[x] ปิดหน้าต่างนี้
 
 
เกาะปู – เกาะจำ
     เดิมเกาะปูและเกาะจำเป็นคนละเกาะกัน โดยเกาะปูคือเกาะขนาดใหญ่ ที่อยู่ทางทิศตะวันตก ขณะที่เกาะจำคือเกาะเล็กๆ ที่อยู่ถัดออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะปู ซึ่งปัจจุบันคือเกาะจำนุ้ย เกาะจำนุ้ยนั้นเคยเป็นที่อยู่ของชาวเลมาก่อน ต่อมาเกิดโรคระบาด ชาวเลจึงได้อพยพออกมาอยู่ทางตอนใต้ของเกาะปู และเรียกบริเวณใหม่ที่ย้ายไปอยู่ว่า “เกาะจำ” อีกทำให้เกาะปูมีชื่อเรียกต่อท้ายว่าเกาะจำพ่วงไปด้วย กลายเป็น “เกาะปู - เกาะจำ”
     คำว่า “เกาะจำ” ภาษาชาวเลเรียกว่า “ปูเลากระจั๊บ” ปูเลา หมายถึง เกาะ ส่วนกะจั๊บ คือต้นจาก เนื่องจากเดิมเกาะนี้มีต้นจากขึ้นอยู่มาก สามารถตัดมาผูกด้วยเชือกหรือเส้นด้ายกลายเป็น “ตับจาก” ใช้มุงหลังคาได้ คำว่าเกาะจำจึงน่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า “กะจั๊บ” นั้นเอง อย่างไรก็ดีบางท่านก็ให้ความเห็นว่า บริเวณบ้านเกาะจำแห่งใหม่ที่ชาวเลอพยพไปอยู่นั้น มีชื่อเรียกว่า “ปูเลาลักอะค้อย” แปลว่า เกาะนกออก ซึ่งนกออกในที่นี้เป็นชื่อนกชนิดหนึ่ง มีขนสีค่อนข้างขาวหรือสีครีม เป็นนกทะเล ที่มาพักอาศัยอยู่บนเกาะนี้เป็นประจำ “จำ” ในที่นี้จึงหมายถึง “จำที่” คือ นกมาเกาะในที่เดิมเป็นประจำทุกครั้ง ชาวเลจึงเรียกบริเวณนี้ว่า “เกาะจำ”
     จากคำบอกเล่าของชาวบ้านหมู่ 3 บ้านเกาะจำ โดยนายสุวรรณ  สุขทอง (อายุ 75 ปี) กล่าวว่าในพ.ศ.2498 มีการตั้งถิ่นฐานบริเวณบ้านเกาะจำอยู่ประมาณ 70 - 80 ครัวเรือน สภาพสังคมประกอบไปด้วยชาวเล  ซึ่งเป็นกลุ่มชนดั้งเดิมในบริเวณนี้ มีชาวจีนอาศัยอยู่นานมากกว่าหนึ่งร้อยปี โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่บริเวณต้นไทรใหญ่ ซึ่งชาวจีนกลุ่มแรกที่อพยพเข้ามาในบริเวณนี้ได้เจอชาวเลอาศัยอยู่ก่อนหน้าแล้ว นอกจากนี้ยังมีกลุ่มชาวมุสลิมที่อพยพมาจากพื้นที่ใกล้เคียงได้เข้ามาอาศัยกระจัดกระจายอยู่ในหมู่บ้านด้วยทำให้ปัจจุบันบ้านเกาะจำมีกลุ่มประชากรอาศัยอยู่อย่างหลากหลายมากที่สุด คือ ประกอบไปด้วยชาวพุทธ – มุสลิมเชื้อสายจีน ประมาณร้อยละ 20  ชาวไทยมุสลิมพื้นถิ่นใต้ ประมาณ ร้อยละ 40 และชาวไทยใหม่ (ชาวเล/ชาวน้ำ) อีกประมาณ ร้อยละ 40
     ส่วนประวัติการตั้งชุมชนหมู่ 2 บ้านเกาะปู เกิดจากการอพยพผู้คนโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวมุสลิมพื้นถิ่นใต้จากบริเวณใกล้เคียงมาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณนี้ จากคำบอกเล่าของชาวบ้านพบว่าชุมชนบ้านเกาะปูเริ่มก่อตั้งมายาวนานมากกว่า 200 ปี ต่อมาเมื่อมีการตั้งถิ่นฐานมากขึ้นทั้งทางตอนใต้ของเกาะ (บริเวณบ้านเกาะจำ) และทางตอนบนของเกาะ (บ้านเกาะปู) ผู้คนที่อพยพมาใหม่ จึงจับจองพื้นที่ลึกเข้าไปในแผ่นดินมากขึ้น และได้แยกเขตการปกครองออกเป็น หมู่ 5 บ้านติงไหร คำว่า “ติงไหร” เป็นภาษามลายู แปลว่า “ทิ้งไว้” ซึ่งมีที่มาจากคำบอกเล่าของชาวบ้านที่กล่าวว่า มีกลุ่มเกิดมีคนหลงป่าไปหนึ่งคน พวกที่รออยู่เห็นว่ามืดแล้วจึงทิ้งคนที่หลงป่านั้นไว้

เข้าชม : 383
 
 
สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จังหวัดกระบี่
 ศรช. บ้านเกาะจำ,บ้านเกาะปู ตำบลเกาะศรีบอยา อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ โทรศัพท์ 085-790-4336
Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05HD  Update by   นายบุญมา มาดี