รายชื่อหนังสือที่ได้รับรางวัลซีไรต์ (S.E.A. Write Awards)

 

 

ซีไรต์ ทับศัพท์มาจากคำว่า  S.E.A. Write ซึ่งย่อมาจาก  SouthEast Asian Writers Awards  หมายถึง รางวัลวรรณกรรมที่มอบให้แก่นักเขียน 10 ประเทศอาเซียน ได้แก่  บรูไน  กัมพูชา  อินโดนีเซีย  ลาว  มาเลเซีย  พม่า ฟิลิปปินส์  สิงคโปร์  ไทย และเวียดนาม ชื่อเต็มในภาษาไทย คือ “รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน”      แต่มักจะเรียกย่อๆ ว่า "รางวัลซีไรต์" อันเป็นชื่อซึ่งรู้จักกันทั่วไปในวงการประพันธ์ของประเทศไทย

 

รางวัลซีไรต์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2522-2558

พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ
วรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำพุทธศักราช
2561

"พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ" โดยวีรพร นิติประภา นำเสนอเรื่องเล่าของครอบครัวชาวจีนโพ้นทะเลด้วยมุมมองใหม่ การต่อสู้ดิ้นรนของชีวิตในแต่ละรุ่นของครอบครัวใหญ่ เล่าคู่ขนานไปกับเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมทั้งของไทยและจีน ซึ่งส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและชะตากรรมของตัวละครแต่ละตัว นวนิยายเรื่องนี้โดดเด่นในการใช้ความทรงจำและประวัติศาสตร์ความรู้สึกส่วนบุคคลซึ่งกลายเป็นความทรงจำร่วมของสังคม มีทั้งเรื่องที่เลือดจะเล่าและเรื่องที่เลือกจะลืม แหว่งวิ่นและคลุมเครือ

สิงโตนอกคอก รวมเรื่องสั้นรางวัลซีไรต์ 2560

รวมเรื่องสั้น สิงโตนอกคอก ของ จิตานันท์ เหลืองเพียรสมุท (จัดพิมพ์โดย แพรวสำนักพิมพ์) ซึ่งประกอบด้วยเรื่องสั้นจำนวน 9 เรื่อง มีเนื้อหาหลากหลายที่ตั้งคำถามและวิพากษ์ความเป็นมนุษย์ อำนาจนิยม มายาคติของความรู้และความเชื่อในสังคม ท้าทายความคิดของผู้อ่าน ทำให้ย้อนกลับมาใคร่ครวญถึงสังคมที่เราอยู่ในปัจจุบัน ตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน ประเทศชาติและสังคมโลก

ด้านกลวิธีใช้การเล่าเรื่องแบบอุปมานิทัศน์ (allegory) ที่มีโครงสร้างของเรื่องซ้อนกันหลายชั้นอย่างสัมพันธ์กัน โดยเชื่อมโยงตัวบทอื่น ๆ เช่น ตำนานและเรื่องเล่าที่ผู้อ่านคุ้นเคย การสร้างตัวละครและฉากที่ไม่อยู่ในบริบทสังคมไทยเป็นการข้ามพรมแดนของการเล่าเรื่องไปสู่ความเป็นสากล ผู้เขียนใช้ภาษาในการเล่าเรื่องอย่างเรียบง่ายทว่าลุ่มลึกและคมคาย
กวีนิพนธ์รางวัลซีไรต์ ปี 2559
"นครคนนอก" กล่าวถึงภาพเมืองที่มีการปะทะสังสรรค์ระหว่างผู้คนกับกระแสคลื่นโซเชียล ให้ภาพการเปลี่ยนถ่ายจากวัฒนธรรมเก่าไปสู่วัฒนธรรมใหม่อย่างฉับพลัน ทั้งยังแสดงวิถี และทัศนะของผู้คนในตรรกะที่เปลี่ยนแปลงไปจากสังคมไทยที่ผ่านมา รวมถึงความไม่เป็นธรรมทางการเมืองบางประการ ในทางกลับกันยังคงมีชีวิตของคนบางกลุ่มที่ยังดำเนินวิถีชีวิตอย่างเป็นสุข โดยไม่เกี่ยวข้องกับโซเชียลเน็ตเวิร์กที่กำลังถาโถมเข้าสู่ผู้คนทุกหมู่เหล่า ซึ่ง "พลัง เพียงพิรุฬห์" ได้เลือกถ่ายทอดผ่านบทกวีหลากหลายรูปแบบ ทั้งที่เป็นการนำเสนอตามแนวขนบนิยมอย่างเคร่งครัด การคิดสร้างสรรค์ที่เป็นไปตามสมัยนิยม รวมถึงการนำเสนอผ่านวรรณรูปที่มีความหมายจากคำและจากภาพที่ปรากฏ นอกจากนี้ บทกวี "นครคนนอก" ยังเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้อ่านได้ย้อนทบทวนตัวเองว่า ได้ไหลไปตามกระแสนั้น จนทำให้เราเป็น "คนนอกนคร" ไปได้ในที่สุด

ปีที่ได้รับรางวัล 2558                                                                                              
วีรพร นิติประภา. (2558). ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : มติชน,
256 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : นวนิยายที่เต็มไปด้วยศัพท์แสงสัญลักษณ์ในทุกฉากตอน ฉาบซ่อนในเรื่องรักสามเส้าแสนธรรมดา ปรุงรสด้วยเสน่ห์รายละเอียดของความร่วมสมัยผ่านบุคลิก รสนิยม และการดำเนินชีวิตของตัวละครเรื่องนี้ ถ้าจะอ่านเอารส ก็เพลินใจไปกับลีลาการใช้ภาษาที่ลื่นไหลด้วยวรรณศิลป์งดงาม ฉายให้เห็นชะตาชีวิตของผู้คนอย่างเราๆ ท่านๆ ที่มีชีวิตอยู่กับความรัก ผิดหวัง กำพร้า แสวงหา ความจำเสื่อม บ้าอยู่กับการหลอกตัวเองและคนอื่น เพื่อรอให้จุดจบมาถึงในวันหนึ่ง ส่วนถ้าจะอ่านเอาเรื่อง ก็สามารถทำให้ขบคิด พินิจพิเคราะห์ และคาดเดาไปต่างๆ ได้อย่างฉงนฉงาย ว่าทำไมหนอเด็กกำพร้าเหล่านี้จึงมีชีวิตที่แหว่งวิ่นเสียเหลือเกิน อะไรที่ปะติดปะต่อชะตากรรมของทุกตัวละครเข้าด้วยกัน อะไรที่ทำให้พวกเขาพลัดหลงไปทั้งภายในและภายนอกจิตใจ... ความรู้สึกเมื่อปิดหน้าสุดท้ายลง ก็คือเราจะรักชีวิตมากขึ้น...เท่านี้ไม่เพียงพอหรือสำหรับการเป็นนวนิยายดีๆ เล่มหนึ่ง

