ธรรมชาติงามตระการ ตำนานเมืองเก่า ร่มเงาอารยธรรม งามล้ำองค์เจดีย์ เหลืองกระบี่คู่ควรเมือง 
     
 
 

อาเซียน คืออะไร

อาเซียน คือ การรวมตัวกันเป็นองค์กรระหว่างประเทศระดับภูมิภาคของประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยรวมตัวกันในชื่อสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations) โดยใช้ชื่อย่อว่า ASEAN อ่านออกเสียงภาษาไทยว่า อาเซียน โดยมีจุดประสงค์ในการจัดตั้งกลุ่มอาเซียนก็เพื่อส่งเสริมและร่วมมือกันในทุกด้าน ทั้งด้านสันติภาพ ด้านความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ ด้านการกระจายองค์ความรู้ และด้านสังคมวัฒนธรรม บนพื้นฐานความเท่าเทียมกันและผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศสมาชิกทุกประเทศ

ประชาคมอาเซียน

ประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียน

การรวมตัวกันเป็นหนึ่งของสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ทำให้อำนาจต่อรองมหาศาลในเวทีระหว่างประเทศ ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และการทหาร

ประวัติอาเซียน ความเป็นมาของอาเซียน

อาเซียน (ASEAN) หรือ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations, อักษรย่อ ASEAN) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 ส.ค.2510 หลังจากการลงนามของประเทศสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งในปฏิญญากรุงเทพ (The Bangkok Declaration) หรือชื่อเต็มคือปฎิญญาสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Declaration of ASEAN Concord) ที่พระราชวังสราณรมย์ โดยที่สมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งทั้ง 5 ประเทศ ได้แก่ ไทยสิงคโปร์ อินโดนิเซีย และฟิลิปปินส์


แทนทั้ง 5 ประเทศผู้ร่วมก่อตั้งอาเซียนที่ร่วมลงนามในปฏิญญากรุงเทพ ประกอบไปด้วย
1.นายอาดัม มาลิก รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย
2.ตุน อับดุล ราชัก บิน ฮุสเซน รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกลาโหมและรัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติมาเลเซีย
3.นายนาซิโซ รามอส รัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์
4.นายเอส ราชารัตนัม รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์
5.พันเอก (พิเศษ) ดร.ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย
ปฏิณญากรุงเทพ

การลงนามปฏิณญากรุงเทพ เพื่อจัดตั้งอาเซียน

ภายหลังจากการจัดตั้งประชาคมอาเซียนเมื่อ 8 ส.ค.2510 แล้ว ได้มีประเทศในแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้อีก 5 ประเทศที่เหลือ ได้ยื่นความจำนงค์ขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มอาเซียนด้วย ซึ่งประเทศอาเซียนทั้ง 5 ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียนในเวลาต่างๆกันดังนี้
-ลำดับที่ 6 ประเทศบรูไนดารุสซาลาม ได้เข้าเป็นสมาชิกอาเซียนเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2527
-ลำดับที่ 7 ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ได้เข้าเป็นสมาชิกอาเซียนเมื่อวันที่ 28 กรกฏาคม พ.ศ. 2538
-ลำดับที่ 8 ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้เข้าเป็นสมาชิกเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2540
-ลำดับที่ 9 ประเทศสหภาพพม่า ได้เข้าเป็นสมาชิกเมื่อวันที่ 23 กรกฏาคม พ.ศ. 2540 (พร้อมกับลาว)
-ลำดับที่ 10 ราชอาณาจักรกัมพูชา ได้เข้าเป็นสมาชิกเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2542

สัญลักษณ์อาเซียน คืออะไร เรามีคำตอบ!!!

 

สัญลักษณ์อาเซียน ได้รับการออกแบบให้เป็นรูปรวงข้าวสีเหลืองทองบนพื้นสีแดงล้อมรอบด้วยวงกลมสีขาวและสีน้ำเงิน รวงข้าว 10 ต้นที่มัดรวมกันไว้ หมายถึง ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ รวมกันอยู่เพื่อมิตรภาพและความเป็นน้ำหนึ่งในเดียวกัน โดยพื้นที่วงกลม สีแดง สีขาวและน้ำเงิน แสดงถึงความเป็นเอกภาพ ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันมีตัวอักษรคำว่า “asean” สีน้ำเงิน วางอยู่ใต้รวงข้าวอันแสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันเพื่อความมั่นคง สันติภาพ เอกภาพ และความก้าวหน้าของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งมวล ส่วนสีน้ำเงินในสัญลักษณ์อาเซียน หมายถึง สันติภาพและความมั่นคง

สัญลักษณ์อาเซียน

สัญลักษณ์อาเซียน

สีในสัญลักษณ์อาเซียนมีความหมายดังนี้
สีน้ำเงิน หมายถึง สันติภาพและความมั่นคง
สีแดง หมายถึง ความกล้าหาญและความก้าวหน้า
สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์
สีเหลือง หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง

ธงอาเซียน และความหมายของธงสัญลักษณ์อาเซียน

 
ธงอาเซีน คืออะไร
ธงอาเซียน (ASEAN Flag) คือ สัญลักษณ์ของการรวมตัวกันของชาติสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ ภายใต้คำขวัญ “One Vision, One Identity, One Community” หรือ “หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งเอกลักษณ์ หนึ่งประชาคม”
ธงอาเซียน

ธงอาเซียน – สัญลักษณ์การรวมตัวกันของชาติสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ

รูปร่างลักษณะของธงอาเซียน
ธงอาเซียน ได้รับการออกแบบได้มีลักษณะเรียบง่าย แต่สามารถสื่อความหมายการรวมตัวกันของชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไว้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ โดยธงอาเซียนนี้ ได้ถูกออกแบบให้มีพื้นสีน้ำเงิน มีต้นข้าวสีเหลืองทองจำนวน 10 ต้น (แทนความหมายของชาติสมาชิกทั้ง 10) อยู่ตรงกลาง ซึ่งต้นข้าวทั้ง 10 ต้นนี้อยู่ในวงกลมสีแดง และขอบของวงกลมสีขาว

ความหมายของสีต่างๆในธงอาเซียน
สีน้ำเงิน หมายถึง สันติภาพและความมั่นคง
สีแดง หมายถึง ความกล้าหาญและความก้าวหน้า
สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์
สีเหลือง หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง

ส่วนต้นข้าวสีเหลืองทั้ง 10 ต้นในธงอาเซียน หมายถึง จำนวนชาติสมาชิกของ ASEAN จำนวน 10 ประเทศ อันได้แก่ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย บรูไน เวียดนาม กัมพูชา ลาว และพม่า พร้อมสัญลักษณ์การมัดรวมกัน เพื่อแทนความหมายของการรวมตัวเป็นหนึ่งเดียว

ดังนั้นเมื่อนำสัญลักษณ์และความหมายของสีต่างๆมารวมกัน จึงทำให้ธงอาเซียนมีความหมายดังนี้ “การรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาติสมาชิกทั้ง 10 ด้วยความบริสุทธิ์และกล้าหาญ เพื่อสันติภาพ ความมั่นคง และความเจริญก้าวหน้าของมวลหมู่สมาชิกและประชากรอาเซียนทั้งปวง

ต้นข้าวในธงอาเซียน

ข้าว อาหารหลักและสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศสมาชิกอาเซียน ได้ถูกบรรจุไว้ในธงอาเซียน เพื่อแทนชาติสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ

วิธีการประดับธง
กลุ่มชาติสมาชิกอาเซียนได้มีข้อตกลงร่วมกันในเรื่องการประดับธง ทั้งที่สำนักงานใหญ่ของอาเซียน ณ กรุงจาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย และในการประชุมอย่างเป็นทางการทุกครั้ง โดยให้ประดับธงชาติของประเทศสมาชิกเรียงตามตัวอักษรภาษาอังกฤษ (ซึ่งใช้เป็นภาษากลางของอาเซียน) ปิดท้ายด้วยธงสัญลักษณ์อาเซียน โดยเรียงจากขวามาซ้ายดังนั้นการประดับธง จึงมีลำดับดังนี้

ลำดับที่ 1 – ธงชาติบรูไนดาลุสลาม (Brunei)
ลำดับที่ 2 – ธงชาติกัมพูชา (Cambodia)
ลำดับที่ 3 – ธงชาติอินโดนีเซีย (Indonesia)
ลำดับที่ 4 – ธงชาติลาว (Laos, PDR)
ลำดับที่ 5 – ธงชาติมาเลเซีย (Malaysia)
ลำดับที่ 6 – ธงชาติเมียนมาร์ (Myanmar, พม่า)
ลำดับที่ 7 – ธงชาติฟิลิปปินส์ (Philippines)
ลำดับที่ 8 – ธงชาติสิงคโปร์ (Singapore)
ลำดับที่ 9 – ธงชาติไทย (Thailand)
ลำดับที่ 10 – ธงชาติเวียดนาม (Vietnam)
ลำดับที่ 11 – ธงสัญลักษณ์อาเซียน

