การประเมินเทียบระดับการศึกษา
************************
หลักการ
การประเมินเทียบระดับการศึกษาเป็นการประมวลประสบการณ์และความรู้ที่เป็นองค์รวมของบุคคลตามคุณลักษณะที่สำคัญในด้านความรู้ ทักษะ คุณธรรม จริยธรรมและค่านิยม เพื่อรับรองความรู้ความสามารถนั้น ให้เป็นไปตามมาตรฐานการเรียนรู้เท่ากับระดับการศึกษาของการศึกษาขั้นพื้นฐาน
การประเมิน
เพื่อให้การดำเนินการประเมินเทียบระดับการศึกษามีประสิทธิภาพ จึงแบ่งการประเมินเทียบระดับเป็น 2 มิติ ดังนี้
มิติด้านความรู้ ความคิด มี 6 มาตรฐาน
1. ความสามารถในการสื่อสารทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ
2. ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์และคิดค้น
3. ความสามารถในการแสวงหาความรู้และเทคโนโลยี
4. ความรู้ในเรื่องการดูแลสุขภาพกายและจิต
5. ความเป็นไทย สากลและพลเมืองดี
6. ความรู้เรื่องทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและการดำรงชีวิต
มิติด้านประสบการณ์ มี 3 มาตรฐาน ดังนี้
1. ประสบการณ์ในการพัฒนาอาชีพ
2. ประสบการณ์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนและครอบครัว
3. มีประสบการณ์ในการพัฒนาสังคมและชุมชน
คุณสมบัติของผู้สมัคร
1. มีสัญชาติไทยหรือเป็นบุคคลที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย
2. ภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ประจำในเขตการบริการการเทียบระดับการศึกษาของสถานศึกษา
3. ไม่เป็นนักเรียนหรือนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในสถานศึกษาที่จัดการศึกษาในระบบหรือการศึกษานอกระบบที่แบ่งประดับเช่นเช่นเดียวกับการศึกษาในระบบ
4. มีพื้นความรู้ในระดับการศึกษาที่ต่ำกว่าระดับที่ประสงค์จะขอเทียบระดับการศึกษาหนึ่งระดับ
4.1 ระดับประถมศึกษา ไม่จำกัดความรู้พื้นฐาน
4.2 ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น สอบได้วุฒิหรือระดับชั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ต่อไปนี้
- มัธยมศึกษาปีที่ 3 (ม. 3 เดิม)
- ประถมศึกษาปีที่ 7 (ป.7)
- ประถมศึกษาปีที่ 6 (ป. 6 )
- การศึกษาระดับผู้ใหญ่ปี่ที่ 3
- หลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียนระดับประถมศึกษาหรือนาฏศิลป์ชั้นต้นปี่ที่ 3
- วุฒิอื่นที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศให้เทียบเท่าระดับประถมศึกษาปีที่ 6 ตามหลักสูตรประถมศึกษา พุทธศักราช 2521
หรือนักธรรมชั้นเอก หรือใบรับรอวุฒิการสอบเทียบ ความรู้ชั้นมัธยมศึกษาปี่ที่ 3 เพื่อสิทธิบางอย่าง หรือใบรับรองวุฒิการสอบเทียบความรู้ชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 เพื่อสิทธิบางอย่างหรือเป็นผู้ที่เคยศึกษาหลักสูตรต่างประเทศ ระดับชั้น (เกรด ) การศึกษาปี ที่ 7 หรือ สอบได้ระดับชั้น (เกรด) การศึกษาอย่าน้อยปีที่ 7 หรือ ผู้สอบตก ป. 7 ปีการศึกษา 2520 ถือว่าได้ ป. 6