ปีที่ได้รับรางวัล 2557                                                                                               
แดนอรัญ แสงทอง. (
2557). อสรพิษและเรื่องอื่นๆ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สามัญชน,
383 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : รวมเรื่องสั้น 12 เรื่อง เสนอการต่อสู้ในสองระดับ ทั้งการต่อสู้ภายในจิตใจมนุษย์กับกิเลสต่างๆ และการต่อสู้กับกระแสความคิดความเชื่อที่ครอบงำสังคม ผ่านมุมมอง น้ำเสียง สำเนียงภาษาที่แตกต่าง และรูปแบบการเล่าเรื่องอันหลากหลาย เช่น วรรณกรรมแนวพาฝัน วรรณกรรมสยองขวัญ เป็นต้น ทำให้ผู้อ่านครุ่นคิดถึงอำนาจของชะตากรรมและความยิ่งใหญ่แห่งพลังศรัทธา

 

ปีที่ได้รับรางวัล 2556                                                                                                       อังคาร จันทาทิพย์. (2556). หัวใจห้องที่ห้า. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : ผจญภัยสำนักพิมพ์
173 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : หัวใจห้องที่ห้า นำเสนอเรื่องเล่าโดยจำลองวิวัฒนาการของมนุษย์ตั้งแต่ยุคโบราณก่อนประวัติศาสตร์ การตั้งชุมชนจนถึงสังคมร่วมสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมเมือง ซึ่งประกอบไปด้วย คนไร้บ้าน คนพลัดถิ่น คนกลุ่มน้อย โดยเชื่อมโยงเรื่องเล่าในอดีตกับวิถีชีวิตในปัจจุบัน ซึ่งล้วนระทมทุกข์ นำเสนอการปะทะสังสรรค์ท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรม

 

ปีที่ได้รับรางวัล 2555                                                                                                        วิภาส ศรีทอง. (2555). คนแคระ. กรุงเทพฯ : สมมติ, 437 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : เป็นนวนิยายที่นำเสนอเรื่องราวแห่งโลกปัจจุบัน ที่ขับเคลื่อนไปด้วยความไร้เหตุผล มีแต่เพียงจิตใต้สำนึกที่เป็นแรงผลักดัน เป็นเรื่องราวเสนอปัญหาสัมพันธภาพระหว่างมนุษย์ สะท้อนให้เห็นถึงการขาดความตระหนักถึงคุณค่าของความเป็นมนุษย์ หมกหมุ่นอยู่กับปัญหาของตนเอง สิ่งที่มนุษย์กระทำต่อกันปราศจากคำอธิบายไม่มีศีลธรรมจรรยาใด ๆ และหาทางสร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำของตัวเอง

 

ปีที่ได้รับรางวัล 2554                                                                                                        จเด็จ กำจรเดช. (2554). แดดเช้าร้อนเกินกว่าจะนั่งจิบกาแฟ. กรุงเทพฯ : Pajonphai,
403 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : แดดเช้าร้อนเกินกว่าจะนั่งจิบกาแฟ”  เป็นรวมเรื่องสั้น 12  เรื่อง ที่ทำให้เรามองสิ่งต่างๆ รอบตัวด้วยดวงตาที่เปลี่ยนไป เรื่องสั้นเหล่านี้แม้จะดูหนักหน่วงมีมติที่ซับซ้อน มีมุมมองที่แปลกต่าง หากแต่มีความหมายอันน่าพินิจ นักเขียนเน้นเล่าเรื่องอย่างมีชั้นเชิงอย่างซ่อนเงื่อน ซ่อนปม กำกับบาทบาทความคิดอย่างมีศิลปะ ในการเรียงร้อยและจัดวางจังหวะถ้อยคำและข้อความ เรื่องราวที่มีลีลาเชิงอุปลักษณ์ ประชด ประชัน ยั่วล้อ การละเล่นกับความแปลกประหลาด ความชำรุดของสังคมและปรัชญาที่แฝงอยู่ ลงไปถึงรายละเอียดของอารมณ์มนุษย์ ภายหลังเผชิญความโศกเศร้าและหายนะ เผชิญชะตากรรมที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ เนื้อหาแต่ละเรื่อง เรียกอารมณ์ และวิธีการมองโลก กระตุ้นให้คิดตามและคิดต่อ

 

ปีที่ได้รับรางวัล 2553
ซะการีย์ยา อมตยา. (2553). ไม่มีหญิงสาวในบทกวี. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : 1001 ราตรี, 93 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : เป็นกวีนิพนธ์ ที่นำเสนอแนวความคิดเพื่อการดำรงอยู่และการดำเนินชีวิตอย่างสันติสุขที่ผสมผสาน วรรณศิลป์ ปรัชญา และศิลปะเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน ประกอบด้วยเนื้อหาหลากหลายมิติ ตั้งแต่ปัจเจกบุคคล จนถึงระดับสังคม ไม่ผูกติดกับยุคสมัย ไม่มีพรมแดน ข้ามมิติเวลา และมิติพื้นที่ มีความลุ่มลึก กระตุ้นให้เกิดจินตนาการ ขบคิดและคิดต่อ โดยแต่งด้วยกลอนเปล่า ซึ่งเป็นคำประพันธ์ที่ไร้ฉันทลักษณ์ เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจง่ายและไม่ซับซ้อน สร้างจินตนาการให้ผู้อ่านเกิดภาพ ในขณที่กำลังอ่านบทกวี

 