รูปแบบการจัดเรียงธงอาเซียน

การจัดเรียงธงอาเซียน ณ สำนักงานเลขาธิการอาเซียน กรุงจาการ์ตา

เฉดสีมาตรฐานของธงอาเซียน
สีน้ำเงิน – แถบสีมาตรฐาน Pantone No. 19-4053 TC
สีแดง – แถบสีมาตรฐาน Pantone No. 18-1655 TC
สีขาว – แถบสีมาตรฐาน Pantone No. 11-4202 TC
สีเหลือง – แถบสีมาตรฐาน Pantone No. 13-0758 TC

ส่วนการพิมพ์ตามมาตรฐาน CMYK นั้น ให้ใช้รหัสสีดังนี้
สีน้ำเงิน – แถบสี 258 หรือสีชุด 100C 60M 0Y 6K
สีแดง – แถบสี แดง 032 หรือสีชุด 0C 91M 87Y 0K
สีเหลือง – แถบสีชุดสีเหลืองหรือสีชุด 0C 0M 100Y 0K

ขนาดของธงอาเซียน
ขนาดของธงอาเซียนนั้น มีหลักเกณฑ์การจัดทำโดยให้ยึดสัดส่วนของความกว้างต่อความยาวของธงคือสองต่อสาม (กว้าง:ยาว = 2:3) โดยมีรายละเอียดของขนาดธงที่ใช้สำหรับงานชนิดต่างไดังนี้ (กว้าง x ยาว)
- ธงตั้งโต๊ะ : 10 ซม. x 15 ซม.
- ธงประดับห้อง : 100 ซม. x 150 ซม.
- ธงประจำรถ : 10 ซม. x 15 ซม.
- ธงภาคสนาม หรือ ธงติดเสาธง : 200 ซม. x 300 ซม.

จะเห็นว่าธงอาเซียนนั้นไม่ได้เพียงแต่เป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มอาเซียนในเวทีโลกเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นถึงปณิธานอันแน่วแน่ของมวลหมู่ชาติสมาชิก ที่จะร่วมมือกันในทุกๆด้าน เพื่อความเจริญก้าวหน้าร่วมกัน และความอยู่ดีกินดีของประชากรอาเซียนทั้งมวลด้วย…

คำขวัญอาเซียน

 

 

คำขวัญอาเซียน คือ หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งเอกลักษณ์ หนึ่งประชาคม หรือ One Vision, One Identity, One Community

คำขวัญอาเซียน

คำขวัญอาเซียน

ความหมายอันลึกซึ่งของคำขวัญอาเซียน บ่งบอกไส้อย่างชัดเจนถึงการหล่อหลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียว ทั้งวิสัยทัศน์ของกลุ่มอาเซียน เอกลักษณ์ รวมถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของมวลหมูสมาชิกอาเซียนทั้งหลาย

 

3 เสาหลักอาเซียน คืออะไร มีอะไรบ้าง

 

 

3 เสาหลักอาเซียน คือ 3 ความร่วมมือหลักของกลุ่มสมาชิกอาเซียน ที่จะช่วยหล่อหลอมทุกประเทศสมาชิกอาเซียนมีความเป็นหนึ่งเดียว มีความแข็งแกร่งและเข้มแข็ง สามารถแข่งขันในทุกๆด้านกับภูมิภาคอื่นๆได้

 เสาหลักอาเซียน หมายถึง ประชาคมอาเซียน ซึ่งเป็นภาพรวมของการรวมตัวกันของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน โดยตามข้อตกลงบาหลี 2 เมื่อปี พ.ศ.2546 ได้มีข้อตกลงให้มีการจัดตั้งประชาคมอาเซียนขึ้น โดยแบ่งแยกออกเป็น 3 ประชาคมย่อย โดยทั้ง 3 ประชาคมย่อยนั้น เราเรียกว่า 3 เสาหลักอาเซียนนั่นเอง ซึ่งมีการกำหนดเป้าหมายให้แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2563 แต่ต่อมามีการกำหนดให้แล้วเสร็จให้เร็วขึ้นจากเดิมอีก 5 ปี คือต้องแล้วเสร็จภายในปี พ.ศ.2558
3 เสาหลักอาเซียน

3 เสาหลักอาเซียน

3 เสาหลักอาเซียน ประกอบด้วย
1. ประชาคมการเมืองความมั่นคงอาเซียน (ASEAN POLITICAL-SECURITY COMMUNITY หรือ APSC)
2. ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN ECONOMIC COMMUNITY หรือ AEC)
3. ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN SOCIO-CULTURAL COMMUNITY หรือ ASCC)

รายละเอียดของ 3 เสาหลักอาเซียน
1. ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน
มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างและธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาค เพื่อให้ประเทศในภูมิภาคอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข และสามารถแก้ไขปัญหาและความขัดแย้ง โดยสันติวิธี อาเซียนจึงได้จัดทำแผนงานการจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community Blueprint) โดยเน้นใน 3 ประการคือ

- การมีกฎเกณฑ์และค่านิยมร่วมกัน ครอบคลุมถึงกิจกรรมต่างๆ ที่จะร่วมกันทำเพื่อสร้างความเข้าใจในระบบสังคมวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ที่แตกต่างของประเทศสมาชิก ส่งเสริมพัฒนาการทางการเมืองไปในทิศทางเดียวกัน เช่น หลักการประชาธิปไตย การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน การสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม การต่อต้านการทจริต การส่งเสริมหลักนิติธรรมและธรรมาภิบาล เป็นต้น

- ส่งเสริมความสงบสุขและรับผิดชอบร่วมกันในการรักษาความมั่นคงสำหรับประชาชนที่ครอบคลุมในทุกด้านครอบคลุมความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงในรูปแบบเดิม มาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและการระงับข้อพิพาท โดยสันติเพื่อป้องกันสงครามและให้ประเทศสมาชิกอาเซียนอยู่ด้วยกัน โดยสงบสุขและไม่มีความหวาดระแวง และขยายความร่วมมือเพื่อต่อต้านภัยคุกคามรูปแบบใหม่ เช่น การต่อต้านการก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติต่างๆ เช่น ยาเสพติด การค้ามนุษย์ ตลอดจนการเตรียมความพร้อมเพื่อป้องกันและจัดการภัยพิบัติและภัยธรรมชาติ

- การมีพลวัตและปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก เพื่อเสริมสร้างบทบาทของอาเซียนในความร่วมมือระดับภูมิภาค เช่น กรอบอาเซียน+3 กับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ตลอดจนความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งกับมิตรประเทศและองค์การระหว่างประเทศ เช่น สหประชาชาติ

2. ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้อาเซียนมีตลาดและฐานการผลิตเดียวกันและมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุนเงินทุน และแรงงานมีฝีมืออย่างเสรี อาเซียนได้จัดทำแผนงาน การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community Blueprint) ซึ่งเป็นแผนงานบูรณาการการดำเนินงานในด้านเศรษฐกิจเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ 4 ด้าน ได้แก่

- การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว (single market and production base) โดยจะมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และแรงงานมีฝีมืออย่างเสรี และการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรีมากขึ้น

- การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของอาเซียน โดยให้ความสำคัญกับประเด็นนโยบายที่จะช่วยส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ เช่น นโยบายการแข่งขัน การคุ้มครองผู้บริโภค สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา นโยบายภาษี และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (การเงิน การขนส่ง เทคโนโลยีสารสนเทศ และพลังงาน)

- การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเสมอภาค ให้มีการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และการเสริมสร้างขีดความสามารถผ่านโครงการต่างๆ

- การบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก เน้นการปรับประสานนโยบายเศรษฐกิจของอาเซียนกับประเทศภายนอกภูมิภาคเพื่อให้อาเซียนมีท่าทีร่วมกันอย่างชัดเจน

3. ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน
อาเซียนได้ตั้งเป้าเป็นประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ในปี 2558 โดยมุ่งหวังเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีสังคมที่เอื้ออาทรและแบ่งปัน ประชากรอาเซียนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีและมีการพัฒนาในทุกด้านเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมอัตลักษณ์อาเซียน (ASEAN Identity)

เพื่อรองรับการเป็นประชาคมสังคม และวัฒนธรรมอาเซียน โดยได้จัดทำแผนงานการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community Blueprint)ซึ่งประกอบด้วยความร่วมมือใน 6 ด้าน ได้แก่
1. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
2. การคุ้มครองและสวัสดิการสังคม
3. สิทธิและความยุติธรรมทางสังคม
4. ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
5. การสร้างอัตลักษณ์อาเซียน
6. การลดช่องว่างทางการพัฒนา

3 เสาหลักอาเซียนนั้นมีเป้าหมายที่จะเริ่มต้นกันอย่างจริงจังและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป แต่คนไทยเรามักจะจำแค่ว่าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC จะเริ่มต้นวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 เนื่องจากมีการตื่นตัวกันทั้งภาครัฐและเอกชน แต่ในความจริงแล้ว ต้นปี 2558 คือจุดเริ่มต้นของเสาหลักอาเซียนทั้ง 3 เสาหลักพร้อมๆกัน

เลขาธิการอาเซียน มีหน้าที่อะไร รายชื่อเลขาธิการอาเซียนทั้งหมด

 

เลขาธิการอาเซียนคือใคร
เลขาธิการอาเซียน (Secretary General of The ASEAN) ชื่อเต็มของตำแหน่งคือ เลขาธิการใหญ่แห่งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นหัวหน้าสำนักเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat) ซึ่งตั้งอยู่ ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย

หน้าที่ของเลขาธิการอาเซียน
มีหน้าที่กำกับดูแลงานของอาเซียนในภาพรวม อำนวยความสะดวก ดูแลความคืบหน้าในการดำเนินงานตามความตกลงและข้อตัดสินใจของอาเซียน จัดทำและเสนอรายงานประจำปีเกี่ยวกับงานและข้อคิดเห็นของอาเซียน เข้าร่วมการประชุมกับประเทศคู่เจรจาตามแนวนโยบายที่ได้รับความเห็นชอบ และตามอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายและเป็นผู้แทน (representative) ของอาเซียนในเวทีระหว่างประเทศ รวมถึงหน้าที่อื่นที่ได้กำหนดไว้ในกฏบัตรอาเซียน

หลักการคัดเลือกเลขาธิการอาเซียน
เลขาธิการอาเซียนได้รับการแต่งตั้งจากที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN Summit) จากการเสนอชื่อของประเทศที่มีสิทธิในการเสนอชื่อผู้สมัครใช้หลักการเวียนตามตัวอักษร ภาษาอังกฤษของประเทศสมาชิก เช่น ในวาระปัจจุบัน ประเทศเวียดนามมีสิทธิเสนอชื่อผู้ที่จะดำรงตำแหน่ง ส่วนรอบต่อไปคือปี พ.ศ.2561 ประเทศบรูไนจะได้รับสิทธิในการเสนอชื่อผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียน เป็นต้น

วาระการดำรงตำแหน่ง
เลขาธิการอาเซียนมีระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง 5 ปี โดยจะสามารถดำรงตำแหน่งได้เพียง 1 สมัยเท่านั้น ไม่สามารถต่ออายุได้ (Non-renewable Term) ในรอบปัจจุบัน เลขาธิการอาเซียนมีวาระการดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2556 ถึง วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2560

เลขาธิการอาเซียนคนปัจจุบัน
เลขาธิการอาเซียนคนปัจจุบัน คือ นายเล เลือง มินห์ (Le Luong Minh) จากประเทศเวียดนาม ซึ่งเข้าดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2556 และจะสิ้นสุดวาระใรวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2560 โดยนายนายเล เลือง มินห์ เข้าดำรงตำแหน่งเขาธิการอาเซียนต่อจาก ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียนคนก่อนจากประเทศไทย ซึ่งดำรงตำแหน่งระว่างวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2551 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2555

เลขาธิการอาเซียน

นายเล เลือง มินห์ เลขาธิการอาเซียนคนปัจจุบัน

รายชื่อเลขาธิการอาเซียนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
1. H.R. Dharsono
จากประเทศ – อินโดนีเซีย
เริ่มดำรงตำแหน่ง – 7 มิถุนายน พ.ศ. 2519
สิ้นสุดการดำรงตำแหน่ง – 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2521

2. Umarjadi Notowijono
จากประเทศ – อินโดนีเซีย
เริ่มดำรงตำแหน่ง – 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2521
สิ้นสุดการดำรงตำแหน่ง – 30 มิถุนายน พ.ศ. 2521

3. Datuk Alibin Abdullah
จากประเทศ – มาเลเซีย
เริ่มดำรงตำแหน่ง – 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2521
สิ้นสุดการดำรงตำแหน่ง – 30 มิถุนายน พ.ศ. 2523

4. Narciso G. Reyes
จากประเทศ – ฟิลิปปินส์
เริ่มดำรงตำแหน่ง – 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2523
สิ้นสุดการดำรงตำแหน่ง – 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2525

5. Chan Kai Yau
จากประเทศ – สิงคโปร์
เริ่มดำรงตำแหน่ง – 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2525
สิ้นสุดการดำรงตำแหน่ง – 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2527

6. Phan Wannamethee
จากประเทศ – ไทย
เริ่มดำรงตำแหน่ง – 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2527
สิ้นสุดการดำรงตำแหน่ง – 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2529

7. Roderic Yong
จากประเทศ – บรูไน
เริ่มดำรงตำแหน่ง – 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2529
สิ้นสุดการดำรงตำแหน่ง – 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2532

8. Rusli Noor
จากประเทศ – อินโดนีเซีย
เริ่มดำรงตำแหน่ง – 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2532
สิ้นสุดการดำรงตำแหน่ง – 1 มกราคม พ.ศ. 2536

9. Dato Ajit Singh
จากประเทศ – มาเลเซีย
เริ่มดำรงตำแหน่ง – 1 มกราคม พ.ศ. 2536
สิ้นสุดการดำรงตำแหน่ง – 31 ธันวาคม พ.ศ. 2540

10. Rodolfo C. Severino Jr.
จากประเทศ – ฟิลิปปินส์
เริ่มดำรงตำแหน่ง – 1 มกราคม พ.ศ. 2541
สิ้นสุดการดำรงตำแหน่ง – 31 ธันวาคม พ.ศ. 2545

11. Ong Keng Yong
จากประเทศ – สิงคโปร์
เริ่มดำรงตำแหน่ง – 1 มกราคม พ.ศ. 2546
สิ้นสุดการดำรงตำแหน่ง – 31 ธันวาคม พ.ศ. 2550

12. Surin Pitsuwan
จากประเทศ – ไทย
เริ่มดำรงตำแหน่ง – 1 มกราคม พ.ศ. 2551
สิ้นสุดการดำรงตำแหน่ง – 31 ธันวาคม พ.ศ. 2555

13. Le Luong Minh
จากประเทศ – เวียดนาม
เริ่มดำรงตำแหน่ง – 1 มกราคม พ.ศ. 2556
สิ้นสุดการดำรงตำแหน่ง – 31 ธันวาคม พ.ศ.2560


 


ภาษาอาเซียน แต่ละประเทศใช้ภาษาอะไรบ้าง

 

 

ภาษาอาเซียน ที่ใช้เป็นภาษากลางในการทำงานของอาเซียน คือ ภาษาอังกฤษ (กฎบัตรอาเซียน ข้อ 34) โดยภาษาอังกฤษจะเป็นภาษาที่ใช้ในระหว่างการประชุม การโต้ตอบทางจดหมาย การจัดทำรายงานการประชุม ผลการพิจารณาและมติที่ประชุมตลอดจนการจัดทำคำแถลงการณ์ และการปฏิสัมพันธ์ต่างๆ ของอาเซียน ทั้งนี้ในฐานะที่เป็นสมาคมอาเซียนไม่ได้ให้บริการด้านการแปลหรือตีความ

 

ภาษาอาเซียน หรือ ภาษาอังกฤษนี้นั้น ในความเป็นจริงแล้วมีเพียงประเทศสิงคโปร์ประเทศเดียวเท่านั้นที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ ส่วนประเทศที่เหลือล้วนแต่ใช้ภาษาของตนเองเป็นภาษาราชการ

ภาษาราชการของประเทศสมาชิกอาเซียน มีดังนี้
ประเทศอินโดนีเซีย ภาษาราชการคือ บาฮาซา อินโดนีเซีย (Bahasa Indonesia)
ประเทศมาเลเซีย ภาษาราชการคือ ภาษามาเลย์ หรือ ภาษามลายู (Bahasa Melayu)
ประเทศฟิลิปปินส์ ภาษาราชการคือ ภาษาฟิลิปปินส์ (Filipino, ฟิลิปิโน หรือภาษาตากาล็อก)
- ประเทศสิงค์โปร์ ภาษาราชการคือ ภาษาอังกฤษ (English)
ประเทศบรูไน ภาษาราชการคือ ภาษามาเลย์ (Bahasa Melayu)
ประเทศเวียดนาม ภาษาราชการคือ ภาษาเวียดนาม (Vietnamese)
ประเทศลาว ภาษาราชการคือ ภาษาลาว (Laotian)
ประเทศพม่า ภาษาราชการคือ ภาษาพม่า (Burmese)
ประเทศกัมพูชา ภาษาราชการคือ ภาษาเขมร (Khmer)
ประเทศไทย ภาษาราชการคือ ภาษาไทย (Thai)

เพลงอาเซียน คือ เพลงวิถีอาเซียน (ASEAN Way)

เพลงอาเซียน เพลงอาเซียนร่วมใจ เนื้อเพลง ความหมาย ฟังเพลงประจำอาเซียน

 

ฟังเพลงวิถีอาเซียน
 

 

เนื้อเพลงภาษาอังกฤษ
Raise our flag high, sky high.
Embrace the pride in our heart.
ASEAN we are bonded as one.
Look’in out to the world.
For peace our goal from the very start
And prosperity to last.
We dare to dream,
We care to share.
Together for ASEAN.
We dare to dream,
We care to share
For it’s the way of ASEAN.

