ศูนย์การเรียนชุมชน
หนึ่งตำบล หนึ่งคาราโอเกะ ผู้ช่วยคนใหม่กศน.ซำสูง ทางลัดสู่ \'นครแห่งการอ่าน\'

พุธ ที่ 17 เดือน สิงหาคม พ.ศ.2554


สุพล บุญชื่นชม
          "...คนที่ไม่ใช่แฟน ทำแทนทุกเรื่องไม่ได้เหนื่อยก็รู้ เหงาก็เข้าใจ แต่ไม่อาจให้ยืมอ้อมแขน
          "คนที่ไม่ใช่แฟน ทำแทนทุกเรื่องไม่ได้หน้าที่ตามฐานะใจ ห้ามเดินก้าวล้ำเส้นแฟน..."
          เสียงร้องเพลง "ไม่ใช่แฟนทำแทนไม่ได้"ที่ดังมาจากตึกชั้นเดียว ที่ทำการ อบต.กระนวน อำเภอซำสูง จังหวัดขอนแก่น อาจทำให้คนแปลกหน้าที่แวะเข้ามาที่บ้านกระนวนแห่งนี้พิศวงว่า ที่นี่มีงานอะไรกัน ทำไมมีผู้เฒ่าผู้แก่มารวมตัวกัน จับไมค์ร้องเพลงอย่างตั้งอกตั้งใจ
          ที่นี่ก็คือ "คลินิกฟื้นฟู กู้สภาพการรู้หนังสือ"จัดเป็นห้องเรียนชั่วคราว สอนการอ่านหนังสือตามหลักสูตรคาราโอเกะ ในโครงการส่งเสริมการอ่านของสำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย หรือ กศน. อำเภอซำสูงจังหวัดขอนแก่น เพื่อฟื้นความรู้หนังสือแก่ชาวบ้านในพื้นที่
          ไหนๆ อีก 2 ปีข้างหน้า กรุงเทพมหานครจะก้าวเข้าสู่การเป็น "มหานครแห่งการอ่านและการเรียนรู้"ซึ่ง กทม.ตั้งงบประมาณปี 2554-2556 จำนวน 280 ล้านบาท ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนมีนิสัยรักการอ่านตลอดจนเสริมสร้างวัฒนธรรมรักการอ่านให้เกิดขึ้นในสังคม
          ลองตามไปดูที่ขอนแก่น ที่มีกลวิธีง่ายๆ ที่จะกระตุ้นและจูงใจให้ชาวบ้านอยากรู้หนังสือ และหันกลับมาเดินเข้าห้องเรียนเพื่อฟื้นฟูการอ่านอย่างตั้งอกตั้งใจ โดยไม่ต้องสิ้นเปลืองงบฯมากมาย เพียงแต่มีผู้ช่วยครู...สัก 1 เครื่อง ต่อ 1 ตำบล
          งานนี้ต้องยกนิ้วให้กับ กศน.ซำสูง เจ้าของความคิดอันเยี่ยมยอดนี้ "คาราโอเกะสอนหนังสือ"
          เพราะการสอนหนังสือไม่จำเป็นต้องสอนเฉพาะเด็กในโรงเรียนตามระบบเท่านั้น แต่ในพื้นที่ห่างไกล แนวทางการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยของ กศน.เป็นอีกปัจจัยสำคัญ และเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะพัฒนาให้พลเมืองของประเทศสามารถอ่านออกเขียนได้ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศให้บรรลุเป้าหมายตามที่ต้องการ
          ที่ผ่านมาคนไทย โดยเฉพาะอาชีพเกษตรกรรม หลังจากจบการศึกษาจากภาคบังคับแล้วไม่ได้ใช้วิชาเขียนอ่าน เมื่อสูงวัยขึ้นมักจะทิ้งการอ่าน มุ่งเน้นการทำอาชีพเพียงอย่างเดียวส่งผลให้ความสามารถในด้านการอ่านออกเขียนได้หายไปสิ้น ดังนั้น กศน.ได้เข้าไปชักจูงให้คนเหล่านั้นหันมาใส่ใจกับการอ่าน อย่างน้อยๆเพื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น การอ่านเอกสารเกี่ยวกับการประกอบการอาชีพของตนเอง เพื่อนำไปพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น