ปีที่ได้รับรางวัล  2552
อุทิศ เหมะมูล. (2552). ลับแลแก่งคอย. กรุงเทพฯ : แพรว, 444 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : ลับแล แก่งคอย”  เป็นนวนิยายที่กล่าวถึงเรื่องราวที่มีมิติอันซับซ้อนในตัวตนของลับแล วงศ์จูเจือ เด็กหนุ่ม วัยคะนอง  ซึ่งมีพฤติกรรมต่อต้านพ่อเลี้ยงของตนเอง อีกทั้งยังมีพฤติกรรมแปลกประหลาด ลับแลจึงถูกนำตัวไปรักษายังวัดป่าแห่งหนึ่ง ลับแลอยู่ในความดูแลของท่านเจ้าอาวาส ซึ่งเจ้าอาวาสมักจะให้ลับแลระบายความในใจและบอกเล่าประวัติความเป็นมาของตนเอง และครอบครัวตลอดหลังทำวัตรเย็นในทุกๆ วัน ซึ่งเป็นบทสรุปและจุดหักเหของเรื่องราวต่างๆ ตั้งแต่เริ่มต้น นิยายเล่มนี้ การสื่อสารผ่านตัวอักษรของเนื้อเรื่อง  ทำให้ผู้อ่านเข้าถึงแก่นแท้ของตัวละคร ราวกับว่าพวกเขามีตัวตนอยู่จริง อาจเป็นเพราะ ผู้ประพันธ์พื้นเพเดิมเป็นคนแก่งคอย ทำให้บรรยายรากเหง้า ชาติพันธุ์ลักษณะภายในชุมชน สังคม ความเชื่อ เรื่องเล่า คำสอนทางศาสนา และวิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่น จากยุคอดีตและปัจจุบันบางส่วน  รวมถึงวัตรปฏิบัติของสงฆ์ได้อย่างถึงแก่นแท้ยิ่งนัก

 

ปีที่ได้รับรางวัล 2551                                                                                       
วัชระ
 สัจจะสารสิน. (2551). เราหลงลืมอะไรบางอย่าง. กรุงเทพฯ : นาคร, 238 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : เราหลงลืมอะไรบางอย่าง เป็นรวมเรื่องสั้นสิบสองเรื่องที่กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคมและความเป็นไปของเหตุการณ์บ้านเมืองที่ทันสมัยในเชิงให้รายละเอียด นักเขียนเน้นความเปลี่ยนแปลงทางความรู้สึกของผู้คนทั้งในสังคมชนบทและสังคมเมือง ที่ถูกกลายกลืนดวยความเจริญของสังคมเมือง จากความละเมียดละไม ไปสู่ความหยาบกระด้างและในที่สุดความรู้สึกแบบสังคมเมืองก็ครอบคลุมสภาพจิตใจของชนบทไว้ได้อย่างสิ้นเชิง นักเขียนยังเลือกที่จะท้าทายอำนาจรัฐ ด้วยการตั้งคำถามบางประการผ่านตัวละครวิกลจริต นำเสนอภาพเมืองที่สกปรกเต็มไปด้วยสารพันปัญหา รวมทั้งมลพิษและอาหารขยะด้วยเรื่องเล่าของคนเก็บขยะ กล่าวได้ว่ารวมเรื่องสั้นชุดนี้โดดเด่นด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องในแบบเฉพาะตน คือตั้งคำถามกับปัญหาในลักษณะที่เป็นปัญญาชน นำเสนอสัญญะในเชิงเปรียบเทียบเว้นจากการสรุปหรือแนะทางออกด้วยการเปิดปลายให้ผู้อ่านขบคิดต่อคำถามเหล่านั้นเอาเอง

 

ปีที่ได้รับรางวัล 2550
มนตรี ศรียงค์. (2551). โลกในดวงตาข้าพเจ้า. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : สามัญชน,
142 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : โลกในดวงตาข้าพเจ้า ของมนตรี ศรียงค์ เป็นบันทึกภาพความเคลื่อนไหวในชุมชนเล็กๆ ผ่านดวงตาพิเศษของกวี ด้วยมุมมองเฉพาะตัวที่โดดเด่น ผสมผสานกับการย้อนรำลึกเรื่องราวเกี่ยวกับผู้คนที่ผ่านมาในชีวิต สามารถทำให้เรื่องที่เป็นรูปธรรมเหล่านั้น โยงไปสู่ภาพสังคมโดยรวมได้ โดยถ่ายทอดไว้ในบทกวี ที่สรรหาคำ และการเรียบเรียงลำดับภาพความคิดด้วยชั้นเชิงทางวรรณศิลป์

 

ปีที่ได้รับรางวัล 2549
งามพรรณ เวชาชีวะ. (2549). ความสุขของกะทิ. พิมพ์ครั้งที่ 12. กรุงเทพฯ :แพรว, 118 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : เป็นนวนิยายขนาดสั้น เล่าเรื่องราวของกะทิ เด็กหญิงวัย 9 ขวบ ที่อยู่ในสังคมแบบชนบทที่ดำเนินไปอย่างเรียบง่ายและสงบสุข ซึ่งเป็นชีวิตอย่างที่ผู้คนจำนวนมากในเมืองต่างก็โหยหา แต่กะทิต้องผ่านประสบการณ์การสูญเสียครั้งสำคัญที่สุด เมื่อแม่ต้องจากไปก่อนวัยอันควรกะทิ ได้ผ่านขั้นตอนความสุขและทุกข์ ความผูกพันและการพลัดพราก ความสมหวังและการสูญเสียถึงกระนั้น กะทิได้เรียนรู้ว่าความทุกข์จากการสูญเสีย ไม่อาจพรากความสุขจากความรักและความผูกพัน ของแม่กับเธอได้ เด็กน้อยเติบโตขึ้นจากประสบการณ์นี้ด้วยความเชื่อมั่นและกำลังใจในการดำรงชีวิตต่อไปจากบุคคลใกล้ชิด ผู้ที่เธอรักและรักเธอ ความสุขของกะทิ เป็นนวนิยายที่สื่อแนวคิดซึ่งเป็นที่เข้าใจได้สำหรับผู้อ่านที่หลากหลายไม่ว่าอยู่ในวัยและวัฒนธรรมใด โดยสอดแทรกความเข้าใจชีวิตของตัวละครที่ได้เรียนรู้ไปตามประสบการณ์ ความสะเทือนอารมณ์จะค่อยๆ พัฒนาดิ่งลึกในห้องนึกคิดของผู้อ่าน นำพาให้ผู้อ่านอิ่มเอมกับรสแห่งความโศกอันเกษมที่ได้สัมผัสประสบการณ์ของชีวิตเล็กๆ ของเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง 

