดยกำหนดปริมาณเวลา(จำนวนชั่วโมง/จำนวนครั้ง) ที่ต้องการพบครูเพื่อขอคำปรึกษาแนะนำหรือให้ครูสอน กำหนดเวลาในการทำกิจกรรมกลุ่มร่วมกับผู้เรียนคนอื่น กำหนดเวลาที่ต้องการเรียนด้วยตนเอง พร้อมทั้งกำหนดว่ากิจกรรมการเรียนจะสิ้นสุดเมื่อใด
         4). การเลือกรูปแบบการเรียน/กิจกรรมการเรียนด้วยตนเอง/แหล่งวิทยากร/สื่อที่จะใช้ในการเรียนด้วยตนเอง เช่น อ่านหนังสือประกอบ ดูวีซีดี ศึกษาจากสื่อคอมพิวเตอร์ ศึกษาจากผู้รู้ แหล่งเรียนรู้ต่างๆ เช่น ห้องสมุด วัด สถานีอนามัย
         5). การกำหนดบทบาทของผู้ช่วยเหลือในการเรียน เนื่องจากบางครั้งผู้เรียนไม่สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้ทั้งหมด จึงจำเป็นต้องอาศัยความช่วยเหลือจากผู้อื่น เช่น เพื่อนร่วมเรียนเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน
         6). การกำหนดวิธีการประเมินผลการเรียน ควรเป็นการประเมินผลร่วมกันระหว่างครูกับผู้เรียน โดยครูและผู้เรียนร่วมกันตั้งเกณฑ์การประเมินผลร่วมกัน เลือกประเภทของการทดสอบ ลักษณะของการ Feedback ที่จะใช้

        การจัดทำสัญญาการเรียนรู้
         ในการเรียนรู้ด้วยตนเองนั้น สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การเรียนรู้เป็นไปตามเป้าหมาย คือ ผู้เรียนต้องมีการจัดทำข้อตกลงการเรียน หรือ สัญญาการเรียน ของตนเองให้ไว้กับครู เพื่อที่ครูจะได้ทราบความก้าวหน้าในการเรียนรู้ด้วยตนเองของผู้เรียนแต่ละคน
สัญญาการเรียน (Learning Contact) คือ ข้อตกลงที่ผู้เรียนได้ทำไว้กับครู ว่าเขาต้องปฏิบัติอย่างไรบ้างในการเรียนการสอน เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายของหลักสูตร
ในสัญญาการเรียน ผู้เรียนจะเป็นผู้เขียนเองโดยระบุว่า ต้องการเรียนเรื่องอะไร จะวัดว่าได้บรรลุตามความมุ่งหมายแล้วหรือไม่ อย่างไร มีหลักฐานการเรียนรู้อะไรบ้างที่บ่งบอกถึงผลการเรียนของผู้เรียนว่าผลการเรียนเป็นอย่างไร เมื่อเขียนเสร็จแล้วสำเนาส่งให้ครูเก็บไว้ 1 ชุด เพื่อติดตาม ตรวจสอบความก้าวหน้าในการเรียนของผู้เรียนแต่ละคน
แบบฟอร์มหรือตารางของการเขียนสัญญาการเรียน อาจประกอบด้วยหัวข้อต่อไปนี้
         1). จุดมุ่งหมาย เป็นส่วนที่ระบุว่า ผู้เรียนต้องการบรรลุผลสำเร็จในเรื่องอะไร อย่างไร
         2). แหล่งวิทยาการ/วิธีการเป็นส่วนที่ระบุว่า ผู้เรียนจะเรียนรู้ได้อย่างไรจากแหล่งความรู้ใด
         3). หลักฐาน เป็นส่วนที่มีสิ่งอ้างอิงหรือยืนยันเป็นรูปธรรม ที่แสดงให้เห็นว่า ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้แล้ว โดยเก็บรวบรวมเป็นแฟ้มสะสมงาน
         4). การประเมินผล เป็นส่วนที่ระบุว่า ผู้เรียนสามารถเกิดการเรียนรู้ในระดับใด

     3. การเรียนรู้แบบทางไกล
         เป็นการจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนจะเรียนรู้จากสื่อต่าง ๆ โดยผู้เรียนและครูจะสื่อสารกันทางสื่ออิเล็คทรอนิคส์เป็นส่วนใหญ่ มุ่งเน้นไปที่การเรียนรู้แบบ e-learning

       ข้อควรคำนึงในการเรียนรู้แบบทางไกล
         1. ผู้เรียนต้องมีเครื่องมือที่สามารถสื่อสาร และใช้อุปกรณ์ทางอิเล็คทรอนิกส์ได้ เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ ฯลฯ
         2. มีเวลาสื่อสารทางสื่ออิเลคทรอนิกส์ กับครูตามเวลาที่ได้ตกลงร่วมกันระหว่างครูกับผู้เรียน เช่น Chat room, E-mail, Web board, Blog, facebook ฯลฯ
         3. สถานศึกษาและครูมีบทบาทในการจัดเตรียมสื่อทางไกล หรือ อำนวยความสะดวกให้ความช่วยเหลือ แนะนำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้แบบทางไกลได้สำเร็จตามจุดมุ่งหมาย

