[x] ปิดหน้าต่างนี้
 







 




 


 

      การประเมินเทียบระดับการศึกษา
กาคเรียนที่ ๑/๒๕๕๙
มีนักศึกษาเทียบระดับ(แบบไต่ระดับ) ดังนี้

 

 ๑.นายสมศักดิ์  สงวนทรัพย์     ระดับ ม.ต้น
 ๒.นางอุไรรัตน์  ศรีวิเศษ          ระดับ ม.ปลาย
 ๓.นางสาวจิรารัตน์  สถิน          ระดับ ม.ปลาย
  


การประเมินเทียบระดับการศึกษา มีขั้นตอนที่สำคัญ ๆ ดังนี้

 

1. การสมัครเข้าประเมินเทียบระดับการศึกษา
        ผู้ ที่มีการเรียนรู้มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเรียนรู้ที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ แต่มีผลการเรียนรู้เกิดขึ้นและต้องการให้มีการรับรองความรู้ที่ได้มีการ สั่งสมมาโดยตลอด สามารถเข้ารับการประเมินเทียบระดับการศึกษาได้ ในสถานศึกษาที่รัฐมนตรีประกาศให้ทำหน้าที่เทียบระดับการศึกษา ตามระยะเวลาที่สถานศึกษากำหนด (ดูรายชื่อสถานศึกษาที่ทำหน้าที่เทียบระดับการศึกษาในภาคผนวก)

2. คุณสมบัติผู้สมัครประเมินเทียบระดับการศึกษา
        2.1 มีสัญชาติไทยหรือเป็นบุคคลที่เข้าเมืองโดยถูกต้องตามกฎหมาย
        2.2 มีการประกอบอาชีพหรือมีประสบการณ์การประกอบอาชีพ
        2.3 มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ประจำในเขตบริการการเทียบระดับการศึกษาของสถานศึกษา
        2.4 เป็นผู้พ้นเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับ
        2.5 ไม่เป็นนักเรียนหรือนักศึกษาซึ่งกำลังศึกษาอยุ่ในสถานศึกษาที่จัดการศึกษาในระบบ หรือการศึกษานอกระบบ ที่แบ่งระดับเช่นเดียวกับการศึกษาในระบบ
        2.6 มีพื้นความรู้ในระดับที่ต่ำกว่าระดับที่ประสงค์จะขอเทียบระดับการศึกษาหนึ่งระดับ
                2.6.1 ระดับประถมศึกษา ไม่จำกัดความรู้พื้นฐาน
                2.6.2 ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น สอบได้วุฒิหรือระดับชั้นอย่างใด อย่างหนึ่งต่อไปนี้ มัธยมศึกษาปีที่ 3 (ม.3 เดิม) หรือประถมศึกษาปีที่ 7 (ป.7) หรือประถมศึกษาปีที่ 6 (ป.6) หรือการศึกษาผู้ใหญ่ระดับที่ 3 หรือการศึกษาผู้ใหญ่แบบเบ็ดเสร็จระดับที่ 3 หรือหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียนระดับประถมศึกษา หรือนาฏศิลป์ชั้นต้นปีที่ 3 หรือวุฒิอื่นที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศให้เทียบเท่าระดับประถมศึกษาปีที่ 6 ตามหลักสูตรประถมศึกษา พุทธศักราช 2521 หรือนักธรรมชั้นเอก* หรือใบรับรองวุฒิการสอบเทียบความรู้ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เพื่อสิทธิบางอย่าง หรือใบรับรองวุฒิการสอบเทียบความรู้ชั้นประถมปีที่ 7 เพื่อสิทธิบางอย่าง หรือเป็นผู้ที่เคยศึกษาหลักสูตรต่างประเทศ ระดับชั้น (เกรด) การศึกษาปีที่ 7 หรือสอบได้ระดับชั้น (เกรด) การศึกษาอย่างน้อยปีที่ 7 หรือ ผู้สอบตก ป.7 ปีการศึกษา 2520 ถือว่าได้ ป.6
                2.6.3 ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ได้วุฒิหรือระดับชั้นอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ สอบได้มัธยมศึกษาปีที่ 6 (ม.6 เดิม) หรือประโยคมัธยมศึกษาปีที่ 3 (ม.ศ.3) หรือมัธยมศึกษาปีที่ 3 (ม.3) หรือการศึกษาผู้ใหญ่ระดับที่ 4 หรือการศึกษาผู้ใหญ่เบ็ดเสร็จระดับที่ 4 หรือหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น หรือเปรียญธรรม 3 ประโยค* หรือวุฒิอื่นที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศให้เทียบเท่ามัธยมศึกษาตอนต้น ตามหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น พุทธศักราช 2521 หรือใบรับรองวุฒิการสอบเทียบความรู้ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เพื่อสิทธิบางอย่างหรือเป็นผู้ที่เคยศึกษาหลักสูตรต่างประเทศระดับชั้น (เกรด) การศึกษาปีที่ 10 หรือสอบได้ระดับชัน (เกรด) การศึกษาอย่างน้อยปีที่ 10 หรือผู้สอบตก ม.ศ.3 ปีการศึกษา 2523 ถือว่าได้ ม.3