ปีที่ได้รับรางวัล  2548
บินหลา สันกาลาคีรี. (2548). เจ้าหงิญ. กรุงเทพฯ : มติชน, 127 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : เจ้าหงิญเป็นรวมเรื่องสั้น 8 เรื่องอาจอ่านแยกกันเป็นเรื่องๆ แต่ด้วยการเรียงร้อยเข้าด้วยกัน ทำให้เรื่องสั้นแต่ละเรื่องกลายเป็นเรื่องสั้นในเรื่องยาว เป็นนิทานซ้อนนิทานที่เรื่องต้นกับเรื่องท้ายมาบรรจบกันอย่างแนบเนียน ผู้ประพันธ์สร้างตัวละครหลากหลาย ทั้งคน สัตว์ สิ่งของ แบบนิทานเปรียบเทียบที่อุดมด้วยสีสันรวมทั้งการเล่นคำ โดยเฉพาะชื่อ เจ้าหงิญที่สื่อความหลายนับ และอารมณ์ขัน มีลีลาภาษาที่รุ่มรวยด้วยโวหาร เร้าจินตนาการและความคิด

 

ปีที่ได้รับรางวัล2547
เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์. (2547). แม่น้ำรำลึก. กรุงเทพฯ : รูปจันทร์, 107 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : เป็นกวีนิพนธ์ที่นำเสนอภาพชีวิตของการย้อนความคิดของชายชรา กลับไปสู่ชีวิตช่วงในวัยเยาว์ โดยรำลึกย้อนผ่านสถานที่ ผู้คน เหตุการณ์และสรรพสิ่งรอบตัวให้ภาพที่สร้างขึ้นจากจินตนาการและประสบการณ์ เป็นบทกวีเล่าถึงเรื่องราวของความฝัน ความจริง ความสุข ความขัดแย้งที่กลมกลืนกัน มีเอกภาพ มีภาพชีวิตในวัยเยาว์เป็นปฐมบท และสรุปปิดฉาก ในปัจฉิมบท ซึ่งเป็นภาพของชายชราบนเก้าอี้โยกริมระเบียงที่บ้านชายน้ำในเวลาพลบค่ำ

 

ปีที่ได้รับรางวัล 2546
เดือนวาด พิมวนา. (2546). ช่างสำราญ. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : สามัญชน, 231 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : เป็นนวนิยายแสดงภาพชีวิตของเด็กบ้านแตกคือเด็กชายกำพล ช่างสำราญ ที่ถูกทอดทิ้งให้อยู่ในชุมชนห้องแถวคุณแม่ทองจันทร์ เพราะแม่มีชู้ พ่อหอบน้องเงียบหายไป กำพลต้องกลายเป็นเด็กจรจัด เข้าบ้านโน้นออกบ้านนี้ มีผู้ปกครองหลายคน ดังนั้นเนื้อหาของเรื่องส่วนหนึ่งจึงเป็นเรื่องของชาวบ้านที่ชอบยุ่งเรื่องของเพื่อนบ้าน แต่ความเป็นจริงแล้ว ลักษณะนี้เป็นรากเหง้าทางวัฒนธรรมไทยแม้จะเป็นการยุ่งสอดรู้สอดเห็น แต่ก็แฝงไปด้วยความเอื้ออาทรที่มีต่อเด็กชายคนนี้

 

ปีที่ได้รับรางวัล 2545
ปราบดา หยุ่น. (2545). ความน่าจะเป็น. พิมพ์ครั้งที่ 9. กรุงเทพฯ : สุดสัปดาห์, 201 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : ความน่าจะเป็นเป็นหนังสือที่รวบรวมเรื่องสั้นของปราบดา หยุ่น ถือเป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรง จำนวนไม่กี่คนที่มองโลกในมุมกลับ เขาใช้เวลาในช่วงที่เว้นวรรคจากการทำงานด้านศิลปะ มาคิดประดิดประดอยตัวหนังสือ เขียนภาพผู้คนและสังคมในจินตนาการออกมาด้วยสำนวนภาษาลุ่มลึก หากกวนอารมณ แสบๆ คันๆ  คล้ายโดนตัว คุ่นกัด ปราบดา เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่กล้ายิงคำถามพร้อมตั้งคำถามไว้มากมายที่คนทั่วไป ไม่เคยถามแต่ละคำถามเป็นคำถามที่ผู้คนไม่เคยคิดที่จะตอบ แสดงให้เห็นว่าเขาเป็นคนช่างคิด คิดในมุมมองที่แตกต่างไปจากคนอื่น จนทำให้รู้สึกว่าทุกคำถาม จากแง่คิดของเขาล้วนมี ความน่าจะเป็นทั้งสิ้น ปราบดา หยุ่นเป็นคนที่ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ เหมือน 1 ในจำนวน 13 เรื่องสั้น ทั้ง 13 เรื่องนี้ ที่เขาเขียนไว้ว่า อย่าเชื่อคำที่ออกมาจากปากคนอื่นจนเกินไปนัก เพราะมันไม่ตรงกับความเป็นจริง” 

 

ปีที่ได้รับรางวัล 2544                                                                                                        โชคชัย บัณฑิต. (2547). บ้านเก่า. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : รูปจันทร์, 119 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : บ้านเก่า เป็นหนังสือที่รวมบทกวีนิพนธ์ ที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตคนในชนบทที่กำลังเปลี่ยนไปพร้อมกระแสบริโภคนิยมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ความแตกต่างระหว่างสังคมเมืองและสังคมชนบท รวมถึงคุณค่าทางจิตใจและคุณค่าทางวัตถุ ที่กำลังเป็นปัญหาหลักที่สำคัญ โดยผ่านทางบทกวีที่สะท้อนสภาพสังคม และการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งผู้แต่งได้พบเห็นมาโดยเปรียบเสมือนภาพบ้านหลังเก่าๆ ที่ค่อยๆ เลือนหายไปเนื่องจากกระแสบริโภคนิยมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้เข้ามาแทนที่ ซึ่งผู้แต่งได้สื่อสภาพการเปลี่ยนแปลงทางสังคมผ่านบทกวีได้อย่างชัดเจน

 