         การเรียนรู้แบบทางไกล ควรดำเนินการ ดังนี้
            การศึกษาแนวทางการเรียนรู้แบบทางไกลจากสื่อต่าง ๆ
            การเรียนรู้จากสื่อทางไกลตามที่สถานศึกษากำหนด
            การประเมินความรู้ก่อนเรียนของตนเอง
            การศึกษาเนื้อหาสาระจากสื่อต่าง ๆ และส่งงานตามที่กำหนด
            การสื่อสารกับครูตามเวลาที่กำหนด เพื่อซักถาม นัดหมาย ขอคำปรึกษา ฯลฯ
            การประเมินความรู้หลังเรียนของตนเอง

     4. การเรียนรู้แบบชั้นเรียน
          เป็นการเรียนรู้ในลักษณะแบบห้องเรียน ที่สถานศึกษากำหนดรายวิชา เวลาเรียน และสถานที่ที่ชัดเจน ซึ่งการจัดการเรียนรู้นี้เหมาะสำหรับผู้เรียนที่มีเวลาเข้าชั้นเรียนสม่ำเสมอ

        
ข้อควรคำนึงในการเรียนรู้แบบชั้นเรียน
         1. สถานศึกษากำหนดสถานที่เรียน ตารางเรียนที่เหมาะสม
         2. มีการประชาสัมพันธ์สถานที่ วัน เวลา ครูผู้สอน ให้ผู้เรียนทราบทั่วกัน
         3. สถานศึกษาจัดหาสื่อ อุปกรณ์การเรียนการสอนเช่น เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เครื่องมืออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และ โสตทัศนูปกรณ์ ที่มีคุณภาพเหมาะสมกับการเรียนรู้แบบชั้นเรียน
         4. ผู้เรียนต้องมีเวลาเข้าชั้นเรียนตามที่กำหนดในตารางเรียน

        
การจัดกระบวนการเรียนรู้ 
         1. การจัดกระบวนการเรียนรู้ โดยมีครู/ผู้รู้/ ผู้เชี่ยวชาญในเนื้อหานั้น ๆ เป็นผู้ถ่ายทอดเนื้อหา ในการถ่ายทอดเนื้อหาของครูต้องเปิดโอกาสให้ผู้เรียนซักถาม แสดงความคิดเห็นได้ โดยเพิ่มการเขียนถาม/ตอบ หลังการบรรยาย รวมทั้งมีการจัดโอกาสให้ฝึกในห้องปฏิบัติการ และจัดเวลาการให้คำปรึกษา
         2. การจัดกระบวนการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับครู และผู้เรียนกับผู้เรียน โดยกระตุ้นให้ผู้เรียนตอบพร้อมกับใช้กิจกรรมลักษณะที่เน้นการสื่อสาร เช่น กิจกรรมคู่ กิจกรรมกลุ่ม และการจัดที่นั่งในชั้นเรียนต้องเหมาะสม เอื้อต่อการดำเนินกิจกรรม
         3. การจัดให้มีการปรับบทบาทผู้เรียน ใช้การแบ่งผู้เรียนเป็นกลุ่มเล็ก ๆ โดยที่แต่ละกลุ่มจะได้รับมอบหมายงานให้ปฏิบัติ ในการจัดการเรียนการสอนครูจะสอดแทรกกิจกรรม 3 ลักษณะ คือ กิจกรรมที่เน้นการให้ผู้เรียนได้รับข้อมูล/ข้อเท็จจริง กิจกรรมที่ให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยการได้ลงมือปฏิบัติ/สังเกต และกิจกรรมการสะท้อนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้เรียนและครู
         4. การติดตามและช่วยเหลือผู้เรียน โดยอาจใช้กระบวนการติดตามช่วยเหลือโดยเพื่อน/กลุ่มเพื่อน จัดให้มีการปรึกษาหารือกันระหว่างครูกับผู้เรียน ใช้ผู้ช่วยสอน ใช้ระบบหัวหน้ากลุ่มผู้เรียน ใช้แฟ้มสะสมผลงาน ใช้การเรียนแบบทีม ใช้ e-mail, discussion boards และ internet เป็นต้น
         การเรียนรู้แบบต่าง ๆ  ดังกล่าวข้างต้น สถานศึกษาและผู้เรียนจะร่วมกันกำหนด โดยในแต่ละรายวิชาจะเลือกการเรียนรู้แบบใดแบบหนึ่งหรือหลายแบบก็ได้ ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของเนื้อหาในรายวิชานั้น ๆ โดยให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและการทำงานของผู้เรียน รวมทั้งขึ้นอยู่กับความพร้อมของสถานศึกษาด้วย และสถานศึกษาสามารถจัดให้มีการสอนเสริมได้ในทุกรูปแบบการเรียนรู้ เพิ่มเติมเต็มความรู้ให้บรรลุมาตรฐานการเรียนรู้

กิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต (กพช.)

        กิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต (กพช.) เป็นกิจกรรมที่เป็นองค์ประกอบสำคัญส่วนหนึ่งในโครงสร้างที่กำหนดไว้ในหลักเกณฑ์ และวิธีการจัดการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ได้กำหนดสาระการเรียนรู้เป็น 5 กลุ่มสาระ ได้แก่ สาระทักษะการเรียนรู้ สาระความรู้พื้นฐาน สาระการประกอบอาชีพ สาระทักษะการดำเนินชีวิต สาระการพัฒนาสังคม และกำหนดให้ผู้เรียนต้องทำกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต จำนวนไม่น้อยกว่า 100 ชั่วโมง เป็นเงื่อนไขในการจบหลักสูตร โดยเน้นให้ผู้เรียนนำข้อมูล ความรู้และประสบการณ์ มาฝึกทักษะการคิด การวางแผนปฏิบัติการ ที่จะส่งผลต่อการจัดกิจกรรมการพัฒนาตนเอง   ครับครัว  ชุมชน  และสังคม  เพื่อให้ดำรงอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข

หลักการ
        1. สถานศึกษาจัดให้มีการลงทะเบียนกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตในภาคเรียนแรก เพื่อทำความเข้าใจ ให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความรู้พื้นฐานของกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต จนเกิดความตระหนัก และเห็นความสำคัญของกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต สามารถเขียนโครงการและดำเนินการตามโครงการได้
        2. สถานศึกษาให้ผู้เรียนเสนอโครงการกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต และวางแผนการเรียนรู้ร่วมกับครู และทำกิจกรรมไม่น้อยกว่า 100 ชั่วโมง โดยให้ผู้เรียนเสนอโครงการได้ตลอดเวลาในทุกภาคเรียน เมื่อมีการวางแผน ประสานงาน และมีความพร้อมจะจัดทำโครงการ ทั้งนี้ให้เป็นไปตามแนวทาง ขั้นตอนที่สถานศึกษากำหนด
        3. กิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นกิจกรรมที่มีเจตนารมณ์ให้มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองอยู่ตลอดเวลาอย่างหลากหลายให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม สิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมีอยู่ในวิถีการดำเนินชีวิตของตนตลอดเวลา จึงต้องมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงไม่อนุญาตให้มีการเทียบโอน
        4. ผู้เรียนมีอิสระในการเลือกทำกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตตามความพร้อม ความถนัดหรือตามความสนใจ
        5. การทำกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต จะปฏิบัติเป็นกลุ่ม หรือเป็นรายบุคคลก็ได้
        6. การประเมินค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้ประเมินจากการทำกิจกรรมที่ผู้เรียนเสนอโครงการไว้ในแต่ละภาคเรียน โดยเน้นการประเมินแบบมีส่วนร่วม
        7. กิจกรรมที่ได้รับการประเมินค่าแล้ว หากผู้เรียนประสงค์จะทำกิจกรรมในลักษณะเดิมอีก ต้องเสนอโครงการใหม่ที่ชี้ให้เห็นพัฒนาการของกิจกรรม

วัตถุประสงค์
        1. เพื่อให้ผู้เรียนมีโอกาสใช้กระบวนการกลุ่มแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ โดยฝึกทักษะการคิด การแก้ปัญหา และความมีเหตุผล
        2. เพื่อปลูกฝังให้ผู้เรียนมีคุณธรรม จริยธรรมและสามารถอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
        3. เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาตนเองและมีส่วนร่วมในการพัฒนา   ครอบครัว  ชุมชน และสังคม  ทำให้เกิดความรู้สึกผูกพัน เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและสังคม

องค์ประกอบกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต

        กิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตประกอบด้วย
         1. ต้องมีความรู้พื้นฐาน เป็นกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีขอบข่ายเนื้อหาเกี่ยวกับ
            - โครงสร้างและประโยชน์ของ กพช.
            - แนวทางการพัฒนาตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคม
            - กระบวนการกลุ่ม
            - กระบวนการคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น และการนำไปใช้ในการดำเนินชีวิต
            - การประสานเครือข่าย
            - การเป็นผู้นำ ผู้ตาม
            - การวางแผน และประโยชน์ของการวางแผน
            - มนุษยสัมพันธ์
            - การเขียนโครงการ
         2. กิจกรรมโครงการ
            เป็นกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริงในการทำกิจกรรม โครงการที่เกี่ยวกับการพัฒนาตนเอง ครอบครัว ชุมชนและสังคม

ลักษณะกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต (กพช.)
         ลักษณะการจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต แบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้
            1. กิจกรรมการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะชีวิตของตนเอง และครอบครัว โดยใช้กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมของผู้เรียน ดังตัวอย่างต่อไปนี้   เช่น
                - ด้านสุขภาพกาย/จิต เช่น  โครงการ กศน.ไร้พุง
                - ด้านคุณธรรม จริยธรรม เช่น  โครงการสมัคคีสร้างสุข โครงการคุณธรรมนำชีวิต โครงการ 1 ตำบล 1 วัด
                - ด้านเศรษฐกิจพอเพียง เช่น  โครงการรู้รับ  รู้จ่าย  รู้ได้  รู้เก็บ
                - ด้านการพัฒนาตนเอง ในด้านต่างๆ เช่น  โครงการพัฒนาบุคลิกภาพ
                - ด้านยาเสพติด เช่น  โครงการครอบครัวอบอุ่น
                - ด้านเพศศึกษา เช่น  โครงการพ่อแม่รู้ใจ  วัยรุ่นรู้ทัน
                - ด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เช่น  โครงการเตรียมตัวเตรียมใจรับภัยธรรมชาติ

ประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณา
         1)  ประโยชน์ที่ตนเอง/ครอบครัวได้รับ เป็นกิจกรรมที่สามารถสร้าง /พัฒนาทักษะการดำเนินชีวิตได้ ตนเอง/ครอบครัวอยู่ได้อย่างมีความสุข
         2)  การมีส่วนร่วมของผู้เรียนและครอบครัว เป็นกิจกรรมที่ดำเนินการแล้วผู้เรียนและครอบครัวเห็นความสำคัญและให้ความร่วมมือ
         3)  การใช้กระบวนการกลุ่ม เป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินงาน มีการประสานงาน   ความรับผิดชอบ เสียสละและจิตบริการ
         4)  ความเหมาะสมในการใช้ระยะเวลาในการปฏิบัติงานตามโครงการ
         5)  ปัจจัยที่เอื้อต่อความสำเร็จ ได้แก่  ความรู้ แหล่งข้อมูล  วัสดุ  งบประมาณ  และการเลือกใช้ทรัพยากรได้อย่างเหมาะสม  ประหยัด
         6)  ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เป็นการคิดสิ่งใหม่ๆ  ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเอง/ครอบครัว

     ตัวอย่างกิจกรรม กพช. ที่มุ่งเน้นการพัฒนาชุมชน และสังคม โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน 
         -  ด้านการพัฒนาชุมชนและสังคม เช่น โครงการอาสาสมัคร ลูกเสือ ยุวกาชาด/ชมรมอาสายุวกาชาดนอกโรงเรียน
         -  ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการลดโลกร้อนด้วยมือเรา โครงการหน้าบ้านน่ามอง โครงการอนุรักษ์ป่า ไม้แม่น้ำลำคลอง
         -  ด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมและประเพณี เช่น  โครงการอนุรักษ์  รักวัฒนธรรม
         -  ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นและแหล่งเรียนรู้ เช่น  โครงการคลังสมองร่วมพัฒนาชุมชน
         -  ด้านประชาธิปไตย เช่น โครงการเรียนรู้ประชาธิปไตยใส่ใจรักษาสิทธิ
         -  ด้านการสนับสนุนส่งเสริมงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย   เช่น  โครงการบรรณารักษ์อาสา

ประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณา

         1)  ประโยชน์ที่ชุมชนและสังคมจะได้รับหรือเป็นบริการที่ช่วยส่งเสริม หรือพัฒนาคุณภาพชีวิตทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง ตลอดจนสนับสนุนการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยและอื่น ๆ ที่ตอบสนองนโยบายการพัฒนาประเทศ
         2)  การมีส่วนร่วมของคนในชุมชน เป็นกิจกรรมที่ดำเนินการแล้วคนในชุมชนเห็นความสำคัญและให้ความร่วมมือ ทั้งด้านความคิด แรงงาน วัสดุอุปกรณ์และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
         3)  การใช้กระบวนการกลุ่ม เป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดความร่วมมือในการทำงาน การช่วยกันคิดการประสานงานและแบ่งความรับผิดชอบ ทำให้เกิดความสามัคคี เสียสละ จิตบริการตามวิถีประชาธิปไตย
         4)  การใช้ระยะเวลาในการปฏิบัติงาน เป็นกิจกรรมที่ใช้เวลาในการปฏิบัติงานให้มีความเหมาะสมกับกิจกรรมโครงการที่นำเสนอ
         5)  ปัจจัยที่เอื้อต่อความสำเร็จในการจัดกิจกรรม เช่น บุคลากร วัสดุ งบประมาณ และการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนให้เป็นไปอย่างประหยัด และประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม
         6)  มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เป็นการคิดสิ่งใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์และทำให้เกิดการพัฒนาชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม ตลอดจนสามารถพัฒนาได้อย่างต่อเนื่องและอย่างยั่งยืน

กระบวนการดำเนินงานกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต (กพช.)

         1.  ผู้เรียนลงทะเบียนกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต
         2.  ครูให้ความรู้พื้นฐาน และให้แนวทางการทำกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต
         3.  ผู้เรียนยื่นคำร้องขอทำกิจกรรม และเสนอโครงการตามแบบที่กำหนด
         4.  ประสานงานกับบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการทำกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต
         5.  สถานศึกษาแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินโครงการ
         6.  ผู้เรียนดำเนินการตามโครงการที่ได้รับอนุมัติพร้อมบันทึกการปฏิบัติงานเป็นรายบุคคลโดยอยู่ในการกำกับดูแลของครูที่ปรึกษาโครงการ
         7.  คณะกรรมการประเมินโครงการ นิเทศติดตามผลการดำเนินงานและประเมินผล
         8.  ผู้เรียนจัดทำเอกสารรายงานผลการดำเนินงานตามโครงการส่งสถานศึกษาเมื่อสิ้นสุดโครงการ
         9.  คณะกรรมการประเมินค่าผลสำเร็จของโครงการเป็นจำนวนชั่วโมงกิจกรรม
       10.  สถานศึกษา และผู้เรียนบันทึกผลจำนวนชั่วโมงที่ทำกิจกรรม กพช.ไว้เป็นหลักฐาน

