ธรรมชาติงามตระการ ตำนานเมืองเก่า ร่มเงาอารยธรรม งามล้ำองค์เจดีย์ เหลืองกระบี่คู่ควรเมือง

                                            
 

  

ศูนย์การเรียนชุมชน
หนึ่งตำบล หนึ่งคาราโอเกะ ผู้ช่วยคนใหม่กศน.ซำสูง ทางลัดสู่ \'นครแห่งการอ่าน\'

พุธ ที่ 17 เดือน สิงหาคม พ.ศ.2554


สุพล บุญชื่นชม
          "...คนที่ไม่ใช่แฟน ทำแทนทุกเรื่องไม่ได้เหนื่อยก็รู้ เหงาก็เข้าใจ แต่ไม่อาจให้ยืมอ้อมแขน
          "คนที่ไม่ใช่แฟน ทำแทนทุกเรื่องไม่ได้หน้าที่ตามฐานะใจ ห้ามเดินก้าวล้ำเส้นแฟน..."
          เสียงร้องเพลง "ไม่ใช่แฟนทำแทนไม่ได้"ที่ดังมาจากตึกชั้นเดียว ที่ทำการ อบต.กระนวน อำเภอซำสูง จังหวัดขอนแก่น อาจทำให้คนแปลกหน้าที่แวะเข้ามาที่บ้านกระนวนแห่งนี้พิศวงว่า ที่นี่มีงานอะไรกัน ทำไมมีผู้เฒ่าผู้แก่มารวมตัวกัน จับไมค์ร้องเพลงอย่างตั้งอกตั้งใจ
          ที่นี่ก็คือ "คลินิกฟื้นฟู กู้สภาพการรู้หนังสือ"จัดเป็นห้องเรียนชั่วคราว สอนการอ่านหนังสือตามหลักสูตรคาราโอเกะ ในโครงการส่งเสริมการอ่านของสำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย หรือ กศน. อำเภอซำสูงจังหวัดขอนแก่น เพื่อฟื้นความรู้หนังสือแก่ชาวบ้านในพื้นที่
          ไหนๆ อีก 2 ปีข้างหน้า กรุงเทพมหานครจะก้าวเข้าสู่การเป็น "มหานครแห่งการอ่านและการเรียนรู้"ซึ่ง กทม.ตั้งงบประมาณปี 2554-2556 จำนวน 280 ล้านบาท ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนมีนิสัยรักการอ่านตลอดจนเสริมสร้างวัฒนธรรมรักการอ่านให้เกิดขึ้นในสังคม
          ลองตามไปดูที่ขอนแก่น ที่มีกลวิธีง่ายๆ ที่จะกระตุ้นและจูงใจให้ชาวบ้านอยากรู้หนังสือ และหันกลับมาเดินเข้าห้องเรียนเพื่อฟื้นฟูการอ่านอย่างตั้งอกตั้งใจ โดยไม่ต้องสิ้นเปลืองงบฯมากมาย เพียงแต่มีผู้ช่วยครู...สัก 1 เครื่อง ต่อ 1 ตำบล
          งานนี้ต้องยกนิ้วให้กับ กศน.ซำสูง เจ้าของความคิดอันเยี่ยมยอดนี้ "คาราโอเกะสอนหนังสือ"
          เพราะการสอนหนังสือไม่จำเป็นต้องสอนเฉพาะเด็กในโรงเรียนตามระบบเท่านั้น แต่ในพื้นที่ห่างไกล แนวทางการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยของ กศน.เป็นอีกปัจจัยสำคัญ และเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะพัฒนาให้พลเมืองของประเทศสามารถอ่านออกเขียนได้ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศให้บรรลุเป้าหมายตามที่ต้องการ
          ที่ผ่านมาคนไทย โดยเฉพาะอาชีพเกษตรกรรม หลังจากจบการศึกษาจากภาคบังคับแล้วไม่ได้ใช้วิชาเขียนอ่าน เมื่อสูงวัยขึ้นมักจะทิ้งการอ่าน มุ่งเน้นการทำอาชีพเพียงอย่างเดียวส่งผลให้ความสามารถในด้านการอ่านออกเขียนได้หายไปสิ้น ดังนั้น กศน.ได้เข้าไปชักจูงให้คนเหล่านั้นหันมาใส่ใจกับการอ่าน อย่างน้อยๆเพื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น การอ่านเอกสารเกี่ยวกับการประกอบการอาชีพของตนเอง เพื่อนำไปพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น