 

คำแปล
ชูธงเราให้สูงสุดฟ้า
โอบเอาความภาคภูมิไว้ในใจเรา
อาเซียนเราผูกพันเป็นหนึ่ง
มองมุ่งไปยังโลกกว้าง
สันติภาพ คือเป้าหมายแรกเริ่ม
ความเจริญ คือปลายทางสุดท้าย
เรากล้าฝัน
และใส่ใจต่อการแบ่งปัน
ร่วมกันเพื่ออาเซียน
เรากล้าฝัน
และใส่ใจต่อการแบ่งปัน
นี่คือวิถีอาเซียน

เนื้อเพลงภาษาไทย
พลิ้วลู่ลม โบกสะบัด
ใต้หมู่ธงปลิวไสว
สัญญาณแห่งสัญญาทางใจ
วันที่เรามาพบกัน
อาเซียนเป็นหนึ่งดังที่ใจเราปรารถนา
เราพร้อมเดินหน้าไปทางนั้น
หล่อหลอมจิตใจ
ให้เป็นหนึ่งเดียว
อาเซียนยึดเหนี่ยวสัมพันธ์
ให้สังคมนี้
มีแต่แบ่งปัน
เศรษฐกิจมั่นคงก้าวไกล

ประชากรอาเซียน มีเท่าไหร่ เรามีคำตอบ!!!

ประชากรอาเซียน มีจำนวนทั้งสิ้น 636,512,723 ล้านคน (ข้อมูล ณ สิ้นปี พ.ศ. 2557) หรือประมาณ 8.85% ของประชากรโลก โดยประเทศอินโดนีเซียมีจำนวนประชากรสูงสุด จำนวน 253,609,643 คน และประเทศบรูไนมีประชากรน้อยที่สุด โดยมีประชากรเพียง 400,000 คนเศษ

 

ประชากรอาเซียนเรียงตามประเทศที่มีประชากรมากที่สุดจนถึงน้อยที่สุด ดังนี้

ประชากรอาเซียน

ประเทศอินโดนีเชีย มีประชากรมากที่สุดในอาเซียน

อันดับ 1 : ประเทศอินโดนีเซีย
จำนวนประชากร : 253,609,643 คน
ศาสนา : ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม

อันดับ 2 : ประเทศฟิลิปปินส์
จำนวนประชากร : 107,668,231 คน
ศาสนา : ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์

อันดับ 3 : ประเทศเวียดนาม
จำนวนประชากร : 93,421,835 คน
ศาสนา : ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ

อันดับ 4 : ประเทศไทย
จำนวนประชากร : 67,741,401 คน
ศาสนา : ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ

อันดับ 5 : ประเทศพม่า
จำนวนประชากร : 55,746,253 คน
ศาสนา : ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ

อันดับ 6 : ประเทศมาเลเซีย
จำนวนประชากร : 30,073,353 คน
ศาสนา : ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม

อันดับ 7 : ประเทศกัมพูชา
จำนวนประชากร : 15,458,332 คน
ศาสนา : ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ

อันดับ 8 : ประเทศลาว
จำนวนประชากร : 6,803,699 คน
ศาสนา : ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ

อันดับ 9 : ประเทศสิงคโปร์
จำนวนประชากร : 5,567,301 คน
ศาสนา : ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ

อันดับ 10 : ประเทศบรูไน
จำนวนประชากร : 422,675 คน
ศาสนา : ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม

ประชากรอาเซียนมาจากต่างชาติ ต่างภาษา ต่างเผ่าพันธุ์และต่างศาสนากันจำนวนมากมายหลายกลุ่ม แม้แต่ในประเทศเดียวกันก็ยังมีความแตกต่างกันมาก เช่นในประเทศไทย ประเทศพม่า และประเทศอินโดนีเซียเป็นต้น แต่เป้าหมายของอาเซียนคือรวมประชากรทั้งหมดให้เป็นหนึ่งเดียว และสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข


สกุลเงินอาเซียน 10 ประเทศ มีสกุลเงินอะไรกันบ้าง พร้อมรูปธนบัตรสวยๆ

สกุลเงินอาเซียน อาเซียนของเรายังไม่ได้มีการกำหนดสกุลเงินกลาง ซึ่งจะสามารถใช้กันได้ทั้งอาเซียน 10 ประเทศโดยแต่ละประเทศยังจะใช้สกุลเงินของตนเองต่อไป ซึ่งเมื่อเดินทางข้ามประเทศจะต้องใช้บริการแลกเปลี่ยนเงินตราของประเทศนั้นๆ ยกเว้นประเทศที่มีพรมแดนติดกัน ที่จะสามารถใช้สกุลเงินได้ทั้งสองสกุลในพื้นที่ชายแดนเป็นการเฉพาะ เช่น บริเวณพรมแดนไทย-กัมพูชา สามารถใช้ได้ทั้งเงินบาทของไทย และเงินเรียลของกัมพูชา เป็นต้น

 

สกุลเงินอาเซียน ทั้งหมดมีดังนี้
สกุลเงินของบรูไน – ดอลลาร์บรูไน (ฺBrunei Dollar, BND)
เงินดอลลาร์บรูไนมีค่าเท่ากับเงินดอลลาร์สิงคโปร์ โดยทางการประเทศบรูไนมีการออกธนบัตรที่มีมูลค่า 1, 5, 10, 50, 100, 500, 1,000 และ 10,000 ดอลลาร์ มีอัตราแลกเปลี่ยนราว 1.3 BND ต่อดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1 BND ต่อ 25 บาทไทย

Brunei Dollar

ธนบัตรเงินดอลลาร์บรูไน

สกุลเงินของกัมพูชา – เรียล (Cambodian Riel, KHR)
เงินเรียลกัมพูชา มีการผลิตทั้งเหรียญและธนบัตรหลายระดับราคาออกมาใช้งาน คือ 50, 100, 200, 500, 1,000, 2,000, 5,000, 10,000, 20,000, 50,000 และ 100,000 เรียล โดยมีอัตราแลกเปลี่ยนราว 4,000 เรียลต่อดอลลาร์สหรัฐ การค้าขายตามแนวชายแดนหรือแม้กระทั่งในเมืองใหญ่ๆของกัมพูชา เราสามารถใช้เงินบาทไทยและเงินดอลลาร์สหรัฐในการซื้อสินค้าและบริการได้

Cambodian Riel

ธนบัตรเงินเรียลกัมพูชา

สกุลเงินของมาเลเซีย – ริงกิต (Ringgit, MYR)
เงินริงกิตมาเลเซียมีอัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 1 ริงกิตต่อ 10 บาทไทย หรือราว 3.2 MYR ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ เงินริงกิตมาเลเซียถูกผลิตออกมาใช้งานหลายระดับราคาคือ 1, 5, 10, 20, 50 และ 100 ริงกิต

Malaysian Ringgit

ธนบัตรริเงินงกิตมาเลเซีย

สกุลเงินของพม่า – จ๊าต (Myanmar Kyat, MMK)
เงินจ๊าตของพม่ามีอัตราแลกเปลี่ยนราว 32 จ๊าตต่อ 1 บาทไทย หรือราว 1,000 จ๊าตต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยมีการผลิตธนบัตรออกมาใช้งานหลายราคา คือ 1, 5, 20, 50, 100, 200, 500, 1,000, 5,000 และ 10,000 จ๊าต

Myanma Kyat

ธนบัตรเงินจ๊าตของพม่า

สกุลเงินของฟิลิปปินส์ – เปโซ (Philippine Peso, PHP)
เงินเปโซฟิลิปปินส์มีอัตราแลกเปลี่ยนราว 1.35 เปโซต่อหนึ่งบาทไทย หรือราว 44 เปโซต่อดอลลาร์สหรัฐ ธนบัตรเงินเปโซที่ผลิตออกมาใช้งานมีหลายระดับราคาคือ 20, 50, 100, 200, 500 และ 1,000 เปโซ

Philippines Peso

ธนบัตรเงินเปโซฟิลิปปินส์

สกุลเงินของอินโดนีเซีย – รูเปียห์ (Indonesian Rupiah, IDR)
เงินรูเปียห์ของอินโดนีเซียมีอัตราแลกเปลี่ยนราว 11,700 IDR ต่อดอลลาร์สหรัฐ หรือ ราว 370 IDR ต่อบาทไทย ราคาของธนบัตรรูเปียห์ที่ผลิตออกมาใช้งานคือ 1,000, 2,000, 5,000, 10,000, 20,000, 50,000 และ 100,000 รูเปียห์

Indonesian Rupiah

ธนบัตรรูเปียห์อินโดนีเซีย

สกุลเงินของไทย – บาท (Thai Baht, THB)
เงินบาทของไทยมีสถานะค่อนข้างแข็งแกร่งในบรรดาสกุลเงินอาเซียนด้วยกัน เนื่องจากประเทศไทยมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูงมาก อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทไทยนั้นราว 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ธนบัตรเงินบาทไทยมีผลิตออกมาใช้งานในระดับราคา 20, 50, 100, 500 และ 1,000 บาท

Thailand Baht

ธนบัตรเงินบาทของไทย

สกุลเงินของสิงคโปร์ – ดอลลาร์สิงคโปร์ (Singapore Dollar, SGD)
เงินดอลลาร์สิงคโปร์นับได้ว่าเป็นสกุลเงินที่แข็งแร่งที่สุดในบรรดาสกุลเงินอาเซียนทั้งหมด มีอัตราแลกเปลี่ยนราว 1.3 SGD ต่อดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1 SGD ต่อ 25 บาทไทย ธนบัตรดอลลาร์สิงคโปร์ที่ผลิตออกมาใช้งานคือ 2, 5 10, 50, 100, 1,000 และ 10,000 ดอลลาร์