4.3 ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายได้วุฒิหรือระดับชั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ต่อไปนี้
- สอบได้มัธยมศึกษาปีที่ 6 (ม.6 เดิม) หรือประโยคมัธยมศึกษาปีที่ 3 (มศ.3) หรือมัธยมศึกษาปีที่ 3 (ม.3) หรือการศึกษาใหญ่ระดับที่ 4 หรือการศึกษาผู้ใหญ่แบบเบ็ดเสร็จ ระดับที่ 4 หรือ หลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น หรือเปรียบธรรม 3 ประโยค หรือวุฒิที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศให้เทียบเท่ามัธยมศึกษาตอนต้น ตามหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น พุทธศักราช 2521 หรือใบรับรองวุฒิการสอบเทียบความรู้ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เพื่อสิทธิบางอย่างหรือเป็นผู้ที่เคยศึกษาหลักสูตรต่างประเทศระดับชั้น(เกรด) การศึกษาปีที่ 10 หรือ สอบได้ระดับชั้น(เกรด) การศึกษาอย่าน้อยปีที่10 หรือ ผู้สอบตก มศ.3 ปีการศึกษา 2523 ถือว่าได้ ม. 3
หลักฐานการสมัครเข้ารับการประเมินเทียบระดับการศึกษา
ผู้ขอประเมินเทียบระดับการศึกษา ต้องนำหลักฐานมายืนต่อสถานศึกษาที่ทำหน้าที่เทียบระดับการศึกษาในเขตที่ตนเอง มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ประจำดังนี้
1. ใบสมัคร
2. รูปถ่ายหน้าตรง ขนาด 3 X 4 ซม. จำนวน 2 ใบ หน้าตรง ไม่สวมแว่นตาดำ ไม่สวมหมวก สวมเสื้อขาวมีปกหรือชุดสุภาพ (รูปถ่ายไม่เกิน 6 เดือนไม่ใช้รูปถ่ายโพลาลอยด์ ) ติดใบสมัคร 1 ใบ ติดบัตรประจำตัวนักศึกษา 1 ใบ
3. สำเนาทะเบียนบ้านตนเอง ที่มีชื่อบิดา มารดา พร้อมฉบับจริง ไปแสดง หรือบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อแสดงว่า เป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทยและมีถิ่นที่อยู่ในเขตบริการ กรณีเป็นบุคคลเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย ให้แสดงหลักฐานหนังสือเดินทาง หรือหนังสือรับรองการเป็นบุคคลต่างด้าวของกระทรวงมหาดไทย
4. หลักฐานที่แสดงพื้นความรู้ ในระดับที่ต่ำกว่า ที่ประสงค์จะขอเทียบระดับการศึกษาหนึ่งระดับ สำหรับผู้ขอเทียบระดับประถมศึกษา ไม่ต้องนำหลักฐานพื้นความรู้เดิมมาแสดง
5. หลักฐานที่แสดงภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่ประจำ ได้แก่ สำเนาทะเบียนบ้านหรือ หนังสือรับรองจากหน่วยงานที่ปฏิบัติงาน หรือ หนังสือรับรองจากผู้นำท้องถิ่นที่ตนพักอาศัย
6. หลักฐานหนังสือรับรอง แสดงการประกอบอาชีพหรือทำงานจากผู้บังคับบัญชา นายจ้าง หรือผู้นำท้องถิ่น
ค่าธรรมเนียม
* ระดับประถมศึกษา 1,500.- บาท
* ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 1,500.- บาท
* ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 1,500.- บาท
กำหนดการรับสมัคร เปิดรับสมัครปีละ 1 ครั้ง โดยสำนักงาน กศน. จะเป็นผู้กำหนด
แนวทางการชี้แจงรายละเอียดในขั้นตอนต่าง ๆ มีดังนี้
