ธรรมชาติงามตระการ ตำนานเมืองเก่า ร่มเงาอารยธรรม งามล้ำองค์เจดีย์ เหลืองกระบี่คู่ควรเมือง

                                            
 

  

ความรอบรู้
ปราชญ์ชาวบ้านเดินตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ศุกร์ ที่ 28 เดือน สิงหาคม พ.ศ.2558


  จังหวัดกระบี่มีทรัพยากรธรรมชาติที่ยังอุดมสมบูรณ์และสวยงามอยู่มากโดยเฉพาะความสวยงามทางทะเล เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ผู้คนรู้จักทั้งชาวไทย และต่างชาติ ติดอันดับของโลก เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลอันดามัน มีเนื้อที่ 4,708 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยภูเขา ที่ดอน ที่ราบ หมู่เกาะน้อยใหญ่กว่า 154 เกาะอุดมไปด้วยป่าชายเลน ตัวเมืองกระบี่มีแม่น้ำยาวประมาณ 5 กิโลเมตร ไหลผ่านใจกลางเมืองลงสู่ทะเลอันดามันที่ตำบลปากน้ำ 

      นอกจากนี้ยังมีคลองปกาสัย คลองกระบี่ใหญ่ และคลองกระบี่น้อย ที่มีต้นกำเนิดจากยอดเขาที่สูงที่สุดในจังหวัดกระบี่ คือ เขาพนมเบญจา ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ รองลงมาคือ ศาสนาอิสลาม ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพทางการเกษตร อุตสาหกรรม และธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว 

    สภาพอากาศ เป็นแบบมรสุมเขตร้อน มีฝนตกชุกตลอดปี และมีเพียง 2 ฤดู คือ ฤดูร้อน มี 4 เดือน ฤดูฝน มี 8 เดือน จนชาวบ้านพูดติดปาก ฝน 8 แดด 4 ก็ จ.กระบี่ นี่แหละ จึงมีความเหมาะสมกับการทำการเกษตรเป็นอย่างยิ่ง อาชีพการเกษตรสำคัญ ได้แก่ การปลูกยางพารา ทำสวนปาล์มน้ำมัน ไร่กาแฟ โกโก้ สวนผลไม้ และการทำประมง ซึ่งสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างเป็นกอบเป็นกำ 

     ตัวอย่างหนึ่ง คือ นายบุญแก้ว ทิพย์รงค์ หนึ่งในเกษตรกรกระบี่ที่ประสบความสำเร็จในการทำการเกษตรจนได้รับยกย่องให้เป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านการผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพ การปลูกแฝก เลี้ยงแพะ และหมอดินอาสาประจำหมูบ้านห้วยยูงใต้ ตำบลห้วยยูง อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ มีอายุ 76 ปี 

     เล่าให้ฟังว่า มีที่ทำกิน 13 ไร่ แบ่งเป็นสวนยางพารา 8 ไร่  และสวนปาล์มน้ำมัน  5 ไร่ และทั้งในสวนปาล์มและสวนยางพารามีการเลี้ยงแพะเนื้อ โรงเรือนผลิตถ่านจากเศษวัสดุเหลือใช้จากการทำการเกษตรทุกชนิดตลอดถึงการปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อการบริโภคภายในครัวเรือน 

     นายบุญแก้วบอกว่าได้น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นแนวทางในการดำเนินกิจการ ทั้งสวนยางพารา สวนปาล์ม การเลี้ยงแพะ 

      โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ทุกส่วน พึ่งพาปัจจัยภายในเป็นหลัก เช่น ทางปาล์มที่เกิดจากการตัดแต่งนำมาเป็นอาหารแพะ ใช้มูลแพะมาหมักทำปุ๋ยใส่สวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน จึงไม่จำเป็นต้องซื้อปุ๋ยเคมีมาบำรุงต้นพืช ปล่อยแพะให้แทะเล็มหญ้าทั้งสวนปาล์มและสวนยางพาราลดค่าใช้จ่ายในการตัดหญ้าภายในสวนทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิตได้เป็นจำนวนมาก 