Singapore Dollar

ธนบัตรเงินดอลลาร์สิงคโปร์

สกุลเงินของลาว – กีบ (Laotian Kip, LAK)
เงินกีบของลาวมีอัตรแลกเปลี่ยนราว 250 กีบต่อหนึ่งบาท หรือราว 8,000 กีบต่อดอลลาร์สหรัฐ ธนบัตรเงินกีบที่มีการผลิตออกมาใช้งานคือ 500, 1,000, 2,000, 5,000, 10,000, 20,000 และ 50,000 กีบ

Laotian Kip

ธนบัตรเงินกีบลาว

สกุลเงินของเวียดนาม – ด่ง (Vietnam Dong, VND)
สกุลเงินด่งของเวียดนามมีอัตราแลกเปลี่ยนราว 21,000 ด่งต่อดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 650 ด่งต่อ 1 บาทไทย ธนบัตรเงินด่งที่ผลิตออกมาใช้งานคือ 1,000 ,2,000, 5,000, 10,000, 20,000, 50,000, 100,000, 200,000 และ 500,000 ด่ง

Vietnam Dong

ธนบัตรเงินด่งเวียดนาม

สกุลเงินอาเซียนแต่ละประเทศมีความแข็งแกร่งตามภาวะเศรษฐกิจของสมาชิกแต่ละประเทศ โดยได้รับการความหมายไว้ว่า เมื่อมีการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี พ.ศ.2558 สกุลเงินอาเซียนทั้ง 10 ประเทศจะมีความแข็งแกร่งขึ้นอีกมาก เนื่องมาจากความต้องการสกุลเงินเหล่านี้ในการซื้อขายสินค้าและบริการมีมากขึ้น ตลอดจนภาวะเศรษฐกิจของอาเซียนภายหลังการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะมีความแข็งแกร่งขึ้น มีอำนาจการต่อรองในเวทีการค้าระหว่างประเทศสูงขึ้นนั่นเอง

เมืองหลวงอาเซียน 10 ประเทศ 10 เมือง พร้อมรูปสวยๆ

 

อาเซียน หรือ ASEAN (The Association of Southeast Asian Nations – สมาคมประชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) คือการรวมตัวของประเทศสมาชิกที่อยู่ในพื้นที่แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวน 10 ประเทศ อันได้แก่ ประเทศไทยประเทศอินโดนีเซีย ประเทศสิงคโปร์ ประเทศบรูไน ประเทศพม่า ประเทศลาว ประเทศเวียดนาม ประเทศมาเลเซียประเทศกัมพูชา และประเทศฟิลิปปินส์ โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ทุกประเทศในอาเซียนมีเมืองหลวงเช่นเดียวกับประเทศต่างๆทั่วโลก วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับเมืองหลวงอาเซียนทั้ง 10 เมือง 10 ประเทศกันครับ…


เมืองหลวงอาเซียน ทั้ง 10 ประเทศ มีดังนี้
เมืองหลวงอาเซียน

กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทย

กรุงเทพมหานครตั้งอยู่ในภาคกลางของประเทศไทยบริเวณใกล้ปากแม่น้ำเจ้าพระยา มีพื้นที่ราว 1,569 ตารางกิโลเมตร มีคนอาศัยอยู่มากกว่า 10 ล้านคน (ทั้งแบบตามทะเบียนบ้านและแบบแรงงานย้ายถิ่น) กรุงเทพมหานครได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเมืองหลวงของไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2325 โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 แห่งบรมราชจักรีวงศ์ โดยย้ายเมืองหลวงมาจากกรุงธนบุรี ซึ่งอยู่ฟากตรงข้าม มีแม่น้ำเจ้าพระยากั้นกลาง เนื่องจากกรุงเทพมหานคร (ชื่อเดิมคือจังหวัดพระนคร) มีชัยภูมิที่ดีกว่า ง่ายต่อการรักษาพระนครในกรณีถูกข้าศึกรุกราน ปัจจุบันกรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุน การบริหาราชการแผ่นดิน การเมืองการปกครองของประเทศไทย และยังแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั่วโลกอีกด้วย กรุงเทพมหานครมีผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้บริหารสูงสุด

  • ประเทศอินโดนีเซีย เมืองหลวงคือ กรุงจาการ์ตา (Jakarta)
เมืองหลวงอาเซียน

กรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย

กรุงจาร์กาตาเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของประเทศอินโดนีเซีย เดิมชื่อว่าเมืองบาตาเวีย (Batavia) ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะชวา มีพื้นที่ประมาณ 720 ตารางกิโลเมตร มีประชากรราว 13 ล้านคน ซึ่งนับว่าค่อนข้างหนาแน่น มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บริหารสูงสุดเช่นเดียวกับกรุงเทพมหานคร เป็นเมืองที่ทันสมัยและสวยงาม กรุงจาร์กาตาเป็นศูนย์กลางในทุกๆด้านของประเทศอินโดนีเซีย ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง แหล่งการศึกษา และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศอีกด้วย

  • ประเทศสิงคโปร์ เมืองหลวงคือ สิงคโปร์ (Singapore)
เมืองหลวงอาเซียน

ประเทศสิงคโปร์

ประเทศสิงคโปร์ไม่มีเมืองหลวงอย่างเป็นทางการ โดยใช้พื้นที่ทั้งประเทศเป็นเมืองหลวงเนื่องจากเป็นประเทศที่เป็นเกาะขนาดเล็ก ตั้งอยู่บริเวณปลายแหลมมาลายู มีเนื้อที่เพียง 697 ตารางกิโลเมตร ประชากรราว 5,300,000 คน สิงคโปร์ถึงแม้จะไม่มีทรัพยากรอะไรเลย แต่ก็นับได้ว่าเป็นประเทศที่มีความเจริญเป็นอย่างมาก โดยเป็นศูนย์ทางด้านเศรษฐกิจ การเงินและการลงทุนของภูมิภาค และถึงแม้จะเป็นประเทศขนาดเล็ก แต่ก็มีบริษัทต่างชาติมาตั้งสำนักงานจำนวนมากมาย มีสนามบินและระบบขนส่งภายในประเทศที่ทันสมัยที่สุดในภูมิภาค ประชากรมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้สูง มีแหล่งท่องเที่ยวมีเป็นจุดดึงดูดผู้คนจากทั่วโลกมากมาย

  • ประเทศบรูไน เมืองหลวงคือ กรุงบันดา เสรี เบกาวัน (Bandar Seri Begawan)
เมืองหลวงอาเซียน

กรุงบันดา เสรี เบกาวัน เมืองหลวงของบรูไน

กรุงบันดา เสรี เบกาวัน อยู่ทางฝั่งตะวันออกของประเทศบรูไน โดยเป็นทั้งเมืองหลวงและเมืองท่าที่สำคัญที่สุดของประเทศ เป็นเมืองหลวงที่มีเนื้อที่ขนาดเล็กมีเนื้อที่เพียง 100 ตารางกิโลเมตร มีประชากรราว 100,000 คน ในสมัยการล่าอาณานิคมของประเทศฝั่งยุโรป เมืองนี้เคยตกอยู่ใต้การยึดครองของประเทศอังกฤษ โดยถูกเรียกว่าเมืองบรูไน ก่อนจะกลับมาใช่ชื่อ บันดา เสรี เบกาวัน ภายหลังจากได้รับเอกราชจากอังกฤษแล้ว

  • ประเทศพม่า เมืองหลวงคือ กรุงเนปิดอว์ (Naypyidaw)
เมืองหลวงอาเซียน

กรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงของพม่า

กรุงเนปิดอว์ถูกสถานปนาขึ้นเป็นเมืองหลวงใหม่ของประเทศพม่าหรือเมียนม่าร์แทนกรุงย่างกุ้งที่เป็นเมืองหลวงเก่ามาอย่างยาวนาน เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2549 โดยพลเอกอาวุโสตาน ฉ่วย ผู้นำสูงสุดในขณะนั้น ด้วยเหตุผลหลักในด้านการบริหารประเทศได้ง่ายขึ้น เนื่องจากกรุงเนปิดอว์ตั้งอยู่ตรงกลางของประเทศพอดี ปัจจุบันกรุงเนปิดอว์ยังอยู่ในช่วงของการสร้างเมือง ถนนหนทาง แหล่งธุรกิจ โรงแรม ไม่ยังเสร็จสมบูรณ์นัก แต่ด้วยเหตุที่พม่าเพิ่งเปิดประเทศ (หลังจากปิดประเทศมาตั้งแต่สมัยทหารเข้ายึดอำนาจการปกครอง) จึงสามารถกล่าวได้ว่าในประเทศพม่านั้น ถนนทุกสาย นักลงทุนจากทั่วโลก กำลังมุ่งไปสู่กรุงเนปิดอว์ทั้งสิ้น

  • ประเทศลาว เมืองหลวงคือ กรุงเวียงจันทน์ (Vientiane)
เมืองหลวงอาเซียน

กรุงเวียงจันทน์ เมืองหลวงลาว

เวียงจันทน์ หรือ นครหลวงเวียงจันทน์ ตั้งอยู่ในภาคกลางของประเทศลาวในเขตลุ่มแม่น้ำโขง โดยอยู่ติดกับจังหวัดหนองคายของประเทศไทย เวียงจันทน์เป็นเมืองโบราณมีอายุมากกว่าหนึ่งพันปี โดยสถาปนาเป็นเมืองหลวงตั้งแต่สมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชในราวพุทธศตวรรษที่ 15 เวียงจันทน์เป็นเมืองหลวงและเมืองใหญที่สุดของประเทศลาว มีประชากรอยู่หนาแน่นที่สุด โดยมีประชากรราว 700,000 คน โดยในยุคการล่าอาณานิคม เวียงจันทน์เคยตกอยู่ภายใต้การยึดครองของประเทศฝรั่งเศส