ปีที่ได้รับรางวัล 2543                                                                                                   
วิมล ไทรนิ่มนวล. (2548). อมตะ. พิมพ์ครั้งที่ 5. ปทุมธานี : สยามประเทศ, 222 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : อมตะ เป็นนวนิยายวิทยาศาสตร์ที่สมมุติเรื่องในอนาคต โดยแบ่งตัวละครเป็น 2 ฝ่าย 2 ทัศนะ ตัวละครฝ่ายหนึ่งเชื่อมั่นในหลักปรัชญาแห่งวิทยาศาสตร์วัตถุนิยมว่าสามารถเป็นวิถีให้มนุษย์ไปสู่ความเป็นอมตะได้ด้วยวิธี โคลนนิ่งส่วนตัวละครอีกฝ่ายหนึ่งเชื่อมั่นในหลักปรัชญาแห่งศาสนาตะวันออก ว่าจะเป็นวิถีนำพามนุษย์ไปสู่ความเป็นอมตะได้ด้วยวิธี วิปัสสนาโดยการนำเสนอเรื่องของนักธุรกิจที่อยากอยู่ได้อย่างอมตะ จึงทำ โคลนมนุษย์ไว้ เป็นอะไหล่ของเขาเอง เมื่อส่วนใดเสื่อมก็ผ่าตัดเปลี่ยนเอาใหม่จาก โคลนของเขาเอง เป็นการผูกปมให้ชวนติดตามด้วยความใคร่รู้ ทั้งเนื้อเรื่องและประเด็นวิวาทะ และการใช้ปรัชญาพุทธศาสนาเหมือนกับจะฉุดรั้งความคิดของคนสมัยใหม่ ที่ใช้ชีวิตในโลกยุคที่ยึดมั่นถือมั่นแต่วัตถุ เพราะความทันสมัยของเทคโนโลยี ให้กลับมาคำนึงถึง เรื่อง ชีวิตจิตใจซึ่งเป็นหัวใจของตัวตนมนุษย์

 

ปีที่ได้รับรางวัล  2542
วินทร์ เลียววาริณ. (2542). สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : ดับเบิ้ลนายน์ พริ้นติ้ง,   334 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : รวมเรื่องสั้นที่ผู้เขียนเสนอแนวคิดเชิงวิเคราะห์เกี่ยวกับความเป็นคน ซึ่งมีพฤติกรรมแตกต่างกันไป อันเป็นผลจากปัจจัยภายในและภายนอกตามสภาวะธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางสังคม งานเขียนแบ่งเป็นสองส่วน คือ บทความและเรื่องสั้นที่นำเสนอเนื้อหาด้วยความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ สามารถสื่อเรื่องราวและความคิดที่ซับซ้อน ลึกซึ้งด้วยอรรถรสที่สร้างอารมณ์และความรู้สึกที่กระตุ้นให้ผู้อ่านได้ตระหนักถึงปัญหาและเข้าใจแง่มุมต่างๆ ของพฤติกรรมมนุษย์ได้เป็นอย่างดี

 

ปีที่ได้รับรางวัล  2541
แรคำ ประโดยคำ. (2541). ในเวลา. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: รูปจันทร์, 125 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : เป็นกวีนิพนธ์ที่แสดงความคิดแหลมคมด้วยเนื้อหาหลากหลาย นำเสนอความคิดอันเป็นสากล เป็นอกาลิโก และมีสุนทรีย์รสแห่งวรรณศิลป์ แม้บทกวีกล่าวถึงสิ่งธรรมดาสามัญใกล้ตัว แต่ด้วยชั้นเชิงการประพันธ์และความละเอียดซับซ้อน  ทำให้ผู้อ่านตีความได้หลายนัย ในเวลา จึงเป็นบทกวีที่ชวนให้อ่านอย่างไตรตรอง ผู้อ่านสามารถเข้าใจ เข้าถึงและประจักษ์ในคุณได้ของสารที่ผู้เขียนนำเสนอ

 

ปีที่ได้รับรางวัล |2540
วินทร์ เลียววาริณ. (2537). ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน. กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า,435 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : เป็นนวนิยายบันทึกเหตุการณ์จริงตามประวัติศาสตร์ในระหว่างเริ่มเปลี่ยนแปลงการปกครอง พุทธศักราช 2475 จนถึงพุทธศักราช 2535 เสมือนกระจกเงาบานใหญ่ที่สะท้อนภาพกงล้อการเมืองไทยในช่วงหกสิบปีที่ผ่านมา แนวคิดประชาธิปไตยที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละยุค ดุจดั่งเส้นตรงสองเส้นที่วิ่งขนานกัน ทำให้เกิดคำถามว่า จะมีบ้างไหมที่สักวันหนึ่งมันจะเบี่ยงตัวรวมเป็นเส้นเดียวกัน เพื่อความมั่นคงของประชาธิปไตยที่ชาวไทยทุกคนปรารถนา 

 

ปีที่ได้รับรางวัล  2539
กนกพงศ์ สงสมพันธุ์. (2539). แผ่นดินอื่น. ปทุมธานี : นาคร, 376 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นประกอบด้วยเรื่องสั้น 8 เรื่อง สะท้อนปัญหาของชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่น ทั้งในระดับปัจเจกบุคคล ครอบครัว สังคม นำเสนอชีวิตหลากหลายด้วยแนวธรรมชาตินิยมสะท้อนความคิด ความเชื่อ คุณค่าและคตินิยมพื้นถิ่นอย่างลึกซึ้งและแหลมคม ชี้ให้เห็นว่าสังคมแม้ต่างวัฒนธรรม ต่างความเชื่อมนุษย์ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้โดยไมตรีสัมพันธ์ เป็นเรื่องสั้นที่มีคุณค่าทางวรรณศิลป์

 

ปีที่ได้รับรางวัล 2538
ไพวรินทร์ ขาวงาม. (2538). ม้าก้านกล้วย. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : แพรว, 136 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : เป็นกวีนิพนธ์ไทยร่วมสมัยที่สะท้อนให้เห็นพลังชีวิตและจิตใจของคนชนบท ที่เข้ามาสู่เมือง เป็นความผูกพันของผู้เขียนที่ยังไม่ลืมถิ่นเก่าบ้านเกิด จึงเป็นสารถีขี่ม้าก้านกล้วยหนีโลกแห่งความแออัดแบบวิถีเมืองสู่โลกแห่งความงามธรรมชาติแบบวิถีชนบท

 

ปีที่ได้รับรางวัล 2537                                                                                                     ชาติ กอบจิตติ. (2537). เวลา. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: หอน, 232  หน้า.

