[x] ปิดหน้าต่างนี้
 
 
 

อวสาน ‘บ้านหนังสืออัจฉริยะ’ เปลี่ยนใหม่สู่ ‘บ้านหนังสือชุมชน’


              การส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านในพื้นที่ต่างจังหวัดทั่วประเทศไทย เป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง หน่วยงานอย่างสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ก็เป็นหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง
                การเปลี่ยนรูปแบบและชื่อของสถานที่การอ่านหนังสือของชุมชนจาก บ้านหนังสืออัจฉริยะ’ ที่ก่อตั้งในปี 2556 มาเป็น บ้านหนังสือชุมชน’ เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาดูกระบวนการเปลี่ยนผ่านตรงนี้ และการก้าวไปข้างหน้า จะส่งเสริมการอ่านของคนในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศไทยได้อย่างไร?
 
กำเนิด บ้านหนังสืออัจฉริยะ
บ้านหนังสืออัจฉริยะ’ สำหรับโครงการบ้านหนังสืออัจฉริยะในช่วงแรก มีเป้าหมายจัดตั้งบ้านหนังสืออัจฉริยะรวม  41,800  แห่งจาก 80,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ แบ่งเป็น พื้นที่ปกติ 40,000 แห่ง และพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลาอีก 1,800 แห่ง รวมทั้งห้องสมุดประชาชน เฉลิมราชกุมารี’ 87 แห่ง เพื่อเป็นการส่งเสริมการอ่าน เปิดโอกาสให้ประชาชนในหมู่บ้านได้มีหนังสืออ่านมากขึ้น
โดยกระทรวงศึกษาธิการได้สนับสนุนงบประมาณแห่งละ 11,500 บาท เพื่อจัดซื้อหนังสือ ประกอบด้วยหนังสือพิมพ์รายวันๆ ละ 2 ฉบับต่อแห่ง วารสาร/นิตยสารรายสัปดาห์เดือนละ 4 ฉบับ วารสาร/นิตยสารรายปักษ์เดือนละ 2 ฉบับ รวมทั้งหนังสือเรียน นวนิยาย เพื่อให้ประชาชนได้ติดตามข่าวสาร ความเคลื่อนไหวของประเทศได้ตลอดเวลา และจัดหาหนังสือที่มีความหลากหลายเพื่อให้ประชาชนได้เลือกอ่านตามความต้องการ นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งจัดกิจกรรมต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมการอ่านหนังสือ ก่อให้เกิดประโยชน์จากการอ่าน เกิดรายได้ และส่งเสริมความรู้ด้านการประกอบอาชีพ เช่น การอ่านหนังสือธรรมะ มีกิจกรรมนั่งวิปัสสนา นั่งสมาธิ หนังสือสิ่งประดิษฐ์ มีกิจกรรมสร้างรายได้จากการทำสิ่งประดิษฐ์ เป็นต้น
สำหรับโครงการบ้านหนังสืออัจฉริยะ จัดขึ้นตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2552 โดยเห็นชอบให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ กำหนดให้วันที่ 2 เมษายนของทุกปีเป็นวันรักการอ่าน และกำหนดให้ พ.ศ.2552-2561 เป็นทศวรรษแห่งการอ่าน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการโดย กศน.ในฐานะเจ้าภาพหลักในการดำเนินงาน ได้กำหนดยุทธศาสตร์ส่งเสริมการอ่านเพื่อขับเคลื่อน 3 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ การพัฒนาคนไทยให้มีความสามารถในการอ่าน การพัฒนาคนไทยให้มีนิสัยรักการอ่าน และการสร้างบรรยากาศสิ่งแวดล้อมในการอ่านให้ยั่งยืน ซึ่งโครงการบ้านหนังสืออัจฉริยะมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมนิสัยรักการอ่านให้กับประชาชนโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร และเพื่อสร้างโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงแหล่งเรียนรู้โดยจัดตั้งบ้านหนังสืออัจฉริยะให้เป็นธนาคารความรู้ใกล้บ้าน และมีข้อมูลข่าวสารใกล้ตัวให้ประชาชนเข้าถึงได้โดยง่าย
ทั้งนี้ ทำเลของการจัดตั้งบ้านหนังสืออัจฉริยะจะต้องอยู่ศูนย์กลางของหมู่บ้าน เช่น ร้านกาแฟ ร้านน้ำชา ร้านค้า บ้านผู้มีจิตศรัทธา บ้านผู้นำชุมชน อาคารอเนกประสงค์ ศาลากลางบ้าน สหกรณ์ประจำหมู่บ้าน โดยมีอาสาสมัครส่งเสริมการอ่าน เป็นผู้ที่มีจิตอาสาช่วยเหลืองานส่งเสริมการอ่าน รักการอ่าน และมีภูมิลำเนาอยู่ในหมู่บ้านนั้นๆ
 