  • ประเทศเวียดนาม เมืองหลวงคือ กรุงฮานอย (Ha Noi)
เมืองหลวงอาเซียน

กรุงฮานอย เมืองหลวงของเวียดนาม

ฮานอยเดิมเป็นเมืองหลวงของประเทศเวียดนามเหนือ เมื่อเวียดนามเหนือได้รับชัยชนะในสงครามเวียดนามและได้รวมเวียดนามใต้เข้าเป็นส่วนหนึ่งแล้ว จึงสถาปนาให้ฮานอยเป็นเมืองหลวงของประเทศ (เดิมเมืองหลวงของเวียดนามใต้คือไซง่อน หรือเมืองโฮจิมินห์ในปัจจุบัน) กรุงฮานอยก็เช่นเดียวกับเมืองหลวงอื่นๆในอาเซียนที่เป็นเมืองใหญ่และเมืองสำคัญที่สุดของประเทศ เป็นศูยน์กลางการเมืองการปกครองของประเทศ แต่ในประเทศเวียดนามนั้น เมืองที่ใหญ่ที่สุดในด้านการค้า การลงทุน การอุตสาหกรรมและการขนส่งทางทะเลคือเมืองโฮจิมินห์ (Ho Chi Minh) ซึ่งอยู่ทางภาคใต้ของประเทศ

  • ประเทศมาเลเซีย เมืองหลวงคือ กรุงกัวลาลัมเปอร์ (Kuala Lumpur)
เมืองหลวงอาเซียน

กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของมาเลเซีย

กรุงกัวลาลัมเปอร์เมืองหลวงของประเทศมาเลเซียนั้นตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกของประเทศ (ใกล้ฝั่งทะเลอันดามัน) เป็นเมืองใหญ่และสำคัญที่สุดของประเทศ มีพื้นที่ 94 ตารางไมล์ หรือ 243 ตารางกิโลเมตร มีประชากรราว 1.6 ล้านคน ถึงแม้จะมีการย้ายศูนย์การบริหารประเทศไปที่เมืองปุตราจายาแล้ว แต่ส่วนอื่นๆที่สำคัญของประเทศยังอยู่ที่เดิม โดยปกติแล้วชาวมาเลเซียจะเรียกกรุงกัวลาลัมเปอร์ว่า “เคแอล, KL” ซึ่งเป็นตัวย่อของ Kuala Lumpur นั่นเอง

  • ประเทศกัมพูชา เมืองหลวงคือ กรุงพนมเปญ (Phnom Penh)
เมืองหลวงอาเซียน

กรุงพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชา

กรุงพนมเปญเมืองหลวงของประเทศกัมพูชา มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ราชธานีพนมเปญ ตั้งอยู่ทางตอนกลาง (ค่อนไปทางใต้ของประเทศ) มีเนื้อที่ 678 ตารางกิโลเมตร มีประชากรหนาแน่นราว 2,000,000 คน พนมเปญถือว่าเป็นเมืองใหญ่และสำคัญที่สุดของประเทศกัมพูชา เป็นศูนย์กลางการเมืองการปกครองและการบริหารราชการแผ่นดิน รวมถึงการลงทุนจากต่างประเทศ ในยุคล่าอาณานิคมพนมเปญตกอยู่ภายใต้การยึดครองของฝรั่งเศส และได้รับเอกราชเมื่อปี ค.ศ. 1953

  • ประเทศฟิลิปปินส์ เมืองหลวงคือ กรุงมะนิลา (Manila)
เมืองหลวงอาเซียน

กรุงมะนิลา เมืองหลวงของฟิลิปปินส์

กรุงมะนิลาเมืองหลวงของประเทศฟิลิปปินส์ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของเกาะลูซอน ซึ่งเป็นเกาะใหญ่ที่สุดของประเทศ (จากจำนวนมากกว่า 7,000 เกาะ) เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม การท่องเที่ยว การศึกษา และการอุตสหากรรมของประเทศ ตัวเมืองของกรุงมะนิลามีเนื้อที่เพียง 39 ตารางกิโลเมตร แต่มีประชากรมากถึง 1.7 ล้านคน แต่ถ้านับชานเมืองด้วยจะมีเนื้อที่ 1,475 ตารางกิโลเมตร แต่จะมีประชากรมากถึง 22 ล้านคน ซึ่งนับว่ามีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นมาก ในสมัยการล่าอาณานิคม กรุงมะนิลาตกอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศสเปนและอยู่ภายใต้การดูแลของประเทศสหรัฐอเมริการวม 400 ปี

เมืองหลวงอาเซียนทั้ง 10 เมือง เป็นเมืองใหญ่ที่สุดของแต่ละประเทศ เป็นศูนย์กลางการปกครอง การค้า การลงทุน การเงินการธนาคารของประเทศนั้นๆ มีข้อสังเกตุอยู่ข้อหนึ่งคือในความจริงแล้วประเทศสิงค์โปร์นั้นไม่มีเมืองหลวง เนื่องจากเป็นประเทศที่เล็กมาก จึงใช้ประเทศทั้งประเทศเป็นเมืองหลวงไปเลย ส่วนเมืองที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในอาเซียนคือกรุงจาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย

สัตว์ประจำชาติอาเซียน

ASEAN หรือ The Association of Southeast Asian Nations : สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบไปด้วยสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศคือ ไทย กัมพูชา พม่า ลาว อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม

ประเทศในกลุ่มอาเซียนมีสัตว์ประจำชาติทุกประเทศเช่นเดียวกับที่ประเทศไทยมี สัตว์ประจำชาติอาเซียนมีอะไรกันบ้าง เรามาลองทายและติดตามกันครับ

 

สัตว์ประจำชาติอาเซียน มีดังนี้

  • สัตว์ประจำชาติของประเทศไทย คือ ช้าง
สัตว์ประจำชาติไทย

ช้าง สัตว์ประจำชาติไทย

ช้างเป็นสัตว์ประจำชาติไทยมาอย่างยาวนาน โดยในสมัยโบราณบ้านเรามีช้างอยู่มากมายนับแสนตัว ช้างส่วนมากจะถูกใช้ในการสงครามเป็นหลัก ต่อมาเมื่อมีอาวุธสมัยใหม่เข้ามาแทนที่ ช้างจึงถูกนำไปใช้แรงงานจำพวกชักลากไม้ในป่า และในปัจจุบันช้างเป็นสัตว์อนุรักษ์ที่ถูกใช้ในงานการแสดงและการท่องเที่ยว ประเทศไทยเคยใช้ช้างเป็นส่วนหนึ่งของธงชาติ เรียกว่าธงช้างเผือก ก่อนจะถูกเปลี่ยนมาใช้ธงไตรรงค์อย่างในปัจจุบันเมื่อปี พ.ศ.2460 แต่ยังมีธงหน่วยงานราชการบางแห่งที่ใช้ใช้ช้างเป็นองค์ประกอบ เช่น ธงของราชนาวีไทย เป็นต้น ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่าทำไมช้างจึงถูกเรียกว่าเป็นสัตว์ประจำชาติไทย

สัตว์ประจำชาติของกัมพูชา

กูปรี สัตว์ประจำชาติของกัมพูชา

กูปรี หรือ โคไพร เป็นสัตว์จำพวกกระทิงหรือวัวป่าชนิดหนึ่ง เป็นสัตว์กีบคู่ ตัวโต โคนขาใหญ่ ปลายหางเป็นพู่ขน ปัจจุบันกูปรีอยู่ในสถานะสูญพันธุ์ โดยไม่มีรายงานการพบกูปรีในป่าธรรมชาติมานานหลายสิบปีแล้ว แต่นักอนุรักษ์ส่วนใหญ่เชื่อว่าจะยังสามารถพบกูปรีได้ตามป่าชายแดนไทนและกัมพูชา (แต่ไม่เคยมีรายงานยืนยัน) กูปรีถูกประกาศให้เป็นสัตว์ประจำชาติกัมพูชาโดยสมเด็จเจ้านโรดมสีหนุอดีตกษัตริย์ของกัมพูชา นอกจากกูปรีจะเป็นสัตว์ประจำชาติของกัมพูชาแล้ว ยังพบว่ากูปรียังเป็นส่วนหนึ่งของตราสัญญลักษณ์ของ มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์อีกด้วย

สัตว์ประจำชาติของพม่า

เสือโคร่ง สัตว์ประจำชาติของพม่า

เสือโคร่ง (Tiger) นั้นเป็นสัตว์กินเนื้อตะกูลแมวที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีความดุร้าย ว่องไว ปราดเปรียว สามารถวิ่งได้เร็ว ว่ายน้ำเก่ง ปีนต้นไม้ได้คล่องแคล่ว พบได้ทั่วไปในทวีปเอเชีย และพบมากในป่าของประเทศพม่า ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของประเทศพม่าได้เป็นอย่างดี ดังที่มีผู้กล่าวไว้ว่า เสือคือดัชนีวัดความอุดมสมบูรณ์ของป่า ดังนั้นเสือจึงถูกเลือกให้เป็นสัตว์ประจำชาติพม่า

