ประเทศไทยเริ่มจัดงานวันที่ระลึกสากลแห่งการเรียนรู้หนังสือขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ.2510 โดยกองการศึกษาผู้ใหญ่ กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นเวลา 2 ปี หลังจากองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO จัดประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่กรุงเตหะราน เมื่อปี ค.ศ. 1965 และมีมติให้ถือเอาวันที่ 8 กันยายนของทุกปี เป็นที่ที่ระลึกสากลแห่งการเรียนรู้หนังสือ (International literacy Day) และเริ่มจัดงานเพื่อรณรงค์ส่งเสริมกระตุ้นเตือนสังคมให้ตระหนักถึงความสำคัญ ของการรู้หนังสือ เมื่อ 8 กันยายน 2550 เป็นต้นมา
จากการจัดงานเล็กๆ ภายในกองการศึกษาผู้ใหญ่และตามโรงเรียนต่างๆ แล้ว ต่อมาในปี พ.ศ. 2510 กองการศึกษาผู้ใหญ่จึงจัดงานวันการศึกษาผู้ใหญ่แห่งชาติขึ้น ในวันที่ 8 กันยายน เมื่อมีการสถาปนากรมการศึกษานอกโรงเรียนขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2522 ก็มีการจัดงานวันการศึกษานอกโรงเรียนขึ้นในวันดังกล่าว และได้ถือว่าวันที่ 8 กันยายน เป็นวันการศึกษานอกโรงเรียนด้วย แต่กระนั้นก็ตามสาระสำคัญของงานในวันดังกล่าวก็ยังให้ความสำคัญในฐานะวันที่ ระลึกสากลแห่งการเรียนรู้หนังสือตลอดมา การจัดงานในวันที่ 8 กันยายนขยายตัวจากการจัดงานเล็กๆ มาสู่การจัดงานร่วมกับเครือข่ายหน่วยงานต่างๆ ที่มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษานอกโรงเรียนมาด้วยกันและถือว่าการรู้หนังสือ เป็นประเด็นสำคัญประการหนึ่งของการศึกษานอกโรงเรียน
ปี พ.ศ. 2551 เป็นปีแรกที่เริ่มมีพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตาม อัธยาศัยขอบข่ายของงานกว้างขวางครอบคลุมกิจการเรียนรู้ของผู้คนในชาติหลาย มิติ แต่เพื่อที่จะให้การรณรงค์ส่งเสริมการเรียนรู้หนังสือเด่นชัดขึ้น จึงได้ยกเอาวันที่ 8 กันยายน เป็นวันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ
เหตุผลสำคัญก็คือ สถานการณ์การรู้หนังสือของประชาชนคนไทยในปัจจุบันแม้จะดีขึ้น กล่าวคือมีประชากรที่รู้หนังสือถึงร้อยละ 98 มีเพียงร้อยละ 2 เท่านั้นที่เป็นผู้ไม่รู้หนังสือ แต่ก็มีคำถามที่น่าสนใจก็คือผู้คนจำนวนร้อยละ 2 ของประชากรไทย 63 ล้านคนคือประชากรจำนวนกว่า 1.2 ล้านคน นั้น เป็นใครอยู่ที่ไหน ไม่รู้หนังสือจริงหรือ ปัจจุบันคนเหล่านี้ทำอะไรอยู่และสิ่งที่เขาทำนั้นเกิดผลอย่างไรต่อตัวเขาเอง ครอบครัวชุมชนและประเทศบ้าง
เชื่อหรือไม่ว่าในจำนวน 1.2 ล้านกว่าคนนี้ บางทีอาจอยู่ใกล้ตัวเรานี่เอง และเราก็คงได้ข่าวอยู่เสมอว่าเกิดผู้ไม่รู้หนังสือใหม่ขึ้นทุกวัน อันเนื่องมาจากการลืมหนังสือ เพราะชีวิตในแต่ละวันไม่ได้ใช้หรือเกี่ยวข้องกับหนังสือเลย หลายท่านอาจจะนึกว่าผู้ไม่รู้หนังสือเหล่านี้เป็นผู้สูงอายุ แล้วทิ้งไว้เฉยๆ อัตราผู้ไม่รู้หนังสือก็ลดลงเอง จะเป็นเช่นนั้นจริงหรือ! แม้จริงแล้ว จากประสบการณ์ที่ได้สัมผัสผู้คนในพื้นที่ พวกเราชาว กศน. ตระหนักดีว่าผู้ไม่รู้หนังสือนั้นทุกกลุ่มอายุ อาศัยอยู่ทั้งในเมือง ในชนบท ในถิ่นทุรกันดารห่างไกล แม้ใจกลางกรุงเทพมหานครก็สามารถหาผู้ไม่รู้หนังสือได้ไม่ยาก
ผู้ไม่รู้หนังสือส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงานและมีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี คุณภาพชีวิตด้อยค่าและถูกกันออกไปอยู่ชายขอบของสังคม ลองจินตนาการดูถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นบ้างว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าคนยากจนเจ็บป่วยอ่านไม่ออก แม้แต่ฉลากยาที่ติดอยู่ข้างกล่องหรือซองใส่ยา แล้วกินยาเข้าไปโดยไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร! จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าผู้ไม่รู้หนังสือเหล่านี้ถูกขอให้ทำสัญญาที่ตนเองอ่านไม่ออกเลย