     สำหรับการเลี้ยงแพะนั้นนายบุญแก้ว ทิพย์รงค์ ได้ร่วมกับเกษตรกรายอื่นๆ ในพื้นที่ จำนวน 10 ราย เข้าร่วมโครงการเลี้ยงแพะเชิงพาณิชย์ตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงฯ ของศูนย์วิทยบริการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จังหวัดกระบี่ โดยการสนับสนุนปัจจัยเบื้องต้นในการดำเนินโครงการจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 

     นายบุญแก้วเล่าให้ฟังด้วยความภาคภูมิใจในแนวทางการเลี้ยงแพะที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และไม่ทารุณสัตว์ ว่าจะเลี้ยงแบบให้แพะมีอนามัยที่ดีไม่เครียด ใช้บริเวณกว้างให้สัตว์อยู่สบายมีความสุข ไม่ทรมานสัตว์ เหมือนกับที่บางพื้นที่เลี้ยงซึ่งสัตว์จะต่อต้าน แพะจะลงมาเที่ยวกินน้ำกินหญ้าได้ตลอดเวลา  จาก 20 ตัว ปีกว่าๆ เพิ่มเป็น 70 ตัว เพราะตกลูก 2 ตัว บ้าง 3 ตัวบ้าง 1 ตัวบ้าง แพะได้น้ำหนักตั้งแต่ 10 กิโลขึ้นไป จึงจับขายในราคากิโลกรัมละ 180 บาท เมื่อก่อน 200ซึ่งถือว่าอยู่ได้เพราะอาหารแพะไม่ต้องซื้อ 

      นอกจากนี้ก็ยังสามารถเก็บมูลแพะมาทำปุ๋ยเพื่อจำหน่ายได้อีกด้วย ในแพะ 70 ตัวจะได้มูลประมาณ 10 กิโลกรัมต่อวัน จากนั้นนำมาหมักโดยใช้จุลินทรีย์ พด.1 ช่วยย่อยสลาย ให้จุลินทรีย์ทำงาน 7 วันก็เอาปุ๋ยมูลแพะไปขายใช้บำรุงต้นไม้ได้ทุกชนิด 

    “ชาวบ้านในกลุ่มมีอาชีพทำสวนยางพาราวันที่ฝนตกก็ไม่ได้กรีดยาง ราคายางก็ตกต่ำ ค่าใช้จ่ายประจำวันจึงไม่เพียงพอ แต่เมื่อเลี้ยงแพะด้วยก่อนขายแพะ ก็เอามูลแพะไปขายและใช้บำรุงพืชผักที่บริเวณบ้าน ก็มีพืชผักไว้ได้กิน ไม่ต้องเป็นหนี้เป็นสิน เมื่อก่อนทำอยู่คนเดียว ปัจจุบันมีหน่วยงานหลายๆ แห่ง เช่นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาช่วยต่อยอดทำให้สามารถนำแนวทางการเลี้ยงแพะ การทำปุ๋ยมูลแพะ การปลูกพืชผักปลอดสารพิษไปสู่เพื่อนบ้านและชุมชนอื่นๆ ได้มากขึ้น ลำพังคนเดียวคงทำได้ไม่มากเช่นนี้” นายบุญแก้ว  กล่าว 

     ปราชญ์ชาวบ้านแห่งเมืองน้ำเค็ม ยังได้เล่าให้ฟังเพิ่มเติมถึงการหันมาทำการเกษตรด้วยการยึดแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ว่า ก่อนหน้านี้ไม่เคยคิด วันหนึ่งได้ฟังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทางทีวี ว่า “..ให้คนเราพยายามรักษาแผ่นดินเอาไว้ หากเราจะมอบทรัพย์สมบัติให้ลูกหลาน เราก็อย่าเอาผลประโยชน์จากธรรมชาติมาใช้ให้หมด เราเอาอะไรที่เราเอามาใช้แล้วเราต้องคืนให้กับธรรมชาติ..” 