บทบาทหน้าที่ของผู้เรียน
         1.  ลงทะเบียนทำกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต
         2.  ศึกษา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำความเข้าใจและประเมินตนเองในด้านความรู้พื้นฐาน
         3.  ร่วมประชุมวางแผนการทำกิจกรรม พัฒนาคุณภาพชีวิต
         4.  ยื่นคำร้องและเสนอโครงการกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต
         5.  ผู้เรียนดำเนินกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตตามโครงการที่ได้รับอนุมัติแล้ว
         6.  จัดทำเอกสารรายงานผลการปฏิบัติงานตามโครงการต่อครูที่ปรึกษาตามแผนและระยะเวลาที่สถานศึกษากำหนด โดยผู้เรียนต้องจัดทำรายงานผลการดำเนินงานโครงการดังตัวอย่างเอกสารในภาคผนวก

ขั้นตอนการทำกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต
         1. ผู้เรียนที่ยื่นคำร้องแสดงความจำนงขอทำกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต
         2. แนบโครงการที่เขียนแล้ว พร้อมทั้งแบบคำร้อง แสดงความจำนงขอทำกิจกรรมพัฒนา คุณภาพชีวิตเพื่อขออนุมัติโครงการต่อสถานศึกษา โครงการประกอบด้วยรายละเอียดดังต่อไปนี้
             2.1. ชื่อโครงการ
             2.2. หลักการและเหตุผล 
                   - บอกเหตุผลและความจำเป็นหรือความสำคัญของโครงการ
             2.3. วัตถุประสงค์
                   - ระบุว่าโครงการนี้ทำเพื่ออะไร เกิดประโยชน์อย่างไร
             2.4. ขั้นตอนการดำเนินงาน
                   - บอกวิธีการทำงานว่าขั้นตอนอย่างไร ตั้งแต่เริ่มทำโครงการจนสิ้นสุดโครงการ
             2.5. สถานที่ดำเนินงาน
                   - ระบุสถานที่ที่จะดำเนินการ
             2.6. ระยะเวลา
                   - ระบุว่า โครงการที่จะปฏิบัตินั้นเริ่มและสิ้นสุดวันใด
             2.7. งบประมาณ
                   - ตั้งงบประมาณหรือองค์ประกอบที่จะทำให้โครงการบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย เช่น วัสดุ แรงงาน
             2.8. ผู้รับผิดของโครงการ
                   - ระบุผู้รับผิดชอบโครงการว่ามีใครบ้าง กี่คน
             2.9. ผลที่คาดว่าจะได้รับ
                   - ระบุว่าจากการทำโครงการนั้น คาดว่าจะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง
         3. เมื่อสถานศึกษาอนุมัติโครงการแล้ว ให้ผู้เรียนนำโครงการดังกล่าวมาดำเนินงานโดยอยู่ในการกำกับดูแลของครู และคณะกรรมการ
         4. เมื่อดำเนินงานเสร็จสิ้นแล้ว ก็ให้จัดทำรายงานการดำเนินงานต่อสถานศึกษา เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณา และประเมินผลสำเร็จของโครงการ

การประเมินผลสำเร็จของโครงการกิจกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิต (กพช.)
       การประเมินผลสำเร็จของโครงการกิจกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิต(กพช.) ที่ผู้เรียนได้ปฏิบัติเสร็จสิ้นแล้วนั้น ให้พิจาณาตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนด

การประเมินผล
       การประเมินผลการทำกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต แบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้
       1.  การประเมินตนเอง เป็นการประเมินผลการเรียนรู้และการเข้าร่วม/ทำกิจกรรมตามแบบที่กำหนด (ตัวอย่างแบบประเมินตนเองในภาคผนวก) หรือให้ความรู้นั้นๆ  เพิ่มเติมจนผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจ
       2.  การประเมินผลโครงการ ให้คณะกรรมการประเมินกิจกรรมเป็นผู้พิจารณาและประเมินผลการปฏิบัติตามแบบประเมินที่กำหนด
       3.  เกณฑ์การพิจารณาการประเมินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต ผู้เรียนต้องได้คะแนนรวมไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 จึงจะถือว่าผ่าน

เกณฑ์การผ่านกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต (กพช.)
       1.  ผู้เรียนต้องเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ และปฏิบัติโครงการรวมไม่น้อยกว่า 100 ชั่วโมง 
       2.  โครงการต้องบรรลุวัตถุประสงค์โดยชิ้นงาน ร่องรอยและ/หรือเอกสารรายงานมาแสดง