เปลี่ยนเป็น บ้านหนังสือชุมชน
 เมื่อกลางปี 2558 ที่ผ่านมา มีการประกาศปรับรูปแบบบ้านหนังสืออัจฉริยะใหม่ เมื่อนายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เปิดเผยความคืบหน้ากรณีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำหนังสือถึงกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้ทบทวนโครงการบ้านหนังสืออัจฉริยะ เนื่องจากพบว่าภารกิจของโครงการซ้ำซ้อนกับที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้านขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยได้มีการลงพื้นที่ติดตามดูการดำเนินการจริงของโครงการ พบว่าผู้นำชุมชนและชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์จากบ้านหนังสืออัจฉริยะ และเป็นสถานที่ทำกิจกรรมส่งเสริมการอ่านให้กับชุมชนใน ส่วนเรื่องการจัดส่งหนังสือพิมพ์ที่แม้จะมีปัญหาล่าช้าบ้างแต่ชาวบ้านก็ยังต้องการที่จะให้จัดหาหนังสือพิมพ์ต่อไป เพราะเป็นสื่อที่นำเสนอข่าวสารที่ทันสมัย ซึ่งปลัด ศธ.ได้มอบให้ กศน.ไปปรับรูปแบบการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาความซ้ำซ้อนตามข้อท้วงติงของ สตง.
เมื่อมาเปิดดูตัวเลขจํานวนหมู่บ้านนที่ อปท. จัดซื้อหนังสือพิมพ์ให้กับที่อ่านหนังสือประจําหมู่บ้าน พบว่ามีจำนวน 21,762 แห่ง ส่วนจํานวนหมู่บ้านที่มีบ้านหนังสืออัจฉริยะของ กศน. จำนวน 41,810 แห่ง ทำให้มีการซื้อหนังสือพิมพ์ซ้ำซ้อนกันถึง 10,335 แห่ง
ในที่สุด เมื่อประกาศปีงบประมาณ 2559  นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการ กศน. เป็นประธานในการประชุมมอบแนวทางการดำเนินงาน กศน. ก็มีการเปลี่ยนบ้านหนังสืออัจฉริยะเป็นบ้านหนังสือชุมชน
โดยสำนักงาน กศน. ได้กำหนดยุทธศาสตร์และจุดเน้นการดำเนินงาน ประจำปีงบประมาณ เกี่ยวกับการปรับรูปแบบกิจกรรมและวิธีดำเนินการจาก บ้านหนังสืออัจฉริยะ’ ไปสู่ บ้านหนังสือชุมชน’ และขยายการให้บริการกระจายให้ครบทุกหมู่บ้าน/ชุมชน ทั่วประเทศ โดยคำนึงถึงความต้องการทางการศึกษา/การเรียนรู้ของประชาชนในพื้นที่ และบริบทเฉพาะของหมู่บ้าน/ชุมชนแต่ละพื้นที่ เพื่อส่งเสริมการรู้หนังสือ การเสริมสร้างนิสัยรักการอ่าน และการเข้าถึงข่าวสารข้อมูลความรู้ของประชาชนอย่างทั่วถึง โดยเชื่อมโยงการทำงานเป็นเครือข่ายกับ กศน.ตำบล/ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนในพื้นที่เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง โดยจัดตั้งบ้านหนังสือชุมชน เพื่อส่งเสริมการรู้หนังสือ การเสริมสร้างนิสัยรัก การอ่าน และการเข้าถึงข่าวสารข้อมูลและความรู้ของประชาชนอย่างทั่วถึง เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องแก่ประชาชนในชุมชน
ส่วนความหมายของ บ้านหนังสือชุมชน’ หมายถึง บ้านที่เจ้าของบ้านหรือสถานที่ได้อุทิศให้ใช้เป็นห้องสมุดประชาชนของชุมชน ได้แก่ ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้านค้า ร้านขายของ บ้านผู้มีจิตอาสา บ้านผู้นำชุมชน สถานประกอบการ ศาลาเอนกประสงค์ โรงพยาบาล มีเจ้าของบ้านเป็น ผู้มีจิตอาสาให้บริการดูแลเอาใจใส่ และเป็นสถานที่ที่เป็นศูนย์กลางของชุมชนที่มีคนในชุมชน มาพบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมนิสัยรักการอ่านให้กับประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดาร และเพื่อสร้างโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงแหล่งเรียนรู้โดยจัดตั้งบ้านหนังสือ ชุมชนให้เป็นห้องสมุดประชาชนของชุมชน เป็นธนาคารความรู้ใกล้บ้านและมีข้อมูลข่าวสาร ใกล้ตัวที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย
สำหรับกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญคือ อาสาสมัครบ้านหนังสือชุมชน’ คือเจ้าของบ้านและผู้ที่มีจิตอาสาที่ทำหน้าที่ในการดำเนินงานโครงการบ้านหนังสือชุมชน ในการจัดกิจกรรมให้กับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย โดยไม่รับค่าตอบแทน
การเปลี่ยนชื่อจาก บ้านหนังสืออัจฉริยะ สู่ บ้านหนังสือชุมชน’ จะช่วยส่งเสริมและเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าวัฒนธรรมการอ่านของคนในชุมชนต่างจังหวัดด้วยงบประมาณที่มหาศาลในแต่ละปี ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดกันต่อไปว่ามีประสิทธิภาพในการดำเนินงานและมีประสิทธิผลขนาดไหน