 

3. หลักฐานการสมัครประเมินเทียบระดับการศึกษา
        ผู้ขอประเมินเทียบระดับการศึกษาต้องนำหลักฐานมายื่นต่อสถานศึกษาที่ทำหน้าที่เทียบระดับการศึกษาในเขตที่ตนเองมีภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่ประจำ ดังนี้
        3.1 ใบสมัคร
        3.2 รูปถ่าย 1 นิ้ว จำนวน 2 รูป หน้าตรงไม่สวมแว่นตาดำ ไม่สวมหมวก สวมเสื้อสีขาว มีปกหรือชุดสุภาพ (รูปถ่ายไม่เกิน 6 เดือน และไม่ใช้รูปถ่ายโพลาลอยด์) ติดใบสมัคร 1 รูป ติดบัตรประจำตัวนักศึกษา 1 รูป
        3.3 สำเนาทะเบียนบ้านตนเอง ที่มีชื่อบิดา มารดา พร้อมฉบับจริงไปแสดง หรือบัตรประจำตัว ประชาชนเพื่อแสดงว่าเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย และมีถิ่นที่อยู่ในเขตบริการ
        3.4 หลักฐานที่แสดงพื้นความรู้ในระดับที่ต่ำกว่าระดับที่ประสง์จะขอเทียบระดับการศึกษาหนึ่งระดับ สำหรับผู้ขอเทียบระดับประถมศึกษาไม่ต้องนำหลักฐานพื้นความรู้มาแสดง
        3.5 หลักฐานที่แสดงว่ามีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ประจำ ได้แก่ สำเนาทะเบียนบ้านหรือหนังสือรับรองจากหน่วยงานที่ปฏิบัติงาน หรือหนังสือรับรองจากผู้นำท้องถิ่นที่ตนพักอาศัย
        3.6 หลักฐานแสดงความรู้ทักษะและประสบการณ์จากการประกอบอาชีพ การทำงาน หรือจากการแสดงหาความรู้ต่าง ๆ

4. สถานศึกษาที่รับสมัคร
        สมัครเข้าประเมินเทียบระดับการศึกษาที่สถานศึกษาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประกาศให้ทำหน้าที่ประเมินเทียบระดับการศึกษา จำนวน 21 แห่ง ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การประกาศให้สถานศึกษาทำหน้าที่เทียบระดับการศึกษา ลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2548

 

5. ระยะเวลาการประเมินเทียบระดับการศึกษา
        สถานศึกษาที่รับมนตรีประกาศกำหนดให้ทำหน้าที่เทียบระดับการศึกษา จะต้องเปิดให้มีการประเมินเทียบระดับการศึกษาอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง ระยะเวลาการเปิดประเมินเทียบระดับการศึกษาควรกำหนดให้สอดคล้องกับการนำผลการประเมินไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ

 

6. การปฐมนิเทศแนะแนว
        เป็นขั้นตอนการสร้างความเข้าใจให้ผู้เข้าประเมินเทียบระดับการศึกษาเกี่ยวกับวิธีการ ขั้นตอนการประเมิน การรวบรวมและนำเสนอหลักฐานการประเมิน กำหนดวันเลาที่จะต้องเข้าประเมิน และจัดส่งแฟ้มสะสมงาน ซึ่งการประเมินเทียบระดับการศึกษาผู้เข้าประเมินจะตอ้งเข้าประเมินด้วยวิธีการหลาย ๆ วิธีประกอบกัน เพื่อตรวจสอบและพิสูจน์ให้ได้ว่า ผู้เข้าประเมินมีความรู้ ความสามารถสอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้แต่ละระดับการศึกษา

 

7. การชำระค่าธรรมเนียม
        เมื่อผู้สมัครได้รับข้อมูลและทำความเข้าใจในวิธีการ ขั้นตอนการประเมิน กิจกรรม และระยะเวลาในการประเมินที่ชัดเจนแล้ว จึงทบทวน ตรวจสอบตนเองให้แน่ชัดว่าตนเองมีความพร้อม มีเวลา ที่สำคัญคือมีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ ที่สอดคล้องกับมาตรฐานและตัวบ่งชี้ จึงตัดสินใจสมัครเข้ารับการประเมินและชำระค่าธรรมเนียมการประเมิน

 