สัตว์ประจำชาติไทย

ช้าง สัตว์ประจำชาติลาว

ช้างเป็นสัตว์ประจำชาติลาวเช่นเดียวกับประเทศไทย ประเทศและประชาชนลาวเองนั้นมีความผูกพันกับช้างมาตั้งแต่อดีตเช่นเดียวกับไทย และที่ตั้งของประเทศ สปป.ลาวในปัจจุบันนั้นในอดีตมีชื่อเรียกว่า อาณาจักรล้านช้าง ใช้ช้างในการทำศึกสงครามและในการใช้แรงงานเช่นเดียวกับประเทศไทยของเราทุกประการ ซึ่งด้วยเหตุนี้จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมช้างจึงถูกเลือกให้เป็นสัตว์ประจำชาติของลาว

สัตว์ประจำชาติของอินโดนีเชีย

มังกรโคโมโด สัตว์ประจำชาติของอินโดนีเชีย

มังกรโคโมโดเป็นสัตว์โบราณตะกูลตัวเงินตัวทองชนิดหนึ่ง มีขนาดใหญ่มากเมื่อเทียบกับสัตว์ในตะกูลเดียวกัน พบได้เฉพาะในประเทศอินโดนีเซียบริเวณเกาะโคโมโด รินคา, ฟลอเรส และกิลีโมตาง เป็นสัตว์ที่มีนิสัยดุร้ายกว่าเพื่อร่วมสายพันธุ์ ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง และด้วยความที่สามารถพบเห็นได้เพียงแห่งเดียวในโลกในประเทศอินโดนีเซียเท่านั้น มังกรโคโมโดจึงถูกเลือกให้เป็นสัตว์ประจำชาติอินโดนีเซีย

สัตว์ประจำชาติของฟิลิปปินส์

ควาย สัตว์ประจำชาติของฟิลิปปินส์

ควาย (Water Buffalo) ในประเทศฟิลิปปินส์นั้น ถูกนำมาใช้แรงงานเหมือนในประเทศเวียดนาม ทั้งแรงงานในด้านการเกษตรกรรมและด้านการชักลากของหนัก ดังนั้นคนฟิลิปปินส์จึงมีความผูกพันกับควายมากเป็นพิเศษ และควายได้ถูกเลือกให้เป็นสัตว์ประจำชาติฟิลิปปินส์ด้วยเหตุผลนี้เอง ควายเรียกตามภาษาพื้นเมืองหรือภาษาตากาล็อคว่าคาราบาว และชื่อนี้ถูกนำมาใช้เป็นชื่อวงดนตรีชื่อดังของไทยและใช้รูปหัวควายเป็นสัญญลักษญ์ (หัวหน้าวงคือแอ๊ด คาราบาว จบการศึกษาจากประเทศฟิลิปปินส์)

สัตว์ประจำชาติของพม่า

เสือโคร่ง สัตว์ประจำชาติของบรูไน

เสือโคร่ง สัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่นอกจากจะได้รับการเลือกให้เป็นสัตว์ประจำชาติของพม่าแล้ว ยังถูกเลือกให้เป็นสัตว์ประจำชาติบรูไนอีกด้วย โดยลักษณะทางภูมิศาสตร์ของประเทศบรูไนซึ่งมีภูเขาและป่าไม้อยู่เป็นจำนวนมาก มีประชากรไม่หน่าแน่น สัตว์ป่าจึงไม่ถูกรบกวน จึงสามารถพบเสือโคร่งสายพันธุ์เอเชียจำนวนมาก และได้ถูกเลือกให้เป็นสัตว์ประจำชาติของประเทศบรูไนในที่สุด

สัตว์ประจำชาติของสิงคโปร์

สิงโต สัตว์ประจำชาติของสิงคโปร์

ประเทศสิงคโปร์ เดิมมีชื่อว่าเมืองสิงหปุระ (Singapura) ซึ่งหมายถึงเมืองแห่งสิงโต แต่ไม่มีรายงานการพบสิงโตอยู่ตามธรรมชาติในประเทศสิงคโปร์เลย เนื่องจากเป็นประเทศที่ไม่มีป่าไม้หรือทุ่งหญ้าซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสิงโต มีแต่เรื่องเล่าที่ว่ามีผู้เคยพบเห็นสัตว์ที่มีรูปร่างคล้ายสิงโตอยู่บนดินแดนแห่งนี้เท่านั้น แต่กระนั้นสิงโตก็ยังได้รับเลือกให้เป็นสัตว์ประจำชาติสิงคโปร์

สัตว์ประจำชาติของมาเลเซีย

เสือโคร่งมลายู

เสือโคร่งมาลายูเป็นสัตว์ตะกูลเสือโคร่งที่มีลักษณะเฉพาะ มีขนาดใหญ่และมีความแข็งแรงมาก พบมากทางภาคกลางของประเทศมาเลเซียและสามารถพบได้ในป่าดิบชื้นของประเทศเช่น เพนนิซูล่า กลันตัน ตรังกานู เประ ปะหัง และป่าตอนใต้สุดของไทยที่ติดกับชายแดนมาเลเซีย นอกจากเสือโคร่งมลายูจะเป็นสัตว์ประจำชาติมาเลเซีย ยังปรากฏอยู่ในตราสัญญลักษณ์ของประเทศ และเรานิยมเรียกคนมาเลย์และทีมกีฬาของมาเลเซียว่าทีมเสือเหลืองอีกด้วย ซึ่งคำว่าเสือเหลืงหมายถึงเสือโคร่งมลายูนั่นเอง

  • สัตว์ประจำชาติของประเทศเวียดนาม คือ ควาย
สัตว์ประจำชาติของฟิลิปปินส์

ควาย สัตว์ประจำชาติของเวียดนาม

ประเทศเวียดนามเป็นประเทศที่ปลูกข้าวรายใหญ่ประเทศหนึ่งของโลก และการปลูกข้าวของชาวเวียดนามนั้นยังนิยมใช้ควายในการไถนาอยู่ ดังนั้นวิถีชีวิตของคนเวียดนามจึงผูกพันกับควายมากกว่าสัตว์ชนิดอื่น โดยที่ควายนั้นจะสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในประเทศเวียดนาม (เช่นเดียวกับประเทศไทยในสมัยที่ยังนิยมใช้ควายไถนานั่นเอง) ดังนั้นควายจึงถูกยกขึ้นเป็นสัตว์ประจำชาติเวียดนาม

ดอกไม้ประจําชาติอาเซียน 10 ประเทศ พร้อมรูปสวยๆ

 

ดอกไม้ (Flower) นอกจากจะเป็นตัวแทนของความสวยงามและความสดชื่นแล้ว ดอกไม้ยังถูกนำมาเป็นตัวแทนหรือสัญลักษณ์ของประเทศต่างๆทั่วโลก สำหรับประเทศในกลุ่มอาเซียนของเราก็เช่นเดียวกัน ทุกประเทศมีดอกไม้ประจําชาติด้วยเหมือนกัน โดยที่ดอกไม้แต่ละชนิดแสดงถึงความเป็นมา วิถีวัฒนธรรมของชาตินั้นๆได้เป็นอย่างดี วันนี้เราจะมาดูกันครับว่าดอกไม้ประจําชาติอาเซียนมีดอกไม้อะไรกันบ้าง ^ ^


ดอกไม้ประจําชาติอาเซียน มีดังนี้

   1. ดอกไม้ประจำชาติไทย – ดอกราชพฤกษ์ (Ratchaphruek) หรือ ดอกคูน
ดอกราชพฤกษ์

ดอกราชพฤกษ์ ดอกไม้ประจำชาติของไทย

ดอกไม้ประจำชาติของไทยคือดอกราชพฤกษ์ หรือ ดอกคูน (ภาษาอีสาน) และ ดอกลมแล้ง (ภาษาเหนือ) โดยที่ดอกราชพฤกษ์นั้นมีลักษณะดอกเป็นช่อหรือเป็นพวง มีสีเหลืองสดใสสวยงาม ดอกราชพฤกษ์ของไทยบานเหลืองสะพรั่งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคมของทุกปี โดยเราสามารถพบเห็นได้ทั่วไป ทั้งตามแนวถนนหลวง ตามสวนสาธารณะ ตามวัดวาอาราม อีกทั้งเราจะพบว่าคนไทยนิยมนำดอกราชพฤกษ์มาประดับพระเจดีย์ทรายที่นิยมก่อกันในช่วงวันสงกรานต์อีกด้วย

2. ดอกไม้ประจำชาติกัมพูชา – ดอกลำดวน (Rumdul)

ดอกลำดวน

ดอกลำดวน ดอกไม้ประจำชาติกัมพูชา

ดอกไม้ประจำชาติของกัมพูชาคือดอกลำดวน โดยที่ดอกลำดวนเป็นดอกไม้สีขาวปนเหลืองนวล (เหลืองนวลอ่อนๆ) มีกลีบดอกหนาและค่อนข้างแข็ง มีกลิ่นหอมเย็นชื่นใจ โดยจะส่งกลิ่นแรงในช่วงเวลากลางคืน ชาวกัมพูชาถือว่าดอกลำดวนเป็นดอกไม้มงคล นิยมปลูกกันทั่วประเทศ เป็นดอกไม้ประจำชาติอาเซียนที่มีลักษณะแปลกตา แต่มีเอกลักษณ์และสวยงามมาก