บรรณานิทัศน์ : เป็นนวนิยายที่เสนอเรื่องราวและแนวคิดในการดำเนินชีวิตที่หลากหลาย โดยในเรื่องมีตัวละครซึ่งเป็นผู้กำกับการแสดง เข้าไปนั่งดูละครเวทีเรื่องหนึ่งที่ได้เชื่อว่าน่าเบื่อในรอบปี ซึ่งเน้นละครเวทีที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับสถานสงเคราะห์คนชราในโรงพักฟื้น เป็นการดำเนินชีวิตของคนชราที่อาศัยอยู่ที่นั่น โดยมีเรื่องราวต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย มีเสียง ไม่มีอะไร ไม่มีอะไรจริงดังจากห้องปริศนามาเป็นระยะเป็นปริศนาที่ให้ผู้อ่านคิดว่าห้องนั้นมีอะไร เรื่องราวดำเนินมาเรื่อยๆ จนมีตัวละครที่เป็นคนชราคนหนึ่งตาย ชื่อก็คือยายอยู่ ซึ่งแก่ตายอย่างสงบ ซึ่งการตายของแกเป็นการทำให้เรื่องราวเดินมาถึงจุดจบ เป็นการเฉลยห้องปริศนานั้น เมื่อเปิดห้องก็ไม่พบอะไรเลยกลับเป็นห้องว่างเปล่า ไม่มีเครื่องใช้ของใช้ที่ยืนยันว่าเคยมีคนอยู่เลย เป็นการจบเรื่องแบบให้ผู้ใด ได้คิดเองว่าห้องว่างเปล่านั้นคืออะไร

ปีที่ได้รับรางวัล 2536
ศิลา โคมฉาย. (2536). ครอบครัวกลางถนน. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : มิ่งมิตร, 143 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นที่สะท้อนภาพชีวิตของคนชั้นกลางในเมืองหลวงที่กำลังต่อสู้ดิ้นรนท่ามกลางความผันแปร ของสังคมปัจจุบัน การเผชิญปัญหาครอบครัว การเมืองและเศรษฐกิจ ในเล่มนี้มีเรื่องสั้น 13 เรื่อง ส่วนใหญ่แสดงภาพชีวิตและสังคมรอบตัวที่กระตุ้นให้ผู้อ่านสำนึกถึงบทบาทของตนในฐานะสมาชิกของสังคม รวมทั้งการนำปัญหาหลากหลายแง่มุมมาผูกร้อยเป็นเรื่องราว เช่น การดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ความสัมพันธ์และความขัดแย้งของคนในครอบครัว ความเครียดที่ถูกสังคมบีบคั้นและเร่งรัด และความกดดันรุนแรงที่ไม่มีทางออก

 

ปีที่ได้รับรางวัล  2535
ศักดิ์สิริ มีสมสืบ. (2535). มือนั้นสีขาว. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ย่ามหนังสือ, 80 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : รวมบทกวีนิพนธ์ไทยสมัยใหม่ ที่สร้างสรรค์ทั้งความคิดและวิธีการนำเสนอ มุ่งแสดงอุดมคติอันเชิดชู คุณค่า ความบริสุทธิ์และความมีน้ำใจของมนุษย์ กวีถ่ายทอดความคิดเป็นรูปธรรมที่เข้าใจได้ง่าย ผ่านบุคคลและเหตุการณ์สมมติ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในชีวิติจริงและสังคมจริง แสดงความแตกต่างระหว่างสภาวะอันบริสุทธิ์ไม่แสแสร้งของเด็กกับสภาวะของผู้ใหญ่ที่ถูกครอบงำด้วยกรอบของสังคมในแต่ละบทกวี เสนอแง่ความคิดอย่างประณีต

 

ปีที่ได้รับรางวัล 2534
มาลา คำจันทร์. (2532). เจ้าจันท์ผมหอมนิราศพระธาตุอินทร์แขวน. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : คณาธร, 109 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : เป็นนวนิยายที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับเจ้าหญิงล้านนา ภาษาที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นภาษาถิ่น เพื่อให้เหมาะสมกับเนื้องเรื่อง และผู้เขียนได้บอกความหมายของคำเหล่านั้นไว้ด้วยเนื้อเรื่องกล่าวถึงเจ้าจันท์ตัวเอกของเรื่องเป็นผู้เดินทางไปนมัสการพระธาตุอินทร์แขวนพร้อมกับคู่หมั้นที่จะต้องแต่งงานกัน ระหว่างการเดินทางเจ้าจันท์ครวญถึงเจ้าหล้าอินทะ ซึ่งเป็นคู่รักด้วยความคิดถึง จุดประสงค์ของเจ้าจันท์ ในการเดินทางไปนมัสการพระธาตุอินท์แขวนในครั้งนี้ นอกจากจะเพื่อตัดผมหอมที่บำรุงรักษามาห้าปีถวายบูชาพระธาตุปีเกิดแล้ว ยังตั้งใจจะปูผมหอมลอดพระธาตุและตั้งจิตบนพระธาตุว่าหากผมหอมนี้ปูลอดพระธาตุได้ นางจะกลับไปหาคนรัก หากปูลอดพระธาตุไม่ได้นางจะแต่งกับพ่อเลี้ยงซึ่งเป็นคู่หมั้น สุดท้ายเมื่อผมลอดไม่ได้เจ้าจันท์จึงได้ปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุนั้น แล้วตัดสินใจแต่งงานกับชายที่ไม่ได้หมายปอง

ปีที่ได้รับรางวัล 2533
อัญชัน. (2536). อัญมณีแห่งชีวิต. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : ภูผา, 239 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : หนังสือ อัญมณีแห่งชีวิตเป็นเรื่องสั้นชุดประกอบด้วยเรื่องสั้น 11 เรื่อง เนื้อเรื่องมีหลากหลาย เสนอปัญหาต่างๆ ของชีวิต ตั้งแต่ปัญหาชีวิตส่วนตัว ปัญหาครอบครัว สังคม จนถึงปัญหาที่กล่าวถึงวัฏจักรแห่งชีวิตอันเป็นสัจธรรมในการดำเนินชีวิต

 

