ถิ่นช้างงาม นามพระเศวต กาแฟวิเศษ เขตดินอุดม
                                                    
 
 การศึกษาขั้นพื้นฐาน อัธยาศัย ต่อเนื่อง

 หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551  ยึดปรัชญา คิดเป็น มาใช้ในการจัดการศึกษา ปรัชญาคิดเป็นอยู่บนพื้นฐานความคิดที่ว่า ความต้องการของแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน แต่ทุกคนมีจุดรวมของความต้องการที่เหมือนกัน คือ  ทุกคนต้องการความสุข คนเราจะมีความสุขเมื่อตัวเรา ความรู้ทางวิชาการ สังคมและสิ่งแวดล้อม ผสมกลมกลืนกันได้ก็จะมีความสุข โดยคิดแบบพอเพียง พอประมาณ ไม่มากไม่น้อย เป็นทางสายกลาง สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผล
       กระบวนการเรียนรู้ ตามปรัชญา คิดเป็นมีผู้เรียนสำคัญที่สุด โดยครูจะเป็นเพียงผู้จัดโอกาส กระตุ้นให้ผู้เรียนคิด วิเคราะห์ ปัญหาหรือความต้องการ มีการเรียนรู้จากข้อมูลจริงและตัดสินใจบนฐานข้อมูลที่เพียงพอและเชื่อถือได้ คือ ข้อมูลตนเอง วิชาการ ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม ถ้าหากสามารถทำให้ปัญหาหายไป กระบวนการก็ยุติลง ถ้ายังไม่พอใจแสดงว่ายังมีปัญหาอยู่ ก็จะเริ่มกระบวนการพิจารณาทางเลือกใหม่อีกครั้ง กระบวนการนี้ก็จะยุติลงเมื่อบุคคลพอใจและมีความสุข

หลักการ

หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 กำหนดหลักการไว้ดังนี้
      1. เป็นหลักสูตรที่มีโครงสร้างยืดหยุ่นด้านสาระการเรียนรู้ เวลาเรียน และการจัดการเรียนรู้โดยเน้นการบูรณาการเนื้อหาให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต ความแตกต่างระหว่างบุคคล และชุมชน  สังคม
      2. ส่งเสริมให้มีการเทียบโอนผลการเรียนจากการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
      3. ส่งเสริมให้ผู้เรียน ได้พัฒนาและเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต โดยตระหนักว่าผู้เรียนมีความสำคัญ สามารถพัฒนาตนเองได้ตามธรรมชาติและเต็มศักยภาพ
      4.ส่งเสริมให้ภาคีเครือข่ายมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา

จุดหมาย 

       หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช  2551 มุ่งพัฒนาให้ผู้เรียนมีคุณธรรม จริยธรรม มีสติปัญญา มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีศักยภาพในการประกอบอาชีพและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่ต้องการ จึงกำหนดจุดหมายดังต่อไปนี้
      1. มีคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยมที่ดีงามและสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติสุข
      2.มีความรู้พื้นฐานสำหรับการดำรงชีวิต และการเรียนรู้ต่อเนื่อง
      3.มีความสามารถในการประกอบสัมมาอาชีพให้สอดคล้องกับความสนใจ ความถนัดและตามทันความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ  สังคมและการเมือง
      4. มีทักษะการดำเนินชีวิตที่ดี และสามารถจัดการกับชีวิต ชุมชน  สังคมได้อย่างมีความสุขตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
      5. มีความเข้าใจประวัติศาสตร์ชาติไทย ภูมิใจในความเป็นไทย โดยเฉพาะภาษา ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี กีฬา ภูมิปัญญาไทย ความเป็นพลเมืองดี ปฏิบัติตนตามหลักธรรมของศาสนา ยึดมั่นในวิถีชีวิตและการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
      6. มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
      7. เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้  มีทักษะในการแสวงหาความรู้ สามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้และบูรณาการความรู้มาใช้ในการพัฒนาตนเอง ครอบครว ชุมชน สังคมและประเทศชาติ

 

กลุ่มเป้าหมาย 

ประชาชนทั่วไปที่ไม่อยู่ในระบบโรงเรียน

โครงสร้าง

      เพื่อให้การจัดการศึกษาเป็นไปตามหลักการ จุดหมาย และมาตรฐานการเรียนรู้ ที่กำหนดไว้ให้สถานศึกษาและภาคีเครือข่ายมีแนวปฏิบัติในการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา จึงได้กำหนดโครงสร้างของหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช  2551 ไว้ดังนี้

1. ระดับการศึกษา

ระดับการศึกษา แบ่งออกเป็นออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้คือ
1.1 ระดับประถมศึกษา
1.2 ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
1.3 ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

2.สาระการเรียนรู้

 สาระการเรียนรู้ประกอบด้วย  5 สาระ ดังนี้
       1. สาระทักษะการเรียนรู้  เป็นสาระเกี่ยวกับการเรียนรู้ด้วยตนเอง การใช้แหล่งเรียนรู้ การจัดการความรู้ การคิดเป็นและการวิจัยอย่างง่าย
       2. สาระความรู้พื้นฐาน เป็นสาระเกี่ยวกับภาษาและการสื่อสาร คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
       3. สาระการประกอบอาชีพ เป็นสาระเกี่ยวกับการมองเห็นช่องทางและการตัดสินใจประกอบอาชีพ ทักษะในอาชีพ การจัดการอาชีพอย่างมีคุณธรรมและการพัฒนาอาชีพให้มั่นคง
       4. สาระทักษะการดำเนินชีวิต เป็นสาระเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สุขภาพอนามัยและความปลอดภัยในการดำเนินชีวิต  ศิลปะและสุนทรียภาพ
       5. สาระการพัฒนาสังคม เป็นสาระที่เกี่ยวกับภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ การเมือง การปกครอง  ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี หน้าที่พลเมือง และการพัฒนาตนเอง ครอบครัว  ชุมชน  สังคม

3.กิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต

         กิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อให้ผู้เรียนพัฒนาตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคม 

4. มาตรฐานการเรียนรู้

          หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช  2551 กำหนดมาตรฐานการเรียนรู้  ตามสาระการเรียนรู้ทั้ง  5 สาระ ที่เป็นข้อกำหนดคุณภาพของผู้เรียน  ดังนี้
         1. มาตรฐานการเรียนรู้การศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นมาตรฐานการเรียนรู้ในแต่ละสาระการเรียนรู้เมื่อผู้เรียนเรียนจบหลักสูตร การศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช  2551 
         2. มาตรฐานการเรียนรู้ระดับ  เป็นมาตรฐานการเรียนรู้ในแต่ละสาระการเรียนรู้  เมื่อผู้เรียนเรียนจบในแต่ละระดับ  ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช  2551 

 



เข้าชม : 121
 
 
ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอลำทับ
ตำบลลำทับ  อำเภอลำทับ  จังหวัดกระบี่  81190
โทรศัพท์ 075-643448

Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05