     ผมก็น้อมนำพระราชดำรัสดังกล่าวมาดำเนินการด้วยการทำการเกษตรแบบคืนให้กับธรรมชาติด้วย ในสวนปาล์มของผม  ผมก็คืนให้กับธรรมชาติหมด แล้วเราก็ได้ผลที่ดีจากธรรมชาติกลับมา ทำปุ๋ยเอาไปใส่ปาล์ม 200-300 ต้น ก็ทำให้ปาล์มยิ้มได้ ทำแบบ 7-11 ในสวนปาล์ม คือ เอาปุ๋ยมาวางระหว่างต้น ระหว่างแถว เมื่อเรากองไว้ รอบ ๆ ต้นก็เหมือน 7-11 คือ ปาล์มจะสามารถกินได้ตลอด 24 ชม.” 

     “ผมปลูกหญ้าแฝกตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพื้นที่ทั่วไปภายในสวน ผมได้แฝกจากสมเด็จพระเทพฯ พระองค์ทรงแจกมาที่ อ.เหนือคลอง 10 กล้า ผมนำมาขยายเป็น 10 กว่าล้านกล้า เดี๋ยวนี้จังหวัดกระบี่ หรือ จังหวัดใกล้เคียงต้องมาเอาหญ้าแฝกที่นี่ไปปลูกเป็นส่วนใหญ่ ผมมีแปลงขยายพันธุ์ และได้รับรางวัลพระราชทานด้านการอนุรักษ์และส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝกเป็นหญ้าแฝกทองคำเมื่อไม่นานมานี้” 

     เกษตรกรผู้น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงฯ มาเป็นเครื่องมือประกอบอาชีพและดำเนินชีวิตกล่าว 

d0902aa-4
     และด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ นายบุญแก้ว ทิพย์รงค์ ยังได้แต่งบทกวีที่บรรยายถึงคุณประโยชน์ของหญ้าแฝกไว้ด้วยว่า 

ปลูกหญ้าแฝกแล้วดี  มีแต่ได้

 

พ่อสั่งไว้จงจำ   เป็นคำสอน

 

ปลูกหญ้าแฝกทั่วไป  ทั้งลุ่มดอน

 

ประชากรเป็นสุข ทั่วทุกคน

 

หญ้าแฝกช่วยรักษา สิ่งแวดล้อม

 

ช่วยถนอมพื้นดิน ทุกแห่งหน

 

ความสุขจะเกิด  แก่มวลชน

 

วอนทุกคนช่วยมา ปลูกหญ้าแฝก

 

ปลูกหญ้าแฝกแล้วดี มีประโยชน์

 

ไม่เกิดโทษแด่  พืชพรรณธัญญาหาร

 

ช่วยรักษาทั้งดินเลว และดินดาน

 

เป็นอาหารให้ดิน จุลินทรีย์

 

มีเชื้อราอาศัย รากหญ้าแฝก

 

เป็นหญ้าแปลกของเขต ประเทศสยาม

 

องค์ภูมิพลเลื่องลือ ระบือนาม

 

ผมเดินตามรอยพ่อ ต่อไปครับ

 



เข้าชม : 615


ความรอบรู้ 5 อันดับล่าสุด

      ทำนาขวางสนามกอล์ฟ 28 / ส.ค. / 2558
      ปราชญ์ชาวบ้านเดินตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 28 / ส.ค. / 2558
      ข้อมูลทั่วไป 28 / ส.ค. / 2558


 
ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเหนือคลอง
หมู่ 2 ตำบลเหนือคลอง  อำเภอเหนือคลอง  จังหวัดกระบี่ 81130 
โทรศัพท์ 075-636488 โทรสาร 075-692174

Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05