บ้านหนังสือชุมชน กศน.ตำบลลำทับ

1. บ้านทรายขาว   หมู่ที่ 1  ตำบลลำทับ  ผู้รับผิดชอบ  นางจำนง  ศรีสุข         สถานที่ตั้ง 75/1 ม.1 ต.ลำทับ
2. บ้านนาพรุ         หมู่ที่ 2  ตำบลลำทับ  ผู้รับผิดชอบ  นางรัตนาพร  ศรีสุข    สถานที่ตั้ง 12 ม.2 ต.ลำทับ
3. บ้านหนองปง    หมู่ที่ 3  ตำบลลำทับ  ผู้รับผิดชอบ  นายสิทธิชัย  ไชยสน   สถานที่ตั้ง บ้านผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ม.3 ต.ลำทับ
4. บ้านลำทับ        หมู่ที่ 5  ตำบลลำทับ  ผู้รับผิดชอบ  นางนัยนา  กุมภัณฑ์    สถานที่ตั้ง 3 ม.5 ต.ลำทับ
5. บ้านภูผา          หมู่ที่ 9  ตำบลลำทับ   ผู้รับผิดชอบ  นายอาดูร  ภู่ร้อย        สถานที่ตั้ง บ้านผู้ใหญ่บ้าน 23 ม.9 ต. ลำทับ


เข้าชม : 488
 
 
กศน.ตำบลลำทับ  ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอลำทับ  จังหวัดกระบี่
 ตำบลลำทับ อำเภอลำทับ  จังหวัดกระบี่  โทรศัพท์ 075643448
Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05HD  Update by   นายบุญมา มาดี