          ชาตรี เสงี่ยมวงศ์ ผู้อำนวยการ กศน.ซำสูงเห็นความสำคัญของการอ่านเขียนว่า นอกจากจะเป็นเครื่องมือในการหาความรู้เพิ่มเติมแล้วยังลดความเสี่ยงต่อการจะถูกเหล่ามิจฉาชีพหลอก เช่น หลอกให้เซ็นเอกสารทั้งๆ ที่อ่านไม่ออก ขณะเดียวกันสร้างความภาคภูมิใจที่ได้เซ็นชื่อตัวเอง ไม่ต้องใช้การพิมพ์นิ้วมือเหมือนเก่า จึงหาวิธีให้ชาวบ้านในพื้นที่ที่รับผิดชอบหวนกลับมาสนใจการอ่านมากขึ้น ได้ทบทวนสิ่งที่เรียนมาหลายสิบปี ให้สามารถกลับมาอ่านออกเขียนได้อีกครั้ง โดยหยิบเอาสิ่งที่ชาวบ้านสนใจมาเป็นสื่อการเรียนรู้ นั่นคือ "คาราโอเกะ"ผู้อำนวยการ กศน.ซำสูงบอกว่า เริ่มใช้คาราโอเกะมาเป็นสื่อการเรียนการสอนในปีพ.ศ.2549 ขณะนั้นมีนักศึกษาที่เข้าเรียนกับเราจำนวนตำบลละประมาณ 60 คน ในอำเภอซำสูงมี 5 ตำบล จำนวนนักศึกษาทั้งหมดประมาณ300 คน แต่มี 10% ที่อ่านหนังสือไม่ได้เลย
          "ก่อนจะเริ่มมีหลักสูตรคาราโอเกะ นักศึกษาส่วนใหญ่ไม่ชอบที่จะส่งงานตามที่ครูสั่งแต่ครูสังเกตเห็นว่านักศึกษาเหล่านั้นชอบรวมกลุ่มกัน และชอบขั้นตอนการเตรียมการเรียนการสอนคือการรวมกลุ่มกันร้องเพลง ผมจึงคิดว่าน่าจะหาสื่อการเรียนการสอนที่นักศึกษาสนใจ คือนำเพลงมาเป็นสื่อการเรียนการสอนน่าจะได้ผล และได้ปรึกษากับครู กศน.ที่ทำงานด้วยกัน พร้อมทั้งนำเรื่องดังกล่าวเสนอผู้บังคับบัญชาในขณะนั้น ซึ่งได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี โครงการสื่อการเรียนด้วยคาราโอเกะจึงเริ่มขึ้น"
          สำหรับกระบวนการเรียนการสอนนั้นผอ.กศน.ซำสูงอธิบายเพิ่มเติมว่า เรานำเนื้อเพลงฮิตที่นักศึกษาชื่นชอบมาใช้เป็นสื่อ โดยขั้นแรกเราจะนำเนื้อเพลงมาทดสอบกันนักศึกษาว่าสามารถอ่านได้หรือไม่ หากนักศึกษาอ่านไม่ได้ เราจะคัดนักศึกษาเหล่านั้นเพื่อนำไปฝึกตามขั้น โดยเราเปิดเป็น "คลินิกฟื้นฟู กู้สภาพการรู้หนังสือ" ไว้บริการตำบลละ 1 จุด
          จากนั้นนำเนื้อเพลงไปทำแผ่นป้ายให้นักศึกษาฝึกสะกดทีละคำโดยมีครูคอยชี้แนะ และส่งลูกคำอื่นๆ ที่สะกดเหมือนกัน เช่น เพลงไม่ใช่แฟนทำแทนไม่ได้ ตัวอย่างคำว่า แฟนจะสะกดว่า แ-ฟ-น เมื่อสะกดตัวนี้ได้จะส่งลูกคำต่อไป เป็น แมน, แตน บ้าง เป็นต้น เมื่อฝึกสะกดแล้วค่อยๆ ให้อ่านเป็นคำและเป็นประโยคต่อไป จากนั้นจึงให้นักศึกษาอ่านเนื้อเพลงในจอคาราโอเกะที่เป็นภาพนิ่งก่อน จนกว่าจะออกเสียงได้ถูกต้องแล้วค่อยให้ร้องประกอบเนื้อเพลง ซึ่งทำอย่างนี้ซ้ำๆ หลายครั้ง ก็ไม่ทำให้นักศึกษาเบื่อ การเรียนก็ง่ายขึ้น