3. ดอกไม้ประจำชาติลาว – ดอกจำปาลาว (Dok Champa) หรือ ดอกลีลาวดี

ดอกลีลาวดี

ดอกลีลาวดี หรือ ดอกจำปาลาว ดอกไม้ประจำชาติลาว

ดอกไม้ประจำชาติอาเซียนอีกประเทศหนึ่งคือดอกลีลาวดีของประเทศลาว ดอกลีลาวดีมีชื่อในภาษาลาวว่าดอกจำปาลาว หรือที่คนไทยโบราณนิยมเรียกว่าดอกลั่นทม ซึ่งมาเปลี่ยนชื่อเป็นดอกลีลาวดีในภายหลัง (นัยว่าเพื่อความเป็นสิริมงคล) ดอกลีลาวดีนั้นเป็นดอกไม้ที่มีหลากหลายสีสัน ทั้งสีขาว สีส้ม สีแดง สีชมพู และสีเหลืองเป็นต้น คนลาวถือว่าดอกลีลาวดีซึ่งเป็นดอกไม้ประจำชาติของตนนั้นเป็นตัวแทนของความสดชื่น ความจริงใจ และความสุข ดังนั้นคนลาวจึงนิยมใช้ดอกลีลาวดีในงานมงคลทุกชนิด ทั้งงานบวช งานแต่ง งานทำบุญต่างๆ รวมถึงทำเป็นพวงมาลัยถวายพระและต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองด้วย

4. ดอกไม้ประจำชาติพม่า – ดอกประดู่ (Padauk)

ดอกประดู่

ดอกประดู่ ดอกไม้ประจำชาติพม่า

ดอกไม้ประจำชาติพม่าคือดอกประดู่ ดอกประดู่เป็นดอกไม้สีเหลืองทอง สีสันสวยงาม พบได้มากทั้งในประเทศพม่าและประเทศไทยของเรา เป็นดอกไม้ที่มีกลิ่นหอม โดยจะเริ่มออกดอกพร้อมกับฤดูฝน ซึ่งถือว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดีสำหรับประเทศเกษตรกรรม คนพม่านิยมใช้ดอกประดู่สำหรับงานเฉลิมฉลองในช่วงเทศกาลปีใหม่ของตน รวมถึงงานมงคลต่างๆ นิยมใช้เป็นดอกไม้บูชาพระและงานสำคัญทางศาสนาด้วย

5. ดอกไม้ประจำชาติเวียดนาม – ดอกบัว (Lotus)

ดอกบัว

ดอกบัว ดอกไม้ประจำชาติเวียดนาม

ดอกไม้ประจำชาติเวียดนามคือดอกบัว คนเวียดนามมีความเชื่อว่าดอกบัวคือสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ ความรัก ความผูกพัน และการมองโลกในแง่ดี รวมถึงความเชื่อที่ว่าดอกบัวเป็นตัวแทนแห่งรุ่งอรุณ เนื่องจากดอกบัวจะคลี่บานพร้อมกับแสงตะวัน ซึ่งหมายถึงการเริ่มต้นวันที่แจ่มใส เราจึงสามารถพบคำว่าดอกบัวอยู่ในบทเพลงพื้นบ้านและบทกลอนในภาษาเวียดนามอยู่เสมอ นับได้ว่าเป็นดอกไม้ประจำชาติอาเซียนที่ไม่ได้เป็นดอกไม้ประจำถิ่น แต่เป็นดอกไม้ที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในทุกประเทศอาเซียน

6. ดอกไม้ประจำชาติสิงคโปร์ – ดอกกล้วยไม้แวนด้า (Vanda Miss Joaquim)

Vanda ''Miss Joaquim''

Vanda ‘Miss Joaquim’ ดอกไม้ประจำชาติสิงคโปร์

ดอกไม้ประจำชาติของสิงค์โปร์คือดอกกล้วยไม้แวนด้า (Vanda Miss Joaquim ) ซึ่งดอกกล้วยไม้แวนด้านี้จะมีสีม่วงแดงสดใส สามารถออกดอกบานสะพรั่งได้ตลอดทั้งปี โดยชื่อ Vanda Miss Joaquim มาจากชื่อของผู้ที่สามารถผสมพันธุ์กล้วยไม้สายพันธุ์แวนด้าชนิดนี้ได้สำเร็จ ซึ่งก็คือ Miss Joaquim นั่นเอง ดอก Vanda Miss Joaquim ถูกประกาศให้เป็นดอกไม้ประจำชาติเมื่อปี ค.ศ. 1981

7. ดอกไม้ประจำชาติมาเลเซีย – ดอกพู่ระหง (Bunga Raya) หรือ ดอกชบาแดง

ดอกพู่ระหง

ดอกพู่ระหง ดอกไม้ประจำชาติมาเลเซีย

ดอไม้ประจำชาติอาเซียนที่มีความสวยงามมากอีกประเทศหนึ่ง ก็คือดอกไม้ประจำชาติมาเลยเซีย ซึ่งคือดอกพู่ระหง หรือ ดอกบุหงารอยอในภาษามาเลย์ หรือดอกชบาแดงในภาษาไทย พู่ระหงเป็นดอกไม้ที่มีสีแดงสดใส มีกลีบดอก 5 กลีบ มีแกนเกสรอยู่ตรงกลาง เป็นไม้ดอกประเภทล้มลุกขนาดเล็ก ลำต้นมีความสูงประมาณ 1 เมตรเท่านั้น ชาวมาเลย์เชื่อว่าดอกพู่ระหงเป็นสัญลักษณ์ของความแข็งแรง ความสามัคคีของคนในชาติ และยังรวมถึงความสูงส่งและความสง่างามอีกด้วย

8. ดอกไม้ประจำชาติบรูไน – ดอกส้านชะวา (Dillenia) หรือดอกซิมปอร์ (Simpor)

ดอกส้านชะวา

ดอกส้านชะวา ดอกไม้ประจำชาติบรูไน

ดอกไม้ประชาติของบรูไนคือดอกซ้านชวาหรือดอกซิมปอร์ ซึ่งเป็นดอกไม้สีเหลืองสดใสสวยงาม มีดอกขนาดใหญ่คล้ายร่ม ในหนึ่งดอกจะประกอบไปด้วยกลีบดอกจำนวน 5 กลีบ ดอกซ้านชวาถือว่าเป็นดอกไม้ประจำถิ่นของบรูไน สามารถพบเห็นได้ทั่วไป รวมถึงในธนบัตรหรือเงินของบรูไนและงานศิลปะประเภทต่างๆอีกด้วย

9. ดอกไม้ประจำชาติอินโดนีเซีย – ดอกกล้วยไม้ราตรี (Moon Orchid)

ดอกกล้วยไม้ราตรี

ดอกกล้วยไม้ราตรี ดอกไม้ประจำชาติอินโดนีเซีย

ดอกไม้ประจำชาติอินโดนีเซียคือดอกกล้วยไม้ราตรี หรือ Moon Orchid ซึ่งเป็นกล้วยไม้สายพันธุ์พิเศษที่มีลักษณะสวยงามและออกดอกตลอดทั้งปี รวมถึงสามารถบานอยู่ได้หลายเดือน สามารถขึ้นได้ดีในสภาพอากาศที่ร้อนชื้นซึ่งเป็นลักษณะอากาศประจำถิ่นของอินโดนีเซีย นับได้ว่าเป็นดอกไม้ประจำชาติอาเซียนที่มีงดงามไม่แพ้ใครเลยทีเดียว

10. ดอกไม้ประจำชาติฟิลิปปินส์ – ดอกพุดแก้ว (Sampaguita Jasmine)

ดอกพุดแก้ว

ดอกพุดแก้ว ดอกไม้ประจำชาติฟิลิปปินส์

ดอกไม้ประจำชาติฟิลิปปินส์คือดอกพุดแก้ว ซึ่งเป็นดอกไม้สีขาวบริสุทธิ์ มีลักษณะของดอกเป็นแฉกจำนวน 5 กลีบคล้ายรูปดาว มีกลิ่นหอมสดชื่นโดยเฉพาะในเวลากลางคืน ต้นพุดแก้วจะออกดอกได้ทั้งปี โดยชาวฟิลิปปินส์เชื่อว่าดอกพุดแก้วเป็นตัวแทนของความบริสุทธิ์ ความเรียบง่าย ความอ่อนน้อมถ่อมตน และความเข้มแข็ง จึงนิยมใช้ดอกพุดแก้วในงานรื่นเริงและงานเฉลิมฉลองทุกชนิด



เข้าชม : 2540
 
 
ห้องสมุดประชาชนอำเภอเหนือคลอง ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเหนือคลอง  จังหวัดกระบี่
ตำบลเหนือคลอง  อำเภอเหนือคลอง  จังหวัดกระบี่ 81130 
โทรศัพท์ 075-691902 โทรสาร 075-692174
lansan_nah
@hotmail.co.th
Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05