ปีที่ได้รับรางวัล | 2532
จิระนันท์ พิตรปรีชา. (2532). ใบไม้ที่หายไป. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : อ่านไทย, 91 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : กวีนิพนธ์เรื่องนี้เป็นเรื่องราวเชิงบันทึกของชีวิตตอนหนึ่งของผู้ประพันธ์ระหว่าง พ.ศ. 2513-2529 ตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาวัยรุ่นกลุ่มก้าวหน้ามีอุดมการณ์สูงสุด มีความใฝ่ฝัน มีปรัชญาชีวิต จวบจนกระทั่งได้ตระหนักถึงความจริงของชีวิตที่ว่าทุกชีวิตต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ดังเช่นชีวิตของผู้เป็นแม่นั้น ไม่เพียงกำหนดอนาคตของลูกเท่านั้น หากรวมทั้งชีวิตตนเองและผู้ใกล้ชิด

 

ปีที่ได้รับรางวัล  2531
นิคม รายยวา. (2528). ตลิ่งสูงซุงหนัก. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ต้นหมาก, 192 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : เป็นนวนิยายที่ให้ข้อคิดและความรู้เกี่ยวกับการใช้ชีวิตของควาญช้างที่มีฐานะยากจน ชื่อคำงาย ซึ่งคำงายนั่นทำงานให้กับพ่อเลี้ยง โดยเป็นควาญช้างลากซุง และแกะสลักไม้ ตอนที่คำงายยังเด็ก อยู่กับพ่อของเขามีช้างเชือกหนึ่งชื่อว่า พลายสุดคำงายรักพลายสุดมาก ต่อมาด้วยความยากจนพ่อจึงจำเป็นต้องขายพลายสุดให้กับพ่อเลี้ยง คำงายจึงหวังเสมอว่าเมื่อโตขึ้นจะต้องซื้อพลายสุดคืนมาให้ได้ พอโตขึ้นคำงายมีภรรยาชื่อมะจัน และลูกชายชื่อ เอ และได้เข้าทำงานกับพ่อเลี้ยง พ่อเลี้ยงให้คำงายทำงานเกี่ยวกับสตัฟฟ์ซากสัตว์ แต่คำงายขออนุญาตไปเป็นควาญช้างลากซุง ซึ่งคำงายมีความสุขที่ได้ทำงานกับพลายสุด ต่อมาพลายสุดได้โดนลักตัดงาทั้งสองข้างไป พ่อเลี้ยงได้เสนอให้คำงายแกะสลักช้างจากไม้ให้มีขนาดเท่ากับช้างของจริง เพื่อแลกกับการไถ่ตัวพลายสุด แต่ทั้งคำงายและพลายสุดได้มาจบชีวิตลงในขณะที่ทั้งคู่กำลังขนซุงขนาดใหญ่ พลายสุดได้พลาดตกจากตลิ่งสูง ทั้งคู่เสียชีวิตพร้อมกัน ผู้เขียนต้องการเน้นให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่มักแสวงหาความหมายและคุ่ณค่าของชีวิตและพบว่าทุกคนมีเกิดและตายอย่างละหนึ่งหน แต่สิ่งที่อยู่ระหว่างกลางนั้นเป็นชีวิต เราต้องแสวงหาเอาเอง

 

ปีที่ได้รับรางวัล 2530
ไพฑูรย์ ธัญญา. (2533). ก่อกองทราย. พิมพ์ครั้งที่ 16. กรุงเทพฯ : นาคร, 175 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : รวมเรื่องสั้นทั้งหมด 12 เรื่อง เนื้อเรื่องมีลักษณะที่แสดงถึงชีวิตและธรรมชาติของมนุษย์ที่เป็นสากล แต่ก็มีสีสันของท้องถิ่นและความเป็นไทย ทั้งในด้านถ้อยคำและการใช้ฉากที่เป็นท้องเรื่องมีความหลากหลาย แสดงปัญหาและแง่มุมต่างๆ ของชีวิตความคิดความเชื่อของคนในชนบท และบางเรื่องก็แสดงถึงสัจธรรมของชีวิตโดยแท้

 

ปีที่ได้รับรางวัล 2529
อังคาร กัลยณพงศ์. (2529). ปณิธานกวี. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : กะรัต, 126 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : กวีนิพนธ์เล่มนี้จะพาให้คุณได้สัมผัสกับความงามทางการประพันธ์ บทประพันธ์ทุกบทสะท้อนชีวิต วิญญาณ คติชีวิต ปรัชญา และสัจธรรม ที่ชี้ให้เห็นถึงการยึดหลักทางพระพุทธศาสนาเป็นเครื่องนำทางชีวิต การรู้แจ้งในความจริง การปล่อยวาง และการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว โดยที่ผู้เขียนได้นำแนวคิดเหล่านี้มาสอดแทรกร้อยเรียงเป็นบทกวี ที่ให้ผู้อ่านได้ซึมซับอย่างแยบยล

 

ปีที่ได้รับรางวัล 2528
กฤษณา อโศกสิน. (2525). ปูนปิดทอง. กรุงเทพฯ : บำรุงสาส์น, 2 เล่ม.

บรรณานิทัศน์ : ปูนปิดทองเป็นนวนิยายสะท้อนปัญหาครอบครัวในสังคมไทย ซึ่งตัวละครเอกคือ สองเมืองและบาลี ทั้งสองคนเกิดมาในครอบครัวที่พ่อแม่หย่าร้าง เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ บาลีศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นในวัยเด็กและชักจูงให้สองเมืองลืมความขมขื่นในใจที่ผ่านมาและมาเริ่มต้นชีวิตกันใหม่ สองเมืองรักบาลีและมั่นใจว่าชีวิตคู่ของเขาและเธอจะไม่เป็นอย่างพ่อกับแม่ของพวกเขา  พวกเขาจะเป็นพ่อแม่ที่ดี เป็นตัวอย่างที่ดี ไม่ใช่เป็นเพียงรูปหล่อปูนที่ปิดด้วยทอง ซึ่งไม่มีค่าอะไร

 