8. การประเมินเทียบระดับการศึกษา
        วิธีการประเมินเทียบระดับการศึกษา ใช้วิธีการประเมินหลากหลายวิธีประกอบกัน ตามมาตรฐานและตัวบ่งชี้และเพื่อให้สามารถตรวจสอบและสืบค้นข้อมูลความรู้ ความสามารถของผู้เข้าประเมินได้อย่างแท้จริง โดยใช้การสัมภาษณ์ การปฏิบัติจริง การทดสอบ การตรวจสอบหลักฐาน และพิจารณาวิธีการประเมินให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย ผู้เข้าประเมินที่อยู่ในวัยผู้ใหญ่ มีภารกิจการประกอบอาชีพ การประเมินที่หลากหลายวิธีดังกล่าวจึงต้องใช้เวลาการประเมินหลายวัน
        การประเมินเทียบระดับการศึกษา ใช้วิธีการประเมินแบบปรนัยและอัตนัยประกอบกัน ในการประเมินแบบปรนัยวิธีการตรวจให้คะแนนมีความชัดเจน การประเมินสามารถดำเนินการโดยเทคโนโลยี ได้ แต่การประเมินจากการปฏิบัติจริง การสัมภาษณ์ การตรวจสอบหลักฐาน มีความเป็นอัตนัย ในการประเมินจึงต้องดำเนินการในรูปคณะกรรมการ คณะกรรมการตามกฏกระทรวงกำหนดว่าจะต้องเป็นผู้มีความรู้และประสบการณ์ในสาขาวิชาของการศึกษาแต่ละระดับ รวมทั้งต้องมีการบันทึกผลการประเมินตามเกณฑ์การให้คะแนนที่กำหนดไว้ ทั้งนี้เพื่อให้การประเมินเป็นมาตรฐาน มีความยุติธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้และเป็นที่ยอมรับ
        การจัดทำแฟ้มสะสมงาน
        แฟ้มสะสมงานเป็นส่วนหนึ่งของวิธีการประเมินเทียบระดับการศึกษา เพราะเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลความรู้ ความสามารถของผู้เข้าประเมิน ดังนั้น ผู้เข้าประเมินทุกคนจะต้องจัดทำแฟ้มสะสมงาน เพื่อนำเสนอหลักฐานความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ของตนเองที่สอดคล้องกับมาตรฐาน ตัวบ่งชี้ในระดับการศึกษาที่สมัครเข้าประเมิน

 

9. การสรุปและประกาศผลการประเมิน
        คณะกรรมการประเมินเทียบระดับการศึกษาของสถานศึกษาจะต้องนำคะแนนผลการประเมินในแต่ละส่วนมาสรุปรวมเป็นผลการประเมินในแต่ละด้าน และตรวจสอบผลการประเมินในทุกด้านเพื่อจัดทำสรุปผลผู้ผ่านการประเมิน 4 ด้าน 3 ด้าน 2 ด้าน 1 ด้านและไม่ผ่านทุกด้าน

 

10. การเสนอผลต่อคณะกรรมการกลางเทียบระดับการศึกษานอกระบบและอัธยาศัย
        ในระยะเริ่มแรกนี้ ให้นำผลการประเมินเสนอคณะกรรมการกลางเทียบระดับการศึกษานอกระบบและอัธยาศัยตามคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการที่ สป 712/2548 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2548 เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบผลการประเมินในภาพรวม

11. การเข้าค่าย
        เมื่อคณะกรรมการกลางให้ความเห็นชอบกับผลการประเมินของแต่ละสถานศึกษาแล้ว สำนักบริหารการศึกษานอกโรงเรียนจะแจ้งให้หัวหน้าสถานศึกษาประกาศผลการประเมินเทียบระดับการศึกษา เพื่อให้ผู้เข้าประเมินเข้าร่วมกิจกรรมค่ายต่อไป

 

12. การตัดสินผลการประเมินและการออกหลักฐาน
        หัวหน้าสถานศึกษาอนุมัติผลการประเมินและออกหลักฐานเมื่อ
                12.1 ผลการประเมินแต่ละด้านจะต้องได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 จึงจะถือว่าผ่านการประเมินใน ด้านนั้น
                12.2 มีผลการประเมินผ่านครบทั้ง 4 ด้าน
                12.3 เข้าร่วมกิจกรรมค่าย
                โดยให้ผลการประเมินเป็น ผ่าน หลักฐานการศึกษาที่ได้รับเมื่อผ่านการประเมิน ประกอบด้วย ประกาศนียบัตร และหลักฐานแสดงผลการประเมินเทียบระดับการศึกษา

13. การซ่อมเสริม
        สถานศึกษาที่ทำหน้าที่เทียบระดับการศึกษา ควรจัดให้มีกิจกรรมซ่อมเสริมให้แก่ผู้ที่ยังไม่ผ่านการประเมินโดยการจัดหลักสูตร หรือกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อต่อเติม เสริมความรู้ความสามารถให้เข้มแข็งขึ้น ก่อนเข้ารับการประเมินครั้งต่อไป


เข้าชม : 483
 
 
กศน.ตำบลคลองยา
หมู่ที่ 6 (บ้านคลองไร่) ซอย 17 ตำบลคลองยา  อำเภออ่าวลึก  จังหวัดกระบี่ โทร.089-8868836
ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภออ่าวลึก

หมู่ที่ 2 ตำบลอ่าวลึกใต้  อำเภออ่าวลึก  จังหวัดกระบี่ โทร 075-634582 โทรสาร 075-681718
ni_g@hotmail.com  nikorn@korat.nfe.go.th
Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05HD  Update by   นายบุญมา มาดี