วรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (S.E.A Write) หรือ ซีไรต์ ครั้งที่ 41 ประจำปี 2562 ประเภทกวีนิพนธ์ และผลงานกวีนิพนธ์ที่สามารถคว้ารางวัลยอดเยี่ยมไปครอง ได้แก่ ระหว่างทางกลับบ้าน โดย อังคาร จันทาทิพย์ เจ้าของผลงานกวีนิพนธ์ “หัวใจห้องที่ห้า” ซึ่งคว้ารางวัลซีไรต์ ประจำปี 2556 มาครอง และนั่นก็ส่งให้ชื่อของ อังคาร จันทาทิพย์ ขึ้นแท่นดับเบิลกวีซีไรต์คนแรกของประเทศไทย
กลอนสุภาพที่ใช้ภาษาเรียบง่ายแต่ทรงพลังคือเอกลักษณ์ของระหว่างทางกลับบ้าน แต่มากกว่านั้น คือการตีความหมายของคำว่า ‘บ้าน’ ในหลากหลายมิติ โดยการตั้งต้นแนวคิดจากบ้านของอังคารเองในแดนอีสาน ต่อเมื่อมีการพัฒนาโครงสร้างของบ้านให้เป็นหนังสือหนึ่งเล่ม จึงได้ขยายมุมมองของบ้านไปสู่สังคมและบ้านของคนในโลกนี้
“ผมตั้งต้นหนังสือเล่มนี้จากงาน บ้านไม่มีใครอยู่ ที่เขียนถึงครอบครัวตัวเองหลังพ่อแม่เสียชีวิต และเริ่มขยายโครงสร้างของเรื่องว่าถ้าจะเขียนถึงบ้านของเราในจังหวัดอีสานอย่างเดียวคงไม่พอ เพราะกวีนิพนธ์น่าจะทำอะไรได้มากกว่านั้น นั่นคือการอธิบายปรากฏการณ์ของสังคมไทย สังคมโลก ผมก็เลยเริ่มหาประเด็นร่วสมัยในสังคมโลกมาขยายต่อ มองแปลนบ้านแต่ละหลังจากสังคมในแต่ละพื้นที่ ว่าเกิดปรากฏการณ์ไรบ้าง บ้านของบางคนอยู่ในโลกเสมือน แต่สำหรับบางคนเขาก็อาจจะไม่มีบ้านให้กลับ งานชิ้นนี้ใช้เวลาเก็บข้อมูลนานถึง 3 ปี เหมือนเป็นการประกอบสร้างบ้าน บางบทเหมือนห้องนั่งเล่น บางบทเหมือนหลังคา บางบทเป็นเหมือนตะปูที่ยิดเหนี่ยวบ้านทั้งหลังบ้าน”
อังคาร จันทาทิพย์ บอกเล่าถึงการออกแบบ้านที่ผู้อ่านจะได้เห็นภาพทั้งบ้านของนักเขียนเอง บ้านของแรงงานข้ามชาติ บ้านของชาวโรฮีนจา บ้านของผู้ลี้ภัย โดยบ้านของผู้คนเหล่านี้มิได้เป็นเพียงที่พักอาศัยเท่านั้นหากทว่าบ้านยังเป็นความรัก ความผูกพัน หรือความทรงจำที่งดงาม อีกทั้งอังคารได้สะท้อนให้เห็นว่าระหว่างทางที่กลับบ้าน เราสามารถมองเห็นประเด็นที่ไม่เพียงได้ทบทวนตนเองอย่างมากมาย แต่ยังเรียนรู้เรื่องราวของผู้อื่นไปพร้อมกัน ทั้งนี้แปลนบ้านแต่ละหลังของแต่ละคนก็มีความซับซ้อนทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม ที่ล้วนมีเอกลักษณ์เฉพาะตน
เข้าชม : 149
|