ส่วนถ้าจะอ่านเอาเรื่อง ก็สามารถทำให้ขบคิด พินิจพิเคราะห์ และคาดเดาไปต่างๆ ได้อย่างฉงนฉงาย ว่าทำไมหนอเด็กกำพร้าเหล่านี้จึงมีชีวิตที่แหว่งวิ่นเสียเหลือเกิน อะไรที่ปะติดปะต่อชะตากรรมของทุกตัวละครเข้าด้วยกัน อะไรที่ทำให้พวกเขาพลัดหลงไปทั้งภายในและภายนอกจิตใจ และถ้าอ่านแบบไม่คิดอะไรเลย ขอบอกว่าอย่างน้อยหนังสือเล่มนี้ก็จะทำให้รักดนตรี จนอดที่จะเสิร์ชหาในยูทูปมาเปิดคลอไม่ได้ เมื่อถึงฉากที่เล่าถึงอาหาร ก็อดที่จะคั่นหน้านั้นไว้ แล้วออกไปหาชิมตามให้ได้ เมื่อบรรยายถึงแมกไม้ ก็อยากจะมีสวนที่เป็นดงดอกไม้อย่างนั้นบ้าง ส่วนเมื่อกล่าวถึงการเดินทาง ก็อดที่จะตั้งคำถามกับตัวเองไม่ได้ว่า เรากำลังทำอะไรอยู่ และความรู้สึกเมื่อปิดหน้าสุดท้ายลง ก็คือเราจะรักชีวิตมากขึ้น...เท่านี้ไม่เพียงพอหรือสำหรับการเป็นนวนิยายดีๆ เล่มหนึ่ง
ผู้เขียน : งามพรรณ เวชชาชีวะ
“ความสุขของกะทิ” เล่มนี้ ได้รับรางวัลซีไรต์ประจำปี 2549 และได้นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เมื่อปี 2552 รวมทั้งได้มีการขายลิขสิทธิ์การแปลไปแล้วกว่า 10 ประเทศ อีกทั้งได้รับคัดเลือกให้เป็นหนังสือแนะนำสำหรับบรรณารักษ์ทั่วสหรัฐอเมริกาโดยสมาคมห้องสมุดเด็กในสหรัฐอเมริกา และถือเป็นหนึ่งในวรรณกรรม 50 เรื่องที่เด็กควรอ่านก่อนโต เป็นหนังสือที่เรียบง่าย งดงาม กินใจ สะเทือนอารมณ์ เต็มไปด้วยความหมายและความอบอุ่น
โดยเนื้อเรื่องเป็นเรื่องราวของเด็กหญิงชื่อกะทิในวัย 9 ขวบ ที่ต้องประสบกับเหตุไม่คาดฝัน เมื่อแม่ของเธอต้องมาด่วนจากไปก่อนวัยอันควร นับเป็นความสูญเสียครั้งสำคัญที่สุดในชีวิตของกะทิ เป็นความสูญเสียที่ไม่อาจพรากความรักความผูกพันในใจของเธอและแม่ กะทิได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวเธอท่ามกลางสังคมชนบท โดยมีตากับยายเป็นผู้ดูแลให้ความอบอุ่น ที่คอยสอนในเรื่องต่างๆ พร้อมทั้งเสียงหัวเราะที่เป็นความสุขของครอบครัว รวมทั้งพี่ทอง น้าฎา และน้ากันต์ ซึ่งต่างก็รักและเอ็นดูกะทิมาก และแม่ของเธอแม้จะจากไปก็ยังคงรักและวางแผนจัดแจงการดูแลต่างๆ ไว้ให้แก่กะทิ
ไม่ใช่แค่กะทิที่ได้เรียนรู้เท่านั้น…หากแต่เราเองก็จะได้เรียนรู้ร่วมไปกับกะทิด้วย เพราะเรื่องราวของกะทินั้นเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกๆ คน ไม่ว่าคุณจะร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี หรือยากจนต่ำต้อย หรือเป็นใครก็ตาม ย่อมต้องพบเจอกับความตาย พลัดพราก แยกจาก ไม่เร็วก็ช้าด้วยกันทุกคน ทว่า…เราจะก้าวผ่านมันมาได้อย่างไร เฉกเช่นกะทิที่ก้าวผ่านมันมาได้ด้วยหัวใจที่เข้มแข็ง