1) การแนะแนวของสถานศึกษา
การประเมินเทียบระดับการศึกษา เป็นการตรวจสอบความรู้ ความคิด ความสามารถและประสบการณ์ต่าง ๆ ของผู้เข้ารับการประเมินด้วยเครื่องมือและวิธีการที่หลากหลายและมีค่าใช้จ่าย ดังนั้น สถานศึกษาจึงควรแนะแนวให้ผู้เข้ารับการประเมินทราบในเบื้องต้นว่า การประเมินเทียบระดับจะต้องเตรียมหลักฐานอะไรบ้าง มีขั้นตอนกระบวนการและใช้เวลาประเมินเท่าไร เพื่อนำมาเป็นหลักฐานแสดงว่ามีความรู้ ความสามารถและประสบการณ์สอดคล้องกับมาตรฐานของระดับการศึกษานั้น ๆ ให้ผู้ขอรับการประเมินพิจารณาประเมินตนเองว่าควรสมัครหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายโดยใช่เหตุ
2) การตัดสินใจสมัคร พร้อมชำระค่าลงทะเบียน
เมื่อผู้เข้าประเมินได้รับฟังการแนะแนวจากสถานศึกษาแล้ว และคิดว่าตนเองมีความรู้และประสบการณ์มากพอที่จะเข้าประเมินเทียบระดับการศึกษาได้จึงควรจะสมัคร โดยเสียค่าธรรมเนียมในการสมัครเข้ารับการประเมินเทียบระดับการศึกษา ระดับละ 1,500 บาท ต่อ 1 ครั้งที่เปิดให้ประเมิน
3) การปฐมนิเทศ
การปฐมนิเทศจัดเป็นขั้นตอนสำคัญที่สถานศึกษาจะต้องชี้แจงทำความเข้าใจเมื่อผู้เข้าประเมินสมัครเข้ารับการประเมินเทียบระดับการศึกษาแล้ว สถานศึกษาจะทำการปฐมนิเทศเพื่อชี้แจงว่าขอบข่ายการประเมินมีองค์ประกอบอะไรบ้าง แต่ละองค์ประกอบมีมาตรฐานการประเมินอย่างไร ผู้เข้าประเมินต้องนำหลักฐานหรือต้องแสดงความรู้ ความสามารถอย่างไรที่จะสะท้อนว่าบรรลุตามมาตรฐานดังกล่าว เช่น ต้องเตรียมตัวเข้ารับการทดสอบภาคทฤษฎี ด้านความรู้และความคิดอย่างไร ต้องทำแฟ้มประมวลประสบการณ์ ต้องเข้ารับการสัมภาษณ์อย่างไร โดยสถานศึกษาจะแจ้งรายละเอียดต่าง ๆ และกำหนดวัน เวลาของการประเมินดังกล่าว
4) การจัดทำแฟ้มประมวลประสบการณ์
เมื่อผู้เข้าประเมินผ่านกระบวนการปฐมนิเทศแล้วผู้เข้าประเมินต้องจัดทำแฟ้มประมวลประสบการณ์ โดยการรวบรวม เรียบเรียงข้อมูล ประสบการณ์ พร้อมหลักฐานของตนเองที่มีอยู่แล้วให้เป็นระบบสอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้ของการเทียบระดับการศึกษา หรือดำเนินการตามข้อกำหนดที่สถานศึกษากำหนดที่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์อาชีพ การพัฒนาคุณภาพชีวิต และการพัฒนาสังคมและชุมชน
ทั้งนี้สถานศึกษาต้องแจ้งกำหนดวัน เวลา และสถานที่ส่งแฟ้มให้ผู้เข้าประเมินทราบ พร้อมประสานนัดหมายการนำส่งให้กรรมการประเมินตรวจให้คะแนนแฟ้มด้วย
5) การประเมินความรู้และความคิด
ผู้เข้าประเมินต้องเข้าประเมินความรู้ และความคิด โดยการทดสอบภาคทฤษฎี ซึ่งสถานศึกษาประเมินเทียบระดับการศึกษาทุกแห่งจะประเมินพร้อมกันทั่วประเทศ สถานศึกษาต้องแจ้งวัน เวลาและตารางกำหนดการสอบและนัดหมายให้มาถึงสถานที่ประเมินก่อนเวลาอย่างน้อย 15 นาที และเตรียมอุปกรณ์การเขียน ปากกา ไม้บรรทัด ยางลบ มาให้พร้อม แต่งกายสุภาพ เรียบร้อยและปฏิบัติตนตามระเบียบการประเมินที่สถานศึกษากำหนด ในการนี้ให้สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานและวิชาที่ทดสอบด้วย