          ชาตรี เสงี่ยมวงศ์ ผู้อำนวยการ กศน.ซำสูงเห็นความสำคัญของการอ่านเขียนว่า นอกจากจะเป็นเครื่องมือในการหาความรู้เพิ่มเติมแล้วยังลดความเสี่ยงต่อการจะถูกเหล่ามิจฉาชีพหลอก เช่น หลอกให้เซ็นเอกสารทั้งๆ ที่อ่านไม่ออก ขณะเดียวกันสร้างความภาคภูมิใจที่ได้เซ็นชื่อตัวเอง ไม่ต้องใช้การพิมพ์นิ้วมือเหมือนเก่า จึงหาวิธีให้ชาวบ้านในพื้นที่ที่รับผิดชอบหวนกลับมาสนใจการอ่านมากขึ้น ได้ทบทวนสิ่งที่เรียนมาหลายสิบปี ให้สามารถกลับมาอ่านออกเขียนได้อีกครั้ง โดยหยิบเอาสิ่งที่ชาวบ้านสนใจมาเป็นสื่อการเรียนรู้ นั่นคือ "คาราโอเกะ"ผู้อำนวยการ กศน.ซำสูงบอกว่า เริ่มใช้คาราโอเกะมาเป็นสื่อการเรียนการสอนในปีพ.ศ.2549 ขณะนั้นมีนักศึกษาที่เข้าเรียนกับเราจำนวนตำบลละประมาณ 60 คน ในอำเภอซำสูงมี 5 ตำบล จำนวนนักศึกษาทั้งหมดประมาณ300 คน แต่มี 10% ที่อ่านหนังสือไม่ได้เลย
          "ก่อนจะเริ่มมีหลักสูตรคาราโอเกะ นักศึกษาส่วนใหญ่ไม่ชอบที่จะส่งงานตามที่ครูสั่งแต่ครูสังเกตเห็นว่านักศึกษาเหล่านั้นชอบรวมกลุ่มกัน และชอบขั้นตอนการเตรียมการเรียนการสอนคือการรวมกลุ่มกันร้องเพลง ผมจึงคิดว่าน่าจะหาสื่อการเรียนการสอนที่นักศึกษาสนใจ คือนำเพลงมาเป็นสื่อการเรียนการสอนน่าจะได้ผล และได้ปรึกษากับครู กศน.ที่ทำงานด้วยกัน พร้อมทั้งนำเรื่องดังกล่าวเสนอผู้บังคับบัญชาในขณะนั้น ซึ่งได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี โครงการสื่อการเรียนด้วยคาราโอเกะจึงเริ่มขึ้น"
          สำหรับกระบวนการเรียนการสอนนั้นผอ.กศน.ซำสูงอธิบายเพิ่มเติมว่า เรานำเนื้อเพลงฮิตที่นักศึกษาชื่นชอบมาใช้เป็นสื่อ โดยขั้นแรกเราจะนำเนื้อเพลงมาทดสอบกันนักศึกษาว่าสามารถอ่านได้หรือไม่ หากนักศึกษาอ่านไม่ได้ เราจะคัดนักศึกษาเหล่านั้นเพื่อนำไปฝึกตามขั้น โดยเราเปิดเป็น "คลินิกฟื้นฟู กู้สภาพการรู้หนังสือ" ไว้บริการตำบลละ 1 จุด
          จากนั้นนำเนื้อเพลงไปทำแผ่นป้ายให้นักศึกษาฝึกสะกดทีละคำโดยมีครูคอยชี้แนะ และส่งลูกคำอื่นๆ ที่สะกดเหมือนกัน เช่น เพลงไม่ใช่แฟนทำแทนไม่ได้ ตัวอย่างคำว่า แฟนจะสะกดว่า แ-ฟ-น เมื่อสะกดตัวนี้ได้จะส่งลูกคำต่อไป เป็น แมน, แตน บ้าง เป็นต้น เมื่อฝึกสะกดแล้วค่อยๆ ให้อ่านเป็นคำและเป็นประโยคต่อไป จากนั้นจึงให้นักศึกษาอ่านเนื้อเพลงในจอคาราโอเกะที่เป็นภาพนิ่งก่อน จนกว่าจะออกเสียงได้ถูกต้องแล้วค่อยให้ร้องประกอบเนื้อเพลง ซึ่งทำอย่างนี้ซ้ำๆ หลายครั้ง ก็ไม่ทำให้นักศึกษาเบื่อ การเรียนก็ง่ายขึ้น