สื่อการเรียนรู้
       ในการจัดการเรียนรู้   ผู้เรียนจะได้รับสื่อเอกสารประกอบการเรียนที่สถานศึกษาจัดให้ยืมเรียน นอกจากนั้นผู้เรียนยังต้องแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง โดยการใช้สื่อการเรียนรู้ที่หลากหลาย   ได้แก่  สื่อสิ่งพิมพ์  สื่ออิเล็กทรอนิกส์  สื่อบุคคล ภูมิปัญญา แหล่งเรียนรู้ที่มีอยู่ในท้องถิ่น ชุมชน และแหล่งเรียนรู้อื่น ๆ ผู้เรียน  ครู  สามารถพัฒนาสื่อการเรียนรู้ขึ้นเอง  หรือนำสื่อต่างๆ ที่มีอยู่ใกล้ตัวและข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวข้องมาใช้ในการเรียนรู้ โดยใช้วิจารณญาณในการเลือกใช้สื่อต่างๆ  ที่มีอยู่ใกล้ตัว และข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวข้องมาใช้ในการเรียนรู้ โดยใช้วิจารญาณในการเลือกใช้สื่อต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างมีคุณค่า   น่าสนใจ  ชวนคิด  ชวนติดตาม  เข้าใจง่าย เป็นการกระตุ้นให้ผู้เรียนรู้จัดวิธีการแสวงหาความรู้เกิดการเรียนรู้อย่างกว้างขวางลึกซึ้ง และต่อเนื่องตลอดเวลา

การวัดผลประเมินผลการเรียน 
        การวัดและประเมินผลการเรียนตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช  2551  มี 2 ลักษณะได้แก่ 
        1. การวัดและประเมินผลรายวิชา  สถานศึกษาดำเนินการประเมินผลรายวิชาดังนี้ 
              1.1. การวัดและประเมินผลก่อนเรียน  เป็นการตรวจสอบความรู้ ทักษะและความพร้อมต่าง ๆ ของผู้เรียนเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับสภาพความพร้อมและความรู้พื้นฐานของผู้เรียน 
              1.2.  การวัดและประเมินผลระหว่างภาคเรียน   สถานศึกษาดำเนินการประเมินผลระหว่างภาคเรียนเพื่อทราบความก้าวหน้าทั้งด้านความรู้  ทักษะ เจตคติ และพฤติกรรมการเรียนการร่วมกิจกรรมและผลงาน อันเป็นผลมาจากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้   รายละเอียดของคะแนนระหว่างภาค ประกอบด้วย
                  1).  การให้ความร่วมมือกับสถานศึกษา  หมายถึง การที่ผู้เรียนมีส่วนร่วมใน 
กิจกรรมต่างๆ ของสถานศึกษา เช่น การร่วมเดินรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด การเข้าร่วมในวันสำคัญ ร่วมกิจกรรมของสถานศึกษา เป็นต้น
                  2).  ผลงานที่กำหนดเป็นร่องรอยในแฟ้มสะสมงาน 
                  3).  การแสดงออกและการมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้  หมายถึง การร่วมอภิปรายการช่วยงานกลุ่ม การตอบคำถาม 
              1.3.  การวัดผลประเมินผลปลายภาคเรียน  มีวัตถุประสงค์เพื่อทราบผลการเรียนรู้โดยรวมของผู้เรียนในแต่ละรายวิชา  โดยใช้เครื่องมือ เช่น แบบทดสอบปรนัย แบบทดสอบอัตนัย แบบประเมินการปฏิบัติ เป็นต้น 
การวัดและประเมินผลปลายภาคเรียนนั้น  ผู้เรียนที่จะผ่านการประเมินรายวิชาใด  จะต้องเข้าสอบปลายภาคเรียนและมีคะแนนปลายภาคเรียนรวมกับคะแนนระหว่างภาคเรียนผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำตามเกณฑ์ที่สำนักงาน กศน. กำหนด                      
              1.4 การตัดสินผลการเรียนรายวิชา 
                การตัดสินผลการเรียนรายวิชา  ให้นำคะแนนระหว่างภาคเรียนมารวมกับคะแนนปลายภาคเรียน  และจะต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ  50  จึงจะถือว่าผ่านการเรียนในรายวิชานั้น 
                ทั้งนี้  ผู้เรียนต้องเข้าสอบปลายภาคเรียนด้วย  แล้วนำคะแนนไปเปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนดโดยให้ค่าระดับผลการเรียนเป็น  8 ระดับ ดังนี้ 
           

          ได้คะแนนร้อยละ 80-100 ให้ระดับ   4 หมายถึง ดีเยี่ยม
          ได้คะแนนร้อยละ 75-79 ให้ระดับ 3.5   หมายถึง ดีมาก
          ได้คะแนนร้อยละ 70-74 ให้ระดับ 3   หมายถึง
          ได้คะแนนร้อยละ 65-69 ให้ระดับ 2.5   หมายถึง ค่อนข้างดี
          ได้คะแนนร้อยละ 60-64 ให้ระดับ 2   หมายถึง ปานกลาง
          ได้คะแนนร้อยละ 55-59   ให้ระดับ  1.5 หมายถึง พอใช้
          ได้คะแนนร้อยละ 50-54 ให้ระดับ 1   หมายถึง ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนด
          ได้คะแนนร้อยละ 0-49 ให้ระดับ 0   หมายถึง ต่ำกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนด

 