          "จากลำดับขั้นตอนทั้งหมด เราใช้เวลาสอนคอร์สละ 3-6 ชั่วโมง (เรียนคอร์สละเพลง) เวลาเรียนทั้งหมดจำนวน 30 ชั่วโมง หรือประมาณ 5 เพลง ซึ่งเท่ากับ 1 ภาคเรียนพอดี นักศึกษาจะสามารถอ่านได้และออกเสียงถูกต้อง
          "จัดการเรียนการสอนแบบนี้มาปีนี้เป็นปีที่ 5 ชาวบ้านสามารถอ่านหนังสือได้มากขึ้นถึง 90%ของจำนวนประชากรทั้งหมด ปัจจุบันมีนักศึกษาจำนวนประมาณ 500 คน จบคอร์สแล้ว นักศึกษาเหล่านั้นจะกลายเป็นอาสาสมัครส่งเสริมการอ่านของเราต่อไป"
          ผอ.ชาตรีกล่าวต่อว่า เมื่อนักศึกษาที่จบหลักสูตรคาราโอเกะแล้ว เราขยายผลต่อยอดโดยให้นักศึกษาเหล่านี้จะเป็นอาสาสมัครส่งเสริมรักการอ่าน ซึ่งสมาชิกเหล่านี้จะเปิดบ้านตัวเองเป็นจุดส่งเสริมการอ่านของชุมชนสำหรับหมู่บ้าน ซึ่งในอำเภอซำสูงจะมีจุดบริการส่งเสริมการอ่านหมู่บ้านละ 1 จุด ทุกหมู่บ้าน รวมทั้งหมด 35 หมู่บ้าน 35 จุด จากความสำเร็จดังกล่าวเราจึงเป็นต้นแบบในการส่งเสริมการอ่านของจังหวัดขอนแก่น ซึ่งทาง กศน.จังหวัดขอนแก่น ได้จัดให้ปี 2554 ขอนแก่นเป็นนครแห่งการอ่าน
          จากการทำงานที่สามารถนำไปปฏิบัติและปรับใช้ในชีวิตประจำวันของชาวบ้านดังกล่าวส่งผลให้ กศน.ซำสูง ได้รับรางวัลสื่อนวัตกรรมดีเด่นระดับประเทศในวันที่ 4 มีนาคม 2553 ต่อมาในเดือนกันยายน 2553 นายชาตรีเสงี่ยมวงศ์ได้รับรางวัลผู้ทำคุณประโยชน์ทางการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.)
          และล่าสุดในวันที่ 2 เมษายน 2554 นักศึกษาที่จบคอร์สคาราโอเกะ แล้วเปิดบ้านตัวเองให้เป็นจุดบริการการอ่านสำหรับชุมชนคือนางฮวง แสนเมืองหมู่ 1 บ้านกระนวน ตำบลกระนวน อำเภอซำสูง จังหวัดขอนแก่น ได้รับรางวัลอาสาสมัครส่งเสริมการอ่านดีเด่นระดับประเทศ จำนวน 3 รางวัลระดับชาติเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เป็นสิ่งยืนยันในการทุ่มเทให้กับการทำงานของครู กศน.ซำสูงทุกท่าน
          แต่เหนือสิ่งเหล่านั้นคือ การสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพให้กับประเทศ สิ่งนี้ต่างหากคือรางวัลที่จะส่งมอบให้กับประเทศ เพื่อให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันพุธที่ 17 สิงหาคม 2554
กฤษฎา บิลเกษม ปชส.กศน.ตรัง รายงาน



เข้าชม : 1122


ศูนย์การเรียนชุมชน 5 อันดับล่าสุด

      หนึ่งตำบล หนึ่งคาราโอเกะ ผู้ช่วยคนใหม่กศน.ซำสูง ทางลัดสู่ \'นครแห่งการอ่าน\' 17 / ส.ค. / 2554


 
ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเหนือคลอง
หมู่ 2 ตำบลเหนือคลอง  อำเภอเหนือคลอง  จังหวัดกระบี่ 81130 
โทรศัพท์ 075-636488 โทรสาร 075-692174

Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05