          "จากลำดับขั้นตอนทั้งหมด เราใช้เวลาสอนคอร์สละ 3-6 ชั่วโมง (เรียนคอร์สละเพลง) เวลาเรียนทั้งหมดจำนวน 30 ชั่วโมง หรือประมาณ 5 เพลง ซึ่งเท่ากับ 1 ภาคเรียนพอดี นักศึกษาจะสามารถอ่านได้และออกเสียงถูกต้อง
          "จัดการเรียนการสอนแบบนี้มาปีนี้เป็นปีที่ 5 ชาวบ้านสามารถอ่านหนังสือได้มากขึ้นถึง 90%ของจำนวนประชากรทั้งหมด ปัจจุบันมีนักศึกษาจำนวนประมาณ 500 คน จบคอร์สแล้ว นักศึกษาเหล่านั้นจะกลายเป็นอาสาสมัครส่งเสริมการอ่านของเราต่อไป"
          ผอ.ชาตรีกล่าวต่อว่า เมื่อนักศึกษาที่จบหลักสูตรคาราโอเกะแล้ว เราขยายผลต่อยอดโดยให้นักศึกษาเหล่านี้จะเป็นอาสาสมัครส่งเสริมรักการอ่าน ซึ่งสมาชิกเหล่านี้จะเปิดบ้านตัวเองเป็นจุดส่งเสริมการอ่านของชุมชนสำหรับหมู่บ้าน ซึ่งในอำเภอซำสูงจะมีจุดบริการส่งเสริมการอ่านหมู่บ้านละ 1 จุด ทุกหมู่บ้าน รวมทั้งหมด 35 หมู่บ้าน 35 จุด จากความสำเร็จดังกล่าวเราจึงเป็นต้นแบบในการส่งเสริมการอ่านของจังหวัดขอนแก่น ซึ่งทาง กศน.จังหวัดขอนแก่น ได้จัดให้ปี 2554 ขอนแก่นเป็นนครแห่งการอ่าน
          จากการทำงานที่สามารถนำไปปฏิบัติและปรับใช้ในชีวิตประจำวันของชาวบ้านดังกล่าวส่งผลให้ กศน.ซำสูง ได้รับรางวัลสื่อนวัตกรรมดีเด่นระดับประเทศในวันที่ 4 มีนาคม 2553 ต่อมาในเดือนกันยายน 2553 นายชาตรีเสงี่ยมวงศ์ได้รับรางวัลผู้ทำคุณประโยชน์ทางการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.)
          และล่าสุดในวันที่ 2 เมษายน 2554 นักศึกษาที่จบคอร์สคาราโอเกะ แล้วเปิดบ้านตัวเองให้เป็นจุดบริการการอ่านสำหรับชุมชนคือนางฮวง แสนเมืองหมู่ 1 บ้านกระนวน ตำบลกระนวน อำเภอซำสูง จังหวัดขอนแก่น ได้รับรางวัลอาสาสมัครส่งเสริมการอ่านดีเด่นระดับประเทศ จำนวน 3 รางวัลระดับชาติเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เป็นสิ่งยืนยันในการทุ่มเทให้กับการทำงานของครู กศน.ซำสูงทุกท่าน
          แต่เหนือสิ่งเหล่านั้นคือ การสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพให้กับประเทศ สิ่งนี้ต่างหากคือรางวัลที่จะส่งมอบให้กับประเทศ เพื่อให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันพุธที่ 17 สิงหาคม 2554
กฤษฎา บิลเกษม ปชส.กศน.ตรัง รายงาน



เข้าชม : 1084


ศูนย์การเรียนชุมชน 5 อันดับล่าสุด

      หนึ่งตำบล หนึ่งคาราโอเกะ ผู้ช่วยคนใหม่กศน.ซำสูง ทางลัดสู่ \'นครแห่งการอ่าน\' 17 / ส.ค. / 2554
      ครู กศน.ตำบล อ.เมืองตรังอบรมการซ่อมและประกอบคอมพิวเตอร์เบื้องต้น 16 / ส.ค. / 2554


 
ห้องสมุดประชาชนอำเภอเกาะลันตา   จังหวัดกระบี่
ม.๔ ตำบลเกาะกลาง  อำเภอเกาะลันตา  จังหวัดกระบี่  ๘๑๑๒๐
โทรศัพท์๐๗๕-๖๙๔๗๒๓โทรสาร ๐๗๕-๖๙๔๗๒๓
lib_kohlanta@hotmail.com
Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05