              กรณีผู้เรียนมีผลการเรียนต่ำกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนด  ให้ดำเนินการพัฒนาผู้เรียนในรายวิชาที่ได้ค่าระดับผลการเรียนไม่ผ่านเกณฑ์  ด้วยวิธีการที่หลากหลาย เช่น การสังเกต การสัมภาษณ์ การประเมินการปฏิบัติจริง  ทดสอบย่อย ประเมินจากกิจกรรม  โครงงาน หรือแบบฝึกหัด เป็นต้น  โดยเลือกให้สอดคล้องและเหมาะสมกับธรรมชาติของรายวิชา  ถ้าผู้เรียนสามารถผ่านเกณฑ์การประเมินผลการเรียนรู้ที่คาดหวังแล้ว  ให้ระดับผลการเรียนใหม่  โดยให้ค่าระดับผลการเรียนไม่เกิน  1  สำหรับผู้เรียนที่ปรับปรุงพัฒนาแล้ว  ไม่ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำ  ให้ลงทะเบียนซ้ำในรายวิชาเดิมหรือเปลี่ยนรายวิชา  ทั้งนี้ให้เป็นไปตามโครงสร้างหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช  2551  และดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนปิดการลงทะเบียนเรียนในภาคเรียนถัดไป 

              1.5 การขอเลื่อนสอบปลายภาค 
                ในกรณีที่ผู้เรียนมีเหตุสุดวิสัย  หรือมีเหตุจำเป็นฉุกเฉินไม่สามารถเข้าสอบปลายภาคเรียนตามวัน เวลา ตามที่กำหนด  ผู้เรียนสามารถยื่นคำร้องขอเลื่อนสอบต่อสถานศึกษา  โดยชี้แจงเหตุผลความจำเป็นพร้อมทั้งแสดงหลักฐาน  ทั้งนี้สถานศึกษาจะต้องขอเลื่อนสอบต่อผู้มีอำนาจต่อไป

              1.6 การประเมินสอบซ่อม
                 ผู้ที่มีสิทธิ์เข้ารับการประเมินซ่อม  คือ ผู้เรียนที่เข้าสอบปลายภาคเรียน  แต่ผลการประเมินไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินผลรายวิชา  โดยให้ผู้เรียนเข้ารับการประเมินซ่อมตาม วัน เวลา สถานที่และวิธีที่สถานศึกษาหรือต้นสังกัดกำหนด  และให้ค่าระดับผลการเรียนไม่เกิน  1
 

        2. การประเมินกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต
 
                 การประเมินกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต (กพช.) เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ผู้เรียนทุกคนจะต้องได้รับการประเมินตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด  โดยผู้เรียนจะต้องทำกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตไม่น้อยกว่า 100 ชั่วโมง  จึงจะได้รับการพิจารณาอนุมัติให้จบหลักสูตรในแต่ละระดับการศึกษา
                                        

        3.  การประเมินคุณธรรม  
                 ป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ผู้เรียนทุกคนต้องได้รับการประเมินตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด  จึงจะได้รับการพิจารณาให้จบหลักสูตรในแต่ละระดับการศึกษา  โดยคณะกรรมการวัดและประเมินผลของสถานศึกษาพิจารณาคุณธรรมเบื้องต้น  ที่สำนักงาน กศน. กำหนด  ทั้งนี้สถานศึกษาสามารถกำหนดเพิ่มเติมได้  โดยเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษาและประกาศให้ผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบและมีส่วนร่วมในการประเมินคุณธรรม 
                 กรอบของคุณธรรม  เบื้องต้นที่สำนักงาน กศน. กำหนดเพื่อใช้เป็นหลักในการประเมิน มีจำนวน 9 คุณธรรม ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช  2551  แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 
                 กลุ่มที่  1 คุณธรรมเพื่อการพัฒนาตน ประกอบด้วย
                         1. สะอาด 
                         2. สุภาพ 
                         3. กตัญญูกตเวที 

                 กลุ่มที่ 2  คุณธรรมเพื่อการพัฒนาการทำงาน ประกอบด้วย 
                         4. ขยัน 
                         5. ประหยัด 
                         6. ซื่อสัตย์ 

                 กลุ่มที่ 3  คุณธรรมเพื่อการพัฒนาการอยู่ร่วมกันในสังคม ประกอบด้วย 
                         7. สามัคคี 
                         8. มีน้ำใจ 
                         9. มีวินัย 

                 บทบาทของผู้เรียนในการประเมินคุณธรรมคือ 
                         1.  ศึกษาพฤติกรรมบ่งชี้ของคุณธรรมแต่ละด้าน 
                         2.  ฝึกปฏิบัติ พัฒนาตนเองให้มีคุณธรรมตามพฤติกรรมบ่งชี้ 
                         3.  รวบรวมหลักฐานเพื่อแสดงถึงการประพฤติปฏิบัติตามคุณธรรมด้านต่าง ๆ 
                         4.  ประเมินตนเองตามแบบประเมินคุณธรรม 
                         5.  ส่งแบบประเมินตนเองพร้อมหลักฐานให้ครู 