จะเกิดอะไรขึ้นถ้าไม่สามารถอ่านหนังสือหรือข้อความใดๆ ได้เลย จึงต้องฟังคนอื่นบอกให้ฟังและทำตามอย่างเดียว โดยไม่มีช่องทางอื่น ในการแสวงหาความรู้! จะเกิดอะไรขึ้นถ้าผู้ไม่รู้หนังสือที่เป็นกำลังแรงงาน ในกระบวนการผลิตทั้งภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม! คนเหล่านี้ท้ายที่สุดแล้วไม่มีทางเลือกอื่นในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการงาน ของตนเอง คงจะมีบ้างเพียงบางส่วนกระมัง ที่เอาตัวรอดไปได้เพราะเหตุปัจจัยอื่น แต่ไม่ทุกคน
สังคมไทยเราอาจจะประเมินตนเองไว้คอ่นข้างสูงเกินความจริงว่าการไม่รู้ หนังสือน่าจะไม่ใช่ปัญหาใหญ่ และเชื่อว่าคนจำนวนมากที่รู้หนังสือแล้วจะนำทางสังคมนี้ให้ไปรอด แต่เราก็ละเลยที่จะหันกลับมาทบทวนดูตัวเราว่า ในกลุ่มคนที่ว่ารู้หนังสือนั้นรู้กันแค่ไหน รู้แบบอ่านออกเป็นนกแก้วนกขุนทอง เขียนได้แบบงูๆ ปลาๆ หรือถึงระดับคิดวิเคราะห์ได้ด้วย และหากจะตั้งมาตรฐานการรู้หนังสือให้สูงขึ้นถึงขั้นแสวงหาความรู้จาก เทคโนโลยีสมัยใหม่แล้ว เราคงจะเห็นช่องว่างของคุณภาพการศึกษาอย่างมโหฬาร
4 ทศวรรษของการเดินทางของกลุ่มคนจำนวนหนึ่งในสังกัดกองการศึกษาผู้ใหญ่ก็ดี กรมการศึกษานอกโรงเรียนในอดีตก็ดี จนถึงสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยในปัจจุบันก็ดี เป็นการเดินโดยลำพังเพื่อแก้ปัญหาที่ใหญ่มากของการศึกษาแม้จว่าจะมี กัลยาณมิตรหลายคนหลายองค์กรช่วยกันทำงานก็ตาม ความพยายามที่จะพัฒนาหลักสูตร สื่อการเรียนการสอน การอบรมครู มีการศึกษาวิจัยและรณรงค์ส่งเสริมในรูปแบบต่างๆ มากมาย ก็นับเป็นความพยายามที่จะแยกรับปัญหาสำคัญของประเทศ
แม้ว่าปัญหาการไม่รู้หนังสือจะคงอยู่ไม่หมดสิ้นไปง่ายๆ จากสังคมไทย แต่ในขณะเดียวกันบริบทของสังคมก็เปลี่ยนแปลงไปมาก ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศ ตลอดจนวิถีการผลิตเปลี่ยนแปลงไป โลกกำลังกล่าวถึงเศรษฐกิจ ฐานความรู้ สังคมแห่งการเรียนรู้ ทำให้คำจำกัดความของ Literacy ที่เราแปลว่า การรู้หนังสืออ่านออกเขียนได้นั้น ได้ขยายความไปมากกว่านั้น ปัจจุบันมีการกล่าวถึง Computer Literacy, Science Literac6, health Literacy, Democracy Literacy ฯลฯ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสังคมกำลังสร้างคำจำกัดความของ Literacy ขึ้นใหม่ ในบางประเทศมีการกำหนดคุณลักษณะของ Literacy เกือบเท่ากับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพราะต้องมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับภาษาที่มากกว่าภาษาแม่ มีความรู้ความเข้าใจทางพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ สุขอนามัยการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ฯลฯ นี้คือความท้าทายใหม่ต่อการรู้หนังสือในยุคปัจจุบัน เพราะในขณะที่เรากำลังจะรณรงค์กันอีกครั้ง เพื่อแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ของคนไทย โลกได้ก้าวข้ามระดับของการรู้หนังสือให้สูงขึ้นไปอีก ยิ่งต้องวิ่งไล่กวดในเชิงคุณภาพของการศึกษา โอกาสที่คนไทยเราจะแข่งขันกันในเวทีโลกอย่างเท่าเทียมกันยิ่งห่างไกลออกไป
แต่กระนั้นเราก็ไม่ควรย่อท้อ ไม่ใช่เพราะกลไกลของบ้านเมืองของเราไม่ดี หากแต่สังคมไทยยังไม่ได้มีโอกาสเข้าไปมีบทบาทในการส่งเสริมการรู้หนังสือและ แก้ปัญหาการไม่รู้หนังสืออย่างจริงจัง เราไม่ควรหวังว่า กศน. จะเป็นผู้รับผิดชอบแก้ปัญหานี้ต่อไปเพียงลำพัง แต่สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นในสังคมไทยก็คือเราควรจะถือว่าปัยหาคุณภาพการศึกษา เป็นเรื่องของคนไทยทุกคน ปัญหาการไม่รู้หนังสือควรอยู่ในความรับผิดชอบของคนไทยทุกคนและช่วยกัน โดยถือว่าการรู้หนังสือเป็นวาระแห่งชาติอีกประเด็นหนึ่ง