6) การประเมินประสบการณ์โดยการสัมภาษณ์และอื่น ๆ
ผู้เข้าประเมินต้องนำส่งแฟ้มประสบการณ์และมาเข้ารับการประเมินโดยการสัมภาษณ์ ประเมินการปฏิบัติจริง การสาธิตเป็นรายบุคคลโดยมีคณะกรรมการประเมินอย่างน้อย 3 คน เป็นผู้ประเมิน ผู้เข้าประเมินต้องเข้ามารับการประเมินตามวัน เวลา สถานที่ที่สถานศึกษากำหนด
7) ผลการประเมิน
เมื่อจัดการประเมินให้ครบทุกชุดของเครื่องมือที่ใช้ประเมินแต่ละมิติในระดับนั้น ๆ แล้วสถานศึกษาจะตรวจให้คะแนนและประมวลผลผู้เข้าประเมินที่ได้คะแนนผ่านเกณฑ์ที่กำหนด สถานศึกษาจะประกาศผลการประเมินโดยวิธีการต่าง ๆ เช่น ประกาศที่สถานศึกษาหรือส่งจดหมายไปให้เป็นรายบุคคล หรือดูจาก website ของสถานศึกษา
7.1 กรณีผ่านการประเมิน
ผู้เข้าประเมินที่ผ่านทั้ง 2 มิติ จะได้รับหลักฐานการประเมินเทียบระดับ 2 ชุดคือ
1. หลักฐานแสดงผลการประเมินเทียบระดับการศึกษาและ
2. ประกาศนียบัตร
ทั้งนี้ ถือว่าผู้ผ่านการประเมินเทียบระดับการศึกษามีมาตรฐานเช่นเดียวกันกับผู้จบการศึกษาในระบบหรือการศึกษานอกระบบที่แบ่งระดับได้ แต่ผลการประเมินเทียบระดับการศึกษาจะให้ผลเป็น “ผ่าน” และ “ไม่ผ่าน” จะไม่มีระดับผลการเรียน (GPA) และผลการเรียนเฉลี่ย (GPAX)
7.2 กรณีไม่ผ่านการประเมิน
ผู้เข้าประเมินที่ประเมิน “ไม่ผ่าน” มาจาก 2 กรณี
กรณีที่ 1 ผู้เข้าประเมินเข้าประเมินไม่ครบทั้ง 2 มิติ หรือไม่ครบทุกชุดของเครื่องมือที่ใช้ประเมิน
กรณีที่ 2 ผลการประเมินด้านความรู้ และความคิด ได้คะแนนรวมทุกมาตรฐานน้อยกว่าร้อยละ 50 และผลการประเมินด้านประสบการณ์ได้คะแนนแต่ละมาตรฐานน้อยกว่าร้อยละ 50
สำหรับผู้ไม่ผ่านการประเมินในมิติที่ 1 ต้องเข้ารับการประเมินใหม่ทุกมาตรฐาน ส่วนมิติที่ 2 ถ้าไม่ผ่านมาตรฐานใด ก็ให้เข้ารับการประเมินใหม่ในมาตรฐานที่ไม่ผ่าน ทั้งนี้ สามารถเก็บผลการประเมินในส่วนที่ผ่านไว้ได้ 5 ปี นับแต่วันที่อนุมัติผลการประเมิน
เครื่องมือและวิธีการประเมิน
เครื่องมือที่ใช้ประเมินเทียบระดับการศึกษาในแต่ละระดับการศึกษาได้จัดสร้างขึ้นตามมาตรฐานและตัวบ่งชี้การประเมินเทียบระดับในแต่ละระดับการศึกษา โดยมีรายละเอียดของเครื่องมือและวิธีการ ที่ใช้ประเมินเทียบระดับการศึกษา ดังนี้
1. มิติด้านความรู้และความคิด ประเมินโดยใช้แบบทดสอบปรนัยชนิดเลือกตอบและอัตนัยที่ให้แสดงวิธีทำหรือเขียนแสดงความคิดเห็น