พฤติกรรมบ่งชี้ของผู้เรียนในด้านคุณธรรม

                 พฤติกรรมบ่งชี้  เป็นข้อกำหนดเชิงพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นว่าการปฏิบัติดังกล่าวสอดคล้องกับคุณธรรม  จัดทำขึ้นเป็นแนวทางให้สถานศึกษาใช้เป็นข้อมูลในการประเมินคุณธรรมผู้เรียน  สถานศึกษาสามารถปรับหรือเพิ่มเติมพฤติกรรมบ่งชี้ดังกล่าวให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้เรียนได้โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

 
       
 



ระยะเวลาการประเมิน
         1.  ดำเนินการประเมินคุณธรรมผู้เรียนระหว่างภาคเรียนและสรุปผลการประเมินเมื่อสิ้นสุดภาคเรียน  เพื่อนำผลการประเมินมาใช้ในการพัฒนาคุณธรรมผู้เรียนในภาคเรียนถัดไป
         2.  ดำเนินการประเมินคุณธรรมต่อเนื่องทุกภาคเรียนจนจบการศึกษาแต่ละระดับ  ซึ่งสถานศึกษาจะเห็นพัฒนาการคุณธรรมของผู้เรียนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มเข้าเรียนจนจบการศึกษา
         3. สถานศึกษาพึงแจ้งผลการประเมินในระหว่างภาคเรียนให้ผู้เรียนทราบถึงระดับผลการประเมินที่ตนเองได้รับ  และสถานศึกษาต้องเสนอแนะ  หรือจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้พัฒนาตนเองให้บรรลุตามเกณฑ์ที่กำหนด

เกณฑ์การประเมิน
       การประเมินคุณธรรม  กำหนดเกณฑ์การประเมินเป็น  4 ระดับ คือ
         ดีมาก            หมายถึง        ผู้เรียนมีพฤติกรรมตามตัวบ่งชี้   ร้อยละ 90 ขึ้นไปของ พฤติกรรมบ่งชี้ในแต่ละคุณธรรม
         ดี                   หมายถึง        ผู้เรียนมีพฤติกรรมตามตัวบ่งชี้   ร้อยละ 70-89 ของพฤติกรรมบ่งชี้ในแต่ละคุณธรรม
         พอใช้            หมายถึง        ผู้เรียนมีพฤติกรรมตามตัวบ่งชี้   ร้อยละ 50-69 ของพฤติกรรมบ่งชี้ในแต่ละคุณธรรม 
         ปรับปรุง        หมายถึง        ผู้เรียนมีพฤติกรรมตามตัวบ่งชี้   ร้อยละ 0-49 ของพฤติกรรมบ่งชี้ในแต่ละคุณธรรม

       

การสรุปผลการประเมิน
       การสรุปผลการประเมินคุณธรรม  ใช้ผลการประเมินในภาคเรียนสุดท้ายที่ผู้เรียนจบการศึกษาเพื่อนำผลการประเมินไปประกอบการศึกษาต่อหรือเพื่อประโยชน์อื่น
       ในกรณีที่ผู้เรียนย้ายสถานศึกษา  ให้สถานศึกษาจัดทำรายละเอียดผลการประเมินในแต่ละภาคเรียนแนบพร้อมกับระเบียนแสดงผลการเรียน

แบบประเมิน
     แบบประเมินคุณธรรมผู้เรียน มี  2 แบบ
       แบบ 1 แบบประเมินคุณธรรมตามพฤติกรรมบ่งชี้รายภาคเรียน  ใช้สำหรับบันทึกผลการประเมินผู้เรียนเป็นรายบุคคลในแต่ละภาคเรียน
       แบบ 2 แบบรายงานผลการประเมินคุณธรรม ใช้เป็นหลักฐานมอบให้ผู้เรียนเมื่อสำเร็จการศึกษา  เพื่อผู้เรียนนำไปใช้ประกอบการศึกษาหรือประโยชน์อื่น 







การประเมินคุณภาพการศึกษานอกระบบระดับชาติ
       
สถานศึกษาจะต้องจัดให้ผู้เรียนทุกคนที่เรียนในภาคเรียนสุดท้ายของทุกระดับการศึกษา  ได้แก่ ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย เข้ารับการประเมินคุณภาพการศึกษานอกระบบระดับชาติ ในสาระการเรียนรู้ ตามที่สำนักงาน กศน. กำหนด  การประเมินคุณภาพการศึกษานอกระบบระดับชาติไม่มีผลต่อการได้หรือตกของผู้เรียน    แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำข้อมูลที่ได้จากการประเมินไปใช้ในการวางแผนปรับปรุงและพัฒนาผู้เรียน และการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนของสถานศึกษา  รวมทั้งเป็นข้อมูลในการส่งเสริมสถานศึกษาในด้านวิชาการและด้านอื่น ๆ ให้มีคุณภาพใกล้เคียงกัน


 



เข้าชม : 7571
 
 
กศน.ตำบลปากน้ำ
ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเมืองกระบี่

ที่ทำการชุมชนปานุราช (วัดปานุราช) ถนนชัยกูล  ตำบลปากน้ำ  อำเภอเมือง  จังหวัดกระบี่  โทรศัพท์ 085-9270990
 
Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05HD  Update by   นายบุญมา มาดี