ปีที่ได้รับรางวัล  2527
วาณิช จรุงกิจอนันต์. (2527). ซอยเดียวกัน. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : อู่พิมพ์เพกา, 272 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : รวมเรื่องสั้น ซอยเดียวกันเป็นผลงานที่ผู้เขียนคัดสรรมา จำนวน 15 เรื่อง และบทกวีนิพนธ์ 1 ชุด มีจำนวน 5 เรื่องย่อย เรื่องสั้นที่รวมอยู่ในซอยเดียวกันนี้ มีเนื้อหาสะท้อนชีวิตในสังคมได้อย่างโดดเด่น นอกจากเรื่อง ภาพเขียนที่หายไปซึ่งผู้เขียน เขียนในปี 2514 และ นิธิแกนเทสต์ซึ่งเขียนในปี 2517 แล้ว นอกนั้นเป็นเรื่องที่เขียนระหว่างปี 2521-2526 และบทกวีชุดคืนรัง เป็นบทกวีที่เขียนลงพิมพ์ในหนังสือหลายฉบับ และหนังสือที่ตั้งว่า ซอยเดียวกันนั้นมาจากชื่อเต็มว่า บ้านเราอยู่ในนี้ ซอยเดียวกันเรื่องสั้นเกือบทุกเรื่องที่นำมารวมไว้นี้ เป็นที่กล่าวถึงและวิพากษ์วิจารณ์กันมาก ทั้งแง่ดีและไม่ดี 

 

ปีที่ได้รับรางวัล 2526
คมทวน คันธนู. (2526). นาฏกรรมบนลานกว้าง. กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, 99 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : เป็นกวีนิพนธ์ที่โดดเด่นด้วยความหลากหลายของฉันทลักษณ์และทำนองเสียงที่แตกต่างจากบทกวีร่วมสมัย เขียนเป็นกลอนแปดและแทรกร่วมกับฉันทลักษณ์อื่น นอกจากนี้ยังประกอบด้วยโคลงสาร สารโศลก เพลงขอทาน เพลงช้าเจ้าหงส์ เพลงโคราช เป็นเรื่องร่วมสมัยที่ย้อนยุกต์ประวัติศาสตร์มาพรรณาบ้าง เนื้อหาของบทกวีคือการประณามชนชั้นสูง ผู้มีอำนาจในสังคมโดยโยงภาพความทุกข์ทรมานและความแค้นของคนยากจนผู้ด้อยโอกาสกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม และ เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เข้ามาเปรียบเทียบเชิงอุปมา

 

ปีที่ได้รับรางวัล  2525
ชาติ กอบจิตติ. (2525). คำพิพากษา. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : ต้นหมาก, 279 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : เป็นนวนิยายเสนอเรื่องราวแนวคิดของคนมีฐานะเป็นปัจเจกชนที่มักตกเป็นเหยื่อของความเชื่อและคำพิพากษาของสังคม ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นความจริงหรือไม่ก็ตาม ส่งผลให้บุคคลนั้นต้องอ้างว้าง โดดเดี่ยว ทุกข์ทรมาน ทั้งร่างกายและจิตใจ ผู้เขียนได้สร้างเรื่องราวโดยใช้สังคมชนบทไทยเป็นฉาก มีตัวละครชื่อฟักเป็นตัวเอกของการดำเนินชีวิต ปัญหารุมเร้าฟักมากมายจนดิ้นไม่หลุด เขาพยายามต่อสู้เมื่อไม่มีทางออก จึงหนีจากโลกของความเป็นจริงสร้างโลกใหม่ที่เขาหลงคิดว่าเป็นหนทางออกไปสู่อิสรภาพ ท้ายสุดเขาได้รับอิสรภาพที่แท้จริงนั่นคือ ความตาย

 

ปีที่ได้รับรางวัล 2524
อัศศิริ ธรรมโชติ. (2530). ขุนทองเจ้าจะกลับมาเมื่อฟ้าสาง. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: ก.ไก่, 189 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นทั้งหมด 13 เรื่อง ผู้เขียนได้รับแรงกระตุ้นจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 เป็นช่วงที่มีการประกาศเรียกร้องให้ผู้ที่หลบหนีเข้าป่ากลับมารายงานตัว เน้นให้คนสำนึกในเรื่องของภูมิหลังทางประวัติศาสตรและสังคม เนื้อหาส่วนใหญ่มีแนวทางวรรณกรรมเพื่อชีวิต ความกดดันและความขัดแย้งทางการเมือง

 

ปีที่ได้รับรางวัล 2523
เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์. (2523). เพียงความเคลื่อนไหว. กรุงเทพฯ : ก.ไก่, 96 หน้า.

บรรณานิทัศน์ : เป็นกวีนิพนธ์รวมบทร้อยกรองที่ตีพิมพ์ในวารสารและหนังสือพิมพ์ในช่วงปีพ.ศ. 2516 เนื้อหากล่าวถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 256 ซึ่งเป็นขบวนการนักศึกษาประชาชนได้เรียกร้องรัฐธรรมนูญและขยายตัวเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรมด้านต่างๆ ของสังคมเป็นบทกวีที่อ่านเข้าใจง่าย การใช้ถ้อยคำเร่งเร้าให้ตื่นตัวและเกิดความเคลื่อนไหวทางความคิด บางเรื่องเล่าชีวิตชนบท บางเรื่องว่าด้วยสงคราม บางเรื่องแสดงออกถึงอารมณ์ แนวคิด และทัศนคติต่อสังคม

 

ปีที่ได้รับรางวัล 2522
คำพูน บุญทวี. (2523). ลูกอีสาน. กรุงเทพฯ : บรรณกิจ, 290 หน้า.      

บรรณานิทัศน์ : เป็นนวนิยายที่สะท้อนวิถีชีวิตของชาวอีสานเล่าเรื่องราวขนบธรรมเนียม ประเพณี ความเชื่อของชาวอีสาน โดยผ่านเด็กชายคูน รวมไปถึงสภาพความเป็นไปตามธรรมชาติของผู้คนและสภาพแวดล้อมและแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของชาวอีสานว่าต้องเผชิญกับความยากลำบากอย่างไร การเรียนรู้ที่จะอดทนเพื่อเอาชนะกับความยากแค้นตามธรรมชาติด้วยความมานะบากบั่น ความเคารพในระบบอาวุโส และความเอื้ออารีที่มีให้กันในหมู่คณะของชาวอีสาน

 



เข้าชม : 995
 
 
ห้องสมุดประชาชนอำเภอคลองท่อม
ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอคลองท่อม
หมู่ที่ ๒ ตำบลคลองท่อมใต้  อำเภอคลองท่อม  จังหวัดกระบี่ 81120 
โทรศัพท์ 075-699255

Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05