ในขอบข่ายเกี่ยวกับความรู้พื้นฐานทางด้านวิชาสามัญของผู้เข้ารับการประเมินที่ได้จากการศึกษา หาความรู้ด้วยตนเองจากสื่อ และแหล่งวิทยาการต่าง ๆ ซึ่งความรู้พื้นฐานเหล่านี้เป็นความรู้ที่สอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้ของหลักสูตรในภาพรวมของวิชาต่าง ๆ ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การงานอาชีพ เทคโนโลยี สุขศึกษา พลศึกษา ศิลปะ ดนตรี นาฏศิลป์ สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ซึ่งจะบูรณาการเป็นแบบทดสอบเพื่อประเมินความสามารถในการสื่อสาร ภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ ความสามารถในการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์และตัดสิน ความสามารถในการแสวงหาความรู้ และการใช้เทคโนโลยี ความรู้ในเรื่องการดูแลสุขภาพกาย และจิตของตน ความเป็นไทย สากลและพลเมืองดี ความรู้ในเรื่องเกี่ยวกับทรัพยากร สิ่งแวดล้อมและการดำรงชีพ
2. มิติการประเมินประสบการณ์ มีขอบข่ายการประเมิน 3 ด้าน คือ
2.1 ประสบการณ์ในการพัฒนาอาชีพ
เป็นการประเมินความรู้ ความสามารถและทักษะด้านการงานอาชีพที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์การประกอบอาชีพ อาทิเช่น ความสามารถในการบริหารจัดการด้านการงานอาชีพ การพัฒนากระบวนการ การทำงาน มีความสามารถในการวางแผนการประกอบอาชีพ การเลือกใช้เทคโนโลยีและสารสนเทศมาใช้ในการดำเนินงาน ตลอดจนมีความสามารถพัฒนาการงานอาชีพไปสู่เป้าหมายได้อย่างสมเหตุสมผล รวมทั้งการมีคุณธรรม จริยธรรมในการงานอาชีพนั้น ๆ
2.2 ประสบการณ์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองและครอบครัว
เป็นการประเมินความรู้ ความสามารถและทักษะที่เกิดจากประสบการณ์ของการดำเนินชีวิตที่สะท้อนให้เห็นว่าเป็นผู้ที่มีความเข้าใจและเห็นคุณค่าของชีวิต ครอบครัว มีทักษะในการดำเนินชีวิต การมีสุนทรียภาพสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุข มีทักษะในการเสริมสร้างสุขภาพ ทั้งทางกายและจิตใจ ตลอดจนยึดหลักธรรมศาสนาที่ตนนับถือเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต
2.3 ประสบการณ์ในการพัฒนาสังคมและชุมชน
เป็นการประเมินความรู้จากประสบการณ์ชีวิตที่เกี่ยวกับสังคมรอบ ๆ ตัวและทักษะในการนำความรู้ ความสามารถที่มีมาใช้ในการดำเนินชีวิต ครอบครัว ให้มีความมั่นคง เข้มแข็ง อบอุ่น ตลอดจนนำศักยภาพของตนเองมาช่วยส่งเสริม สนับสนุนกิจกรรมที่เป็นประโยชน์แก่ชุมชนและสังคม เพื่อนำไปสู่ความเข้มแข็งของชุมชนและสังคม ทั้งด้านอาชีพ ชีวิตความเป็นอยู่ รวมทั้งส่งเสริมให้สังคมและชุมชนมีความกระตือรือร้นในการศึกษาหาความรู้อย่างต่อเนื่อง
วิธีการประเมินมิติด้านประสบการณ์
1. ประเมินจากแฟ้มประมวลประสบการณ์โดยผู้เข้าประเมินนำเสนอข้อมูลหลักฐานที่เป็นร่องรอยแสดงถึงประสบการณ์ด้านการพัฒนาอาชีพ การพัฒนาคุณภาพชีวิต การพัฒนาสังคมและชุมชน
2. ประเมินโดยการสัมภาษณ์ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่แสดงถึงการเป็นผู้มีประสบการณ์ในแต่ละด้านตามที่เสนอในแฟ้มว่าเป็นจริงเพียงใด
การประเมินด้านความรู้และความคิด ทุกระดับการศึกษา
1. รูปแบบการประเมิน ใช้วิธีการทดสอบใน 6 มาตรฐาน
2. กำหนดการทดสอบ ใช้เวลา 2 